Ecosystems กลยุทธ์การสร้างระบบนิเวศ

Ecosystems กลยุทธ์การสร้างระบบนิเวศ

ในระยะหลัง มีผู้บริหารถามผมเกี่ยวกับกลยุทธ์ชนิดหนึ่งนั้นคือการสร้าง ecosystems กันมากขึ้น อีกทั้งเราเริ่มเห็นองค์กรทั้งในและนอกประเทศ

ที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีที่เริ่มสร้าง ecosystems กันมากขึ้น

ดังนั้นสัปดาห์นี้เรามาดูกันนะครับว่าจริงๆ แล้ว ecosystems กับกลยุทธ์ทางธุรกิจนั้นเกี่ยวข้องอย่างไร

โดยทั่วไปแล้วเมื่อนึกถึงคำว่า ecosystems หรือระบบนิเวศ เราจะนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในธรรมชาติ จนกระทั่ง James Moore ได้นำคำและหลักการของ ecosystems มาใช้ในทางธุรกิจโดยผ่านบทความใน Harvard Business Review ในปี 1993

ในตอนนั้น Moore ให้ความเห็นไว้ว่าธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่สามารถที่จะเติบโตหรือพัฒนาได้ด้วยตนเอง องค์กรธุรกิจจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทางธุรกิจหรือ business ecosystem ที่จะต้องทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ในการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ

หลังจากจุดเริ่มต้นในปี 1993 แนวคิดเรื่อง ecosystems ก็มีการพัฒนาและปรับตัวเรื่อยมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยี บางแห่งก็มอง ecosystems เป็นระบบเปิดที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับองค์กรอื่นๆ

อย่างในกรณีของ Google ที่พยายามสร้าง ecosystems ที่เป็นระบบเปิด ที่เกี่ยวข้องกับทั้งบริษัทฮาร์ดแวร์ ผู้ผลิตซอฟแวร์ นักพัฒนาแอพ บริษัทผลิตมือถือ ฯลฯ แล้วบรรดาผู้เกี่ยวข้องใน ecosystems ของ Google ต่างก็พยายามสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ภายใต้โครงสร้างและระบบที่ Google จัดไว้ให้

ขณะเดียวกันก็มีอีกหนึ่งโมเดลของ ecosystems ที่พยายามสร้างระบบนิเวศภายใต้ผลิตภัณฑ์และบริการเฉพาะของบริษัท เหมือนกับกรณีของ Apple ที่ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เชื่อมโยงกัน ทำให้ผู้ใช้เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์หนึ่ง ก็อยากจะใช้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในตระกูล Apple เพราะคุณภาพและความเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ

แนวทางของ Apple นั้นคือพยายามสร้าง ecosystems ที่เป็นระบบปิดที่เมื่อผู้บริโภคตกเข้าไปแล้ว มีสิทธิ์ที่จะถลำลึกลงไปเรื่อยๆ

ในประเทศไทยเองเมื่อนึกถึงผู้ให้บริการด้านสื่อสารโทรคมนาคมอย่าง AIS, DTAC, หรือ True เราก็สามารถที่จะมองเห็นความพยายามที่จะสร้าง ecosystems ของตนเองด้วยรูปแบบและวิธีการที่อาจจะแตกต่างกันไป

ปัจจุบันจะเริ่มเห็นองค์กรที่ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีพยายามสร้าง ecosystems ของตนเองขึ้นมาเช่นเดียวกัน

กับดักที่สำคัญประการหนึ่งในมุมมองของลูกค้าหรือผู้บริโภคก็คือ การที่จะเป็น ecosystems ได้นั้นจะต้องก่อให้เกิดคุณค่าหรือ value ที่ผู้บริโภครับรู้ได้

กรณีของ Apple นั้นคุณค่าที่ผู้ใช้จำนวนมากยอมรับ จนตกเข้าไปอยู่ในระบบนิเวศของ Apple คือความง่ายในการใช้งานและเชื่อมต่อระหว่างแต่ละผลิตภัณฑ์และบริการของ Apple

เคยมีผู้สอบถามผมว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยบางบริษัทนั้นมี ecosystems หรือไม่

ตัวอย่างเช่นยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรอุตสาหกรรมของไทยบางบริษัท ซึ่งถ้ามองในมุมมองด้านการผลิต และ การพัฒนาผลิตภัณฑฑ์นั้นก็ถือว่ามีการพัฒนาระบบนิเวศของตนเองขึ้นมาอย่างชัดเจน

แต่ถ้ามองในมุมมองของผู้บริโภค อาจจะยังไม่ชัดเจนถึงคุณค่าที่ผู้บริโภคจะได้รับ เช่น การซื้อไก่ของบริษัทหนึ่ง และการซื้อไข่ของบริษัทเดียวกัน จะก่อให้เกิดคุณค่าหรือความแตกต่างอย่างไร เมื่อเทียบกับการซื้อไก่ของบริษัท และซื้อไข่ของคู่แข่งขันอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยหลายๆ แห่งพยายามสร้าง ecosystems ของตนเองขึ้นมา โดยเชื่อมโยงผ่านทางระบบบัตรสมาชิก

ยิ่งองค์กรที่มีธุรกิจหลายประเภท การทำระบบบัตรสมาชิก หรือบัตรสะสมแต้มหรือบัตรส่วนลด ฯลฯ ที่สามารถใช้ได้ในทุกๆ ธุรกิจของตนเองกำลังเป็นที่นิยม ซึ่งนอกเหนือจากจะเป็นการทำให้ลูกค้าอยู่ในระบบนิเวศของตนเองเพื่อสะสมแต้มแล้ว องค์กรธุรกิจยังได้ข้อมูลสำคัญคือพฤติกรรมการซื้อสินค้าหรือบริการของลูกค้าอีกด้วย

ลองพิจารณาดูเรื่อง ecosystems เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกลยุทธ์ขององค์กรดูนะครับ แต่สำคัญคือภายใต้ ecosystems จะต้องก่อให้เกิดคุณค่าขึ้นมาให้ได้