ทักษะที่กำลังหมดค่า

ทักษะที่กำลังหมดค่า

ทักษะที่กำลังหมดค่า

ผมเพิ่งกลับจากการพักผ่อนในช่วงวันปีใหม่ที่เชียงใหม่หลังจากที่ไม่ได้ไปเที่ยวเชียงใหม่มานานหลายปีทั้ง ๆ  ที่เดินทางไปบรรยายอยู่บ่อย ๆ   เชียงใหม่นั้นผมคิดว่ามีศักยภาพในการที่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทยอยู่มาก  เหตุผลก็เพราะว่าเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่  มีสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ  เป็นเมืองที่มีธรรมชาติที่เป็นภูเขาบางส่วนและมีผู้คนที่เป็นมิตร  ผมเดินทางเองและเช่ารถพร้อมคนขับเพื่อนำไปสู่สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ  ตามที่ผมต้องการ   และก็เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวทุกครั้ง  ผมสังเกตและคิดถึงกิจกรรมต่าง ๆ  ของผู้คนทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ให้บริการ  ดูว่าพวกเขาทำอะไรและอย่างไร  สิ่งที่เขาทำนั้นมีค่าหรือมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหนและในอนาคตจะเป็นอย่างไร  รุ่งเรืองขึ้นหรือตกต่ำลง

การท่องเที่ยวที่เชียงใหม่นั้น  ในอดีตผมรู้สึกว่าคนกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งยวดก็คือคนที่ขับรถพาเราไปสถานที่ต่าง ๆ   เพราะเขาคือคนที่รู้ว่าจะไปทางไหนรวมถึงสามารถบอกได้ว่าสถานที่นั้นน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน  นี่คือสองสิ่งที่เราที่เป็นคนต่างถิ่นไม่รู้และไม่สามารถทำได้  หรือถ้าไปถูกที่ก็อาจจะต้องหลงทางเสียเวลามากเพราะไปในเส้นทางที่รถติดหรือเป็นทางอ้อมหรือกำลังอยู่ในช่วงซ่อมแซมอะไรต่าง ๆ  ทำนองนี้   อย่างไรก็ตาม  นั่นคือ  “อดีต”   การเดินทางตลอดทริปนี้ของผมนั้น  มีสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงก็คือ  การปรากฏตัวของ “กูเกิลแม็พ”  และแอ็บนำทางของมันที่ผมก็เพิ่งเริ่มใช้และก็เริ่มรู้สึกถึงคุณค่าของมันมหาศาล  เหตุผลเนื่องจากมันสามารถช่วยลดเวลาในการเดินทางของผมลง  เดี๋ยวนี้แม้แต่จะเดินทางไปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ผมรู้ทางดีมาก  ผมก็ยังเปิดกูเกิลแม็พดูก่อนออกเดินทาง  เหตุผลก็คือ  บางครั้งมันบอกให้ผมเปลี่ยนเส้นทางที่คุ้นเคยเพราะในขณะนั้นรถกำลังติด  เส้นทางที่มันบอกอาจจะอ้อมไปไกลกว่าแต่ถนนว่างและใช้เวลาน้อยกว่า  ผมพบว่ากูเกิลมักจะแนะนำเส้นทางได้ถูกต้องกว่าที่เราคิด  เหตุผลก็คือกูเกิลมีข้อมูลจราจร “ปัจจุบัน” ในขณะนั้น  และมีความสามารถในการคาดการณ์เวลาได้เหนือกว่าทักษะของเรามาก

“น่าจะเลี้ยวขวานะครับ  เส้นทางนี้จะใช้เวลาแค่ 25 นาทีก็ถึงโรงแรม”  ผมเกริ่นแนะนำคนขับรถหลังจากเปิดดูกูเกิลแม็พนำทาง  แต่เขาตอบว่า  “ต้องไปทางซ้ายครับ  ไปทางขวารถติดมาก  มันเป็นทางผ่านถนนคนเดิน  วันนี้รถจะติดหนัก”   หลังจากรถถูกเลี้ยวไปทางซ้าย  กูเกิลแม็พก็เปลี่ยนเส้นทางให้ใหม่และบอกว่าจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นเป็น 35 นาที เนื่องจากรถติดและเส้นทางยาวขึ้น   เขาขับรถตามเส้นทางที่เขาเลือกและคราวนี้ตรงกับเส้นทางของกูเกิลแม็พ  ระยะเวลาที่ใช้จริง ๆ  เมื่อถึงโรงแรมก็คือ  36 นาที  ต่างจากการคาดการณ์ของกูเกิลแม็พเพียง 1 นาที  ในขณะที่เขาคาดการณ์ว่าคงถึงโรงแรม  “ประมาณ 45 นาที”

คนขับรถของผมที่ “เชี่ยวชาญเชียงใหม่” มากขนาด  “หลับตาก็ไปถูก”  เพราะอาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่และทำงานขับรถพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวทั่วเชียงใหม่มากว่า 20 ปี  และมีประสบการณ์ที่จะบอกได้ว่าเส้นทางไหนโดยเฉพาะในเมืองรถจะติดและติดช่วงเวลาไหนนั้น  ถูกผม “ทดสอบความสามารถ” แทบจะตลอดทริป  นั่นคือ  ผมลองเปิดกูเกิลแม็พเปรียบเทียบกับเส้นทางที่เขาไป  บ่อยครั้งผมพบว่าเขาไม่ได้ไปตามเส้นทางที่เสนอโดยกูเกิลและก็พบว่ามันใช้เวลามากกว่าตลอด  แต่ในเส้นทางที่เขาขับตรงกับที่เสนอโดยกูเกิลแม็พ  เวลาที่ใช้ก็จะตรงกับที่กูเกิลแม็พบอก  ความแตกต่างมักจะไม่เกิน 5 นาที  ผมสรุปโดยแทบจะไม่มีข้อสงสัยว่า  กูเกิลแม็พมีความสามารถในการนำทางเหนือกว่าทักษะของ “ผู้เชี่ยวชาญ”  การขับรถในเมืองเชียงใหม่ที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี  และผมก็คิดว่ามันเก่งกว่านักขับรถทุกคนในโลกนี้ด้วยซ้ำ  ไม่ว่าจะเป็นคนขับแท็กซี่ลอนดอนที่เคยมีชื่อว่ารู้จักเมืองลอนดอนทุกตารางนิ้วหรือคนขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพที่รู้ “เส้นทางลัด” ทุกแห่งที่จะพาเราไปจุดหมายเร็วที่สุด

ผมคิดว่าเทคโนโลยีดิจิตอลของโลกนั้นก้าวหน้าไปเร็วและสูงมากซึ่งทำให้ AI นั้นฉลาดกว่าคนไปแล้วในเรื่องต่าง ๆ  ที่เป็นกิจกรรมเฉพาะอย่างที่มีแบบแผนแน่นอน  แม้แต่เกมโกะที่มีความซับซ้อนมโหฬาร AI ก็เอาชนะแชมป์โลกไปแล้วนับประสาอะไรกับแค่เรื่องการแข่งหาเส้นทางถนนที่จะไปเร็วที่สุดสู่จุดหมาย   แต่คนจำนวนมากก็ไม่ได้ตระหนัก  แม้แต่คนที่มีอาชีพขับรถเองนั้น  ผมคิดว่าส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ตระหนักว่าความรู้ความเข้าใจถนนและสภาพการจราจรที่เขามีอยู่นั้น  บัดนี้ไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว  กูเกิลสามารถจัดให้โดยที่แทบจะไม่ต้องเสียเงินเลย   คนขับรถมืออาชีพส่วนใหญ่ในประเทศไทยเองผมคิดว่ายังไม่ได้ใช้กูเกิลแม็พด้วยซ้ำ  เขาอาจจะคิดว่าไม่จำเป็น  บางคนก็คิดว่ากูเกิลไม่ได้รู้ดีไปกว่าเขา  เขารู้ว่า  “ถนนเส้นนี้ติดเวลานี้ทุกวันเพราะ…”  ในขณะที่กูเกิลแม็พนั้นอาจจะรู้ว่า  “ถนนเส้นนี้เวลานี้บังเอิญไม่ติด” ดังนั้นถ้าคุณไป  คุณจะเซฟเวลาไปหลายนาที

นอกจากเรื่องการเดินทางแล้ว  สิ่งที่ผมพบอีกอย่างหนึ่งก็คือ  คนขับรถนำเที่ยวที่เราคิดว่าต้องรู้เรื่องว่าสถานที่นั้นมีอะไรน่าสนใจ  มีสินค้าเช่นเครื่องเซอรามิกขายไหม   มันเปิดหรือเปล่าในวันนั้น  อะไรต่าง ๆ  เหล่านี้ก็ดูเหมือนว่าคนขับรถตอบไม่ค่อยได้หรือไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่ากับอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะที่ถูกค้นคว้าผ่านกูเกิล    ความน่าสนใจของสถานที่นั้นก็ไม่ได้สะท้อนผ่านความเห็นของคนขับรถที่อาจจะมีรสนิยมแตกต่างจากเรา  แต่ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์หรือรีวิวโดยผู้คนจำนวนมากผ่านอินเตอร์เน็ตที่เราสามารถดูได้ทันที  ดังนั้น  เวลาผมคิดจะไปเที่ยวที่ไหนในเชียงใหม่  ผมก็แทบจะไม่ต้องถามใครและถ้าถามก็อาจจะผิดทำให้เราพลาดไม่ได้ไปหรือไปแล้วก็ผิดหวังเพราะมันไม่น่าสนใจ  ผมถามแต่กูเกิล  สรุปแล้ว  ความรู้หรือทักษะเกี่ยวกับความน่าสนใจของสถานที่ท่องเที่ยวของคนขับรถนำเที่ยวเองก็แทบจะหมดค่าไปแล้วในยุคนี้

คิดไปแล้ว  ผมคิดว่าคุณค่าของคนขับรถในเวลานี้ก็คือ  “การขับรถ”  เท่านั้น  จริงอยู่  เขาก็คงจะมีงานทำไปเรื่อย ๆ  เนื่องจากการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตต่อไปของเมืองเชียงใหม่หรือเมืองอื่น ๆ  และนักท่องเที่ยวจำนวนมากก็ยังเป็น “คนรุ่นก่อน”  ที่ยังไม่ได้ใช้กูเกิลแม็พเหมือนกัน  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ถ้าคุณขับเองจะหาที่จอดรถที่ไหนที่สะดวกเวลาไปสถานที่ท่องเที่ยวและเรื่องอื่น ๆ  อีกหลายเรื่อง  ถ้าเป็นประเทศเจริญแล้วที่ค่าแรงแพงมากและสถานที่สะดวกสบายและมีสาธารณูปโภคดีรองรับนักท่องเที่ยว  คนก็จะสามารถขับรถท่องเที่ยวได้เอง  อาชีพคนขับรถก็จะหมดไป   หรือไม่อย่างนั้นก็คือ  การปรากฏตัวขึ้นมาของรถที่ขับเคลื่อนเองอย่างสมบูรณ์ที่คาดว่าจะมาในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น  อาชีพขับรถก็จะหมดคุณค่าลงและอาจจะสูญสลายไปในที่สุด  ผมเองคงไม่ถูกกระทบอะไร  แต่คนทำงานที่เกี่ยวข้องและภาวะเศรษฐกิจอาจถูกกระทบอย่างมีนัยสำคัญได้

ในระหว่างนี้  ดูเหมือนว่าคนทั่วไปรวมถึงคนขับรถทั้งหลายก็ไม่ได้เดือดร้อนหรือสนใจใช้กูเกิลแม็พนำทางมากนักไม่ต้องพูดถึงว่าอาชีพของคนเป็นล้านอาจจะต้องตกต่ำลงอย่างรุนแรงในที่สุด  แต่นี่ก็ไม่ควรทำให้เราไม่ตระหนักถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต  เพราะในเรื่องของเทคโนโลยีนั้น  บ่อยครั้งเมื่อมันถึงจุดหนึ่ง  การเปลี่ยนแปลงจะรวดเร็วจนคนที่อยู่ในวงการตามไม่ทันและนั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า  “Disruptive” ที่ “ทำลาย” สิ่งเดิมออกเป็นเสี่ยง ๆ   ถ้ายังไม่เข้าใจก็ลองดูคนที่อยู่ในวงการสิ่งพิมพ์และสื่อเก่าทั้งหลายที่กำลังตกงานและต้องหางานใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมดูก็ได้