เราต้องผลิตคนประเภทไหน จึงจะตอบโจทย์สังคมยุคดิจิทัล?

เราต้องผลิตคนประเภทไหน จึงจะตอบโจทย์สังคมยุคดิจิทัล?

ไม่ว่าเราจะพร้อมหรือไม่พร้อม ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ การปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาของไทยกำลังจะถาโถมเข้ามา

หากความเปลี่ยนแปลงไม่เกิดจากข้างใน ก็จะถูกบังคับให้ต้องปรับจากข้างนอก

และการต้องยกเครื่องเพราะแรงกดดันจากข้างนอกจะปวดร้าวและหนักหน่วงกว่าการต้องปรับและแก้ตัวเองหลายเท่านัก

วันก่อน ผมอ่านเจอคำให้สัมภาษณ์คุณ เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีสุดแนวของมหาวิทยาลัยกรุงเทพในเว็บไซต์ The Matter ที่น่าสนใจ

เพราะคุณเพชรเห็นความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนและกำลังส่งสัญญาณเตือนมายังสังคมการศึกษาในภาพรวมว่าหากเราไม่ปรับไม่เปลี่ยน บทบาทของมหาวิทยาลัยอาจจะหมดสภาพไปได้ในไม่ช้า

เราต้องผลิตคนประเภทไหน จึงจะตอบโจทย์สังคมยุคดิจิทัล?

บางตอนของคำถามคำตอบที่น่าสนใจ:

ถาม: มองว่าตลาดแรงงานทุกวันนี้ต้องการคนทำงานแบบไหน

ตอบ: ผมเองก็อยู่ในภาคธุรกิจเข้าใจโลกธุรกิจ ว่าเขาต้องการอะไร บอกได้เลยว่าบริษัทของผมไม่เคยดูว่าคนนี้เรียนจบมหาวิทยาลัยอะไร ได้เกียรตินิยมหรือเปล่า ผมไม่เคยรู้เลยว่าพนักงานของผมเรียนจบอะไรมา เราดูเขาว่ามีประสบการณ์การทำงานแค่ไหนมากกว่า สำคัญคือคิดเป็นไหม เวลาผมไปกินอาหารข้างนอก ผมเห็นเจ้าของร้านที่ใส่ใจในการเสิร์ฟอาหารมาก มันสะท้อนถึงความสนใจในงานนั้นๆ ของเขา

อาชีพที่ต้องการใบปริญญาคืออาชีพทั่วไปที่ต้องการชุดความรู้แบบเดิม อย่างนักบัญชี แพทย์ แต่อาชีพใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องเรียนมาทั้งหมด แต่แค่ทำได้และมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่จำเป็นว่าเด็กต้องเรียนจบด้วยซ้ำ เป็นที่พิสูจน์แล้วว่า นักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ในโลกนี้เรียนไม่จบปริญญา โลกในอนาคตแทบจะไม่ดูแล้วว่าคุณเรียนอะไรมา แต่สำคัญที่ว่าคุณทำอะไรเป็น คุณคิดเป็นไหมต่างหาก กระทั่งการเรียนระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ต้องถามตัวเองว่าเรามีไปทำไม แต่ในบางสาขาวิชาชีพที่มีประโยชน์ก็ควรมี

ถาม: แสดงว่าหลักสูตรของมหาวิทยาลัยทั่วไปในปัจจุบันไม่เอื้อต่ออาชีพที่เกิดขึ้นใหม่เลย

ตอบ: ทุกวันนี้มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เป็นโจทย์ยากของผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษา ในขณะเดียวกันก็ยากมากที่มหาวิทยาลัยจะคิดหลักสูตรใหม่ๆ ขึ้นมารองรับ เพราะติดข้อบังคับอะไรต่างๆ มากมาย โจทย์มันเปลี่ยนไปแล้ว ควรจะเอาอนาคตเป็นที่ตั้งมากกว่า ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาทั่วโลกช้ากว่าวงการธุรกิจ วงการศึกษาเป็นผู้ตามวงการธุรกิจ เรากำลังพูดถึงอาชีพหลักๆ ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์คนสมัยใหม่ ไม่ได้พูดถึงอาชีพอย่างแพทย์ วิศวกร ซึ่งอาชีพเหล่านี้ยังสามารถเรียนในระบบเดิมได้ แต่ทุกวันนี้แม้กระทั่งการเรียนกฎหมายยังมีสาขาใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์โลกมากกว่า เช่นเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญา อาชีพใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เรื่องเทคโนโลยีอย่าง Tech Startup เกมดีไซน์ หรืออาจจะเป็นอาชีพที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกก็ได้ หรือจะเป็น business model ใหม่ๆ สมมติเป็นร้านอาหารที่ผสมผสานอย่างอื่นเข้าไป หรือจะเป็นบริษัทที่ไม่ใช่แค่หากำไร แต่มอบความสุขให้ลูกค้าได้ด้วย ซึ่งในอดีตวิชาเหล่านี้หรืออาชีพแบบนี้ยังไม่มี

คำตอบของคุณเพชรสะท้อนว่าระบบการศึกษาของเราวันนี้หากจะตอบโจทย์ของสังคมยุคดิจิตัลได้จำเป็นต้องลงมือปฏิรูปกันอย่างจริงจัง

หาไม่แล้ว ลูกหลานจะถามคนรุ่นนี้ว่าเราหลงทางไปไหนมา เกือบจะให้อภัยกันไม่ได้ทีเดียว