“ไร้สาระ” ในเรื่อง “ดูมีสาระ”​​​

“ไร้สาระ” ในเรื่อง “ดูมีสาระ”​​​

“ประเทศไทยมีอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดในโลก” “ไทยมีหญิงบริการหนึ่งล้านคน” “เด็กไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด”

“คนจบอุดมศึกษาว่างงานเกินกว่าครึ่งหนึ่ง” ป้ายสินค้าระบุ “ไม่มีน้ำตาล” “ไม่มีไขมัน” ฯลฯ

ข้อความเหล่านี้เราได้ยินกันอยู่เนืองๆ คนไทยจำนวนมากเชื่อโดยไม่มีข้อสงสัยไม่มีคำถาม ไม่ประเมินความเป็นไปได้ไม่ค้นหาความจริง ฯลฯ  

เรามิได้ผิดปกติหรอกเพราะคนจำนวนมากในโลกก็มีสมองที่ขี้เกียจและไม่ถูกฝึกมาให้คิดวิเคราะห์เช่นกัน

จะเป็นไปได้อย่างไรที่เด็กไทยอ่านหนังสือกันปีละ 8 บรรทัด แค่อ่านป้าย สายรถเมล์ อ่านป้ายร้านค้า อ่านตัวหนังสือในเกมที่เล่นออนไลน์ อ่านชื่อถุงอาหาร จังค์ฟู้ด ฯลฯ ก็เกินหลายเท่าตัวแล้ว

ประเด็นอย่างนี้ถ้าคิดสักนิดประเมินความเป็นจริง สักหน่อย และก็ไม่ต้องเอาไปอ้างต่อๆ ก็เป็นบุญของประเทศแล้ว

ตัวเลขอุบัติเหตุทางถนนของ WHO ระบุจำนวนคนตายจากอุบัติเหตุทางถนนในปี 2013 (ปีล่าสุด)ว่า จีน 261,367 คน อินเดีย 238,562 อินโดนีเซีย 38,279 และไทย 24,237

เมื่อดูจำนวนคนตายจากอุบัติเหตุทางถนนต่อประชากร 100,000 คน พบว่า ไทย 36.2 คน ลิเบีย 73.4 อิหร่าน 32.1 จีน 18.8 ไลบีเรีย 33.7 มาเลเซีย 24 ฟิลิปปินส์ 10.5 เวียดนาม 24.5 กลุ่มประเทศแอฟริกาอยู่ระหว่าง 20-30 ขึ้นไป ฯลฯ

หากพิจารณาจำนวนคนตายจากอุบัติเหตุทางถนนต่อจำนวนรถยนต์ 100,000 คัน ก็พบว่า อัฟกานิสถาน 722.4 แองโกลา 992 บังกลาเทศ 1,020.6 เบนิน 8,177.2 มาดากัสการ์ 2,963 ไทย 74.6 ยูกันดา 836.8 แซมเบีย 670.9 โตโก 3,653.4 โซมาเลีย 4,480.5 ฟิลิปปินส์ 135 เมียนมา 250.8 ฯลฯ

ถึงแม้ WHO พยายามจะให้ภาพของสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นบนถนน แต่ก็ไม่มีความหมายมากนัก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคนตาย(ประชากรยิ่งมากก็ยิ่งมีโอกาสตายมาก) ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคนตายต่อประชากรหรือต่อจำนวนรถยนต์

แม่ฮ่องสอนมีประชากรต่ำมีจำนวนรถยนต์ไม่สูง มีถนนผ่านจังหวัดไม่ยาว จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่มีจำนวนคนตาย น้อยกว่านครราชสีมาที่มีสูงกว่าทุกอย่าง

การเอาตัวเลขจำนวนคนตายจากอุบัติเหตุมาเปรียบเทียบกันจึงเป็นเรื่องไร้สาระอย่างดี ถึงเอามาเทียบต่อจำนวนประชากรและจำนวนรถยนต์ก็ไม่ได้ให้ภาพชัดเจนเห็นได้ว่า สถิติตัวเลขคนตายต่อประชากรและรถยนต์ไม่ไปในทิศทางเดียวกันอย่างเด่นชัด

ถ้าจะให้แม่นยำที่สุดว่าประเทศใดมีอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่น่ากลัวกว่ากัน ก็ต้องดูที่ตัวเลขจำนวนคนตายจากอุบัติเหตุทางถนนต่อหนึ่งกิโลเมตรของการเดินทาง

ตัวเลขนี้จะบอกได้ชัดเพราะสะท้อนระยะทางที่เดินทางทั้งหมดว่า มีอัตราอุบัติเหตุถึงแก่ความตายมากน้อยเพียงใด

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในตารางนี้ของ WHO มีตัวเลขอยู่น้อยมากๆ เฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศเท่านั้น ที่เก็บสถิติที่เชื่อถือได้ เมื่อเป็นดังนี้ก็อย่าเอาไปอ้างต่อๆ กันเลยว่า ประเทศไทยนี้น่ากลัวที่สุดในโลกในด้านอุบัติเหตุทางถนน

ผู้เขียนมิได้บอกว่าบ้านเราปลอดภัยบนถนน แต่กำลังบอกว่าเราต้องเอาความจริงมาพูดกัน  

การอ้างสถิติว่าเรามีอุบัติเหตุสูงที่สุดในโลก(ไม่จริงทั้งจำนวนรวมต่อจำนวนประชากร หรือต่อจำนวนรถยนต์) เพื่อออกกฎเกณฑ์บังคับประชาชน เพื่อให้ถนนเราปลอดภัยขึ้นนั้น เป็นอย่างที่ฝรั่งว่า คือ wrong for the right reason กล่าวคือ ผิดในความเป็นจริง แต่นำไปใช้อ้างในเรื่องที่ถูก

ผู้เขียน เขียนเรื่องนี้ก็เพื่อให้เราเข้าใจความจริงของธรรมชาติตัวเลข เพื่อไม่ให้ถูกนำเอาไปใช้ในทางนโยบายที่ผิดพลาด โดยเฉพาะในการใช้งบประมาณ เพราะทุกบาทของการใช้งบประมาณมีทางเลือกอื่นของการใช้เงินเสมอ

ในเรื่องไทยมีหญิงบริการหนึ่งล้านคนนั้น เป็นเรื่องขบขันที่เป็นไปไม่ได้ หากเหลือบดูตัวเลขสักนิด

เรามีหญิงที่พอมีคนเรียกใช้บริการได้(ระหว่างอายุ 15 ปีถึง 35 ปี) ประมาณ 6 ล้านคน ถ้าบ้านเรามีหญิงบริการ 1 ล้านคนจริง ก็หมายความว่าหากหญิงไทยในวัยนี้เดินมา 6 คน จะเป็นหญิงบริการ 1 คน ท่านผู้อ่านตรองดูก็แล้วกันว่ามันเป็นตัวเลขที่เป็นไปได้หรือไม่

เรื่องจบอุดมศึกษาแล้วว่างงานเกินกว่าครึ่งหนึ่งก็น่าพิจารณาเหมือนกัน

ปีหนึ่งมีคนจบอุดมศึกษาประมาณ 300,000 คน ตัวเลขที่อ้างกันก็คือ ว่างงานเกินกว่าครึ่งหนึ่ง คือไม่ต่ำกว่า 150,000 คน และพูดกันมา 2-3 ปีแล้ว  

ถ้าตัวเลขนี้จริงคนจบปริญญาตรีคงจะว่างงานกันเกือบ 500,000 คน (ตัวเลขว่างงานทั้งประเทศตอนต้นปี 2017 คือ 4.5 แสนคน) กล่าวคือ มีแต่คนว่างงานที่จบปริญญาตรีเท่านั้น หากเป็นเช่นนี้จริงป่านนี้คงมาประท้วงกันเต็มถนนแล้ว

ที่น่าสงสัยก็คือคำจำกัดความว่า “ว่างงาน” ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่มีคนเอาตัวเลขมาอ้างกัน

ปัจจุบันรูปแบบการทำงานมันแตกต่างไป คนอยู่บ้านไม่ออกไปหางาน แต่ทำงานออนไลน์ถือว่ามีงานทำหรือไม่ นอกจากนี้การทำงานฟรีแลนซ์ด้านไอทีขายของออนไลน์ ฯลฯ ถือว่าว่างงานหรือไม่

ผู้เขียนเดาว่ามีบัณฑิตจำนวนมากที่มีงานทำ เพียงแต่ได้เงินเดือนประจำต่ำกว่าผู้ที่จบปริญญาตรีอีกส่วนหนึ่งที่ทำงานราชการหรือเอกชน (“ทำงานต่ำกว่าระดับ”)

งานอื่นที่ทำกันได้แก่งานอิสระ เช่น ขายของ รับจ้างทำของ เป็นไกด์อิสระ ฯลฯ และอาจทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน

อย่าเชื่อตัวเลขว่างงานมากนัก เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปไกลจนมีลักษณะงานที่ไม่ตรงกับคำจำกัดความว่า “ว่างงาน” ดั้งเดิม

มีตัวเลขอีกประเภทหนึ่งที่พึงระวังบนป้ายสินค้า เช่นบอกว่า “ไม่มีน้ำตาล” “ไม่มีไขมัน”

แต่เท็จจริงแล้ว มีทั้งน้ำตาลและไขมัน เพียงแต่ทางการผู้อนุญาตให้เขียนป้ายเช่นนี้ในระดับสากล และไทยได้เป็นคนตระกูลศรีธนญชัย กล่าวคือ เขามีคำจำกัดความตามกฎหมายว่าคำว่า “ไม่มี” คือ “มีเพียงแต่ต่ำกว่า 5% หรือ 10% หรืออื่นๆ“

ป้ายระบุข้อเท็จจริง(facts)ตาม คำจำกัดความแต่ไม่ได้บอกความจริง(truth) เท่านั้นเอง เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่จะต้องขวนขวยหาความรู้เอาเองเพราะท่านเป็นคนบริโภคเราเป็นผู้ขาย(ท่านตายเราไม่ตายด้วย)

อย่าไว้ใจตัวเลขหรือสถิติโดยไม่ไตร่ตรองเพราะมีทั้งผู้ตั้งใจและไม่ตั้งใจหลอกเรา เราจะได้ความจริงก็ต่อเมื่อได้บีบคั้นสมองเราให้ออกแรงเท่านั้น