การปฏิวัติสุขภาพสังคม A Social Care Revolution

การปฏิวัติสุขภาพสังคม A Social Care Revolution

Buurtzorg เป็นคำในภาษาดัตช์ หรือฮอลแลนด์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีความหมายว่า การดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกันของเพื่อนบ้าน หรือ Neighborhood Care

หลักการก็คือ ป้องกันก่อนรักษา หรือ Proactive Approach to Healthcare โดยการดูแลเอาใจใส่ของคนในสังคมชุมชนและคนบ้านใกล้เรือนเคียงด้วยกันเอง

กิจกรรมนี้เกิดที่เนเธอร์แลนด์ และกำลังก้าวขยายไปหลายประเทศที่มีปัญหาการเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัย ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเหล่านี้

วิธีการดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยในระบบ Buurtzorg เป็นการดำเนินการโดยกลุ่มหรือทีมพยาบาล 4-5 คนต่อหนึ่งทีม ออกไปพบปะผู้คนในสังคมชุมชน สนับสนุนส่งเสริมให้มีกิจกรรมต่างๆที่ไม่ใช่แค่การออกกำลังกายอย่างเดียว

ทีมพยาบาลจะหากิจกรรมที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยไม่มีข้อกำหนดตายตัว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนในสังคมชุมชน ทีมพยาบาลทำหน้าที่เป็นโค้ชด้านสุขภาพ (Health Coach) เท่านั้น

ผลของโครงการนี้ทำให้เกิดทีมพยาบาลเกิดขึ้นกว่า 600 ทีมทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์ และแม้ว่าเงินเดือนค่าจ้างของทีมพยาบาลจะสูงมาก แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่ลดลงอย่างมากก็คุ้มค่า และทำให้ลดค่าใช้จ่ายในระบบประกันสุขภาพของประเทศอย่างมาก

หันมาดูประเทศไทย ทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังมีโครงการคลีนิกหมอครอบครัว ซึ่งเป็นการจัดทีมแพทย์พยาบาล และบุคคลากรทางการแพทย์ออกไปพบประชาชนในพื้นที่ โดยไม่ต้องรอให้เกิดการเจ็บป่วย ถึงขนาดต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ถือเป็นแนวคิดเดียวกันในเชิงป้องกัน เป็น Proactive Approach ในรูปแบบหนึ่ง

แต่ที่ต่างกันก็คือ แนวทางของบ้านเราจะเป็นแนวทางของการเข้าไปดูแลรักษาสุขภาพของทีมแพทย์พยาบาล โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้รับการรักษาดูแลตัวเองโดยไม่มาโรงพยาบาลทุกครั้งที่มีการเจ็บป่วย ที่เป็นการลดความคับคั่งของโรงพยาบาล แต่ไม่ใช่การสร้างกิจกรรมโดยประชาชนเพื่อดูแลสุขภาพของตัวเอง

จริงๆแล้ว บ้านเราอาจทำได้ดีไม่แพ้กันในเรื่องการป้องกันก่อนการแก้ไข โดยอาศัยบุคคลากรของโรงพยาบาลชุมชน หรือ รพสต. ที่มีอยู่แล้ว ทำหน้าที่โค้ชในการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนในสังคมชุมชนได้เลย เพราะเรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่การรักษาการเจ็บป่วยที่จะต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์

บุคคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลชุมชน และ รพสต.ซึ่งในความหมายก็ตรงๆ อยู่แล้วว่าเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สามารถทำหน้าที่โค้ชในการทำกิจกรรมที่ประชาชนในชุมชนจัดทำขึ้นเพื่อให้มีสุขภาพกายสุขภาพจิตดี

กิจกรรมที่เกิดจากชุมชนเอง น่าจะดีกว่าการมอบให้โดยทีมงานโรงพยาบาลที่อาจไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนในแต่ละสังคมชุมชนที่แตกต่างกัน

กิจกรรมที่เกิดขึ้นอาจไม่จำกัดแค่สังคมชุมชนนั้น แต่อาจเป็นกิจกรรมร่วมระหว่างชุมชนใกล้เคียงที่ทำร่วมกัน ลักษณะเช่นนี้จะเป็นการดูแลเอาใจใส่ข้ามชุมชน (Neighborhood Care)

ไปในตัว เกิดการขยายตัวของสังคมดูแลซึ่งกันและกัน

สังคมในเมืองอาจทำได้ยากเพราะสภาพการแข่งขันทำงานหาเลี้ยงชีพทำให้ไม่มีเวลาดูแลคนอื่นในสังคมรอบข้าง แต่ในต่างจังหวัดน่าจะมีความเป็นไปได้สูง

ยิ่งถ้ามีกิจกรรมอื่นประกอบการส่งเสริมสุขภาพ เช่นส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานบ้านในการเดินทางไปมาหาสู่เพื่อร่วมกิจกรรมกันได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ก็น่าจะเป็นการเสริมกันไปในตัว

Buurtzorg ที่เนเธอร์แลนด์อาจถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบตะวันตกที่เปลี่ยนจากการดูแลโดยการรักษาพยาบาลและผ่านบุคคลากรทางการแพทย์ในระบบการแพทย์สมัยใหม่ แต่สำหรับประเทศไทยเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ต้องปฏิวัติอะไรเพราะมีอยู่แล้วในวิถีชีวิตของประชาชน เพียงแต่จะหยิบขึ้นมาปัดฝุ่น

ที่สำคัญก็คือ โลกแห่งเทคโนโลยีได้ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ถ้าเราใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านี้ช่วยงานดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ก็จะทำให้ประสิทธิภาพของกิจกรรมทำได้ดีขึ้นกว่าที่เคยทำในอดีต