ข้อคิดสำหรับคนเตรียมเกษียณปีนี้

ข้อคิดสำหรับคนเตรียมเกษียณปีนี้

อาทิตย์นี้ สำหรับคนทำงานส่วนใหญ่คงเป็นอาทิตย์แรกของการกลับมาทำงานเต็มรูปแบบ หลังจากได้หยุดพักยาวเกือบหนึ่งอาทิตย์

เพื่อเตรียมตัวกับปีใหม่ที่มาถึง ก็หวังว่าคงได้ชาร์จไฟกันเต็มที่ช่วงวันหยุด

ผมก็พักผ่อนเช่นกัน แต่ก็มีโอกาสได้เจอกับหลายๆคนที่รู้จัก ทั้งเพื่อนฝูงและคนใกล้ชิด คุยกันจิปาถะ รวมถึงว่าจะใช้เวลาในปี 2018 นี้อย่างไร

รุ่นน้องบางคนบอกว่า อยากใช้ปีนี้เตรียมตัวเพื่อหยุดทำงานเตรียมเกษียณ เพราะอยาก early อยากพักผ่อน ผมก็รับฟัง แต่ก็แนะไปว่าเรื่องนี้มีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา เพราะคิดว่าเราต้องตัดสินใจโดยตระหนักถึงบริบทของสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมที่คนเราจะมีอายุอยู่ยาวขึ้น และประเทศกำลังจะเป็นสังคมของผู้สูงวัย

วันนี้ก็เลยอยากจะเขียนเรื่องนี้โดยให้ข้อคิดเล็กน้อยสำหรับคนที่คิดจะเกษียณอายุเร็ว ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ควรต้องพิจารณา เหมือนเป็นข้อคิดจากผม

สำหรับคนที่คิดจะเกษียณก่อนเวลาปกติหรือคิดที่จะ early ผมมีข้อคิดสามข้อที่อยากจะฝากให้พิจารณา

ข้อแรก ปัจจุบันคนเรามีชีวิตอยู่ยาวขึ้นกว่าตอนสมัยที่เราเกิดมาก คือ ถ้าย้อนกลับไปห้าสิบปีที่แล้ว เช่นปี 1960 อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยในปีที่เกิด (Life Expectancy) ตอนนั้นจะประมาณ 54 ปี คือ คนที่เกิดในปี 1960 คาดว่าจะมีอายุยืนเฉลี่ย 54 ปี แยกเป็นชาย 52 ปี หญิง 57 ปี

แต่ห้าสิบห้าปีต่อมา คือปี 2015 อายุขัยเฉลี่ยของคนที่เกิดในปี 2015 จะประมาณ 75 ปี เพิ่มขึ้นเกือบยี่สิบปีในช่วงห้าสิบห้าปี เฉลี่ยปีละประมาณสี่เดือน และถ้าเราใช้ตัวเลขการเพิ่มนี้เป็นเกณฑ์และมองต่อไปข้างหน้า คงพูดได้ว่าเด็กไทยที่เกิดในปี 2030 คือ อีกสิบสองปีข้างหน้า อายุขัยเฉลี่ยของพวกเขาอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบแปดสิบปี

ข้อมูลนี้ชี้ว่า คนเราจะมีชีวิตอยู่นานขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเราเลือกที่จะหยุดทำงานก่อนวัยอันควร คำถามก็คือ เราจะเอาเวลาที่มีเหลืออยู่ทำอะไร และเราจะอยู่อย่างไรในเวลาดังกล่าว ในแง่รายได้และรายจ่ายที่ต้องมี

คิดง่ายๆคือ ถ้าเราคิดเกษียณอายุประมาณ 50-55 ปี และถ้าคาดว่าเราจะอายุยืนได้ถึงแปดสิบปี คำถามคือ เราจะเอาเวลาที่เหลืออยู่อีก 25-30 ปี ทำอะไร และในช่วงเวลาดังกล่าว เราจะดูแลตัวเองอย่างไร นี่คือสิ่งแรกที่ต้องคิด

ข้อคิดที่สอง ก็คือ เมื่อคนเราจะมีอายุยาวขึ้น วิธีคิดเกี่ยวกับการเกษียณอายุอาจต้องเปลี่ยน ไม่ใช่แบบเดิม คือ ปัจจุบัน เราจะมองเส้นทางชีวิตของคนเราว่ามีสามช่วง ช่วงแรกคือ ช่วงเรียนหนังสือ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงจบปริญญา ซึ่งอาจใช้เวลาตั้งแต่ยี่สิบปีถึงสามสิบปีแรกของชีวิต ขึ้นอยู่กับเราเรียนหรือไม่ เรียนอะไร และเรียนนานแค่ไหน

ช่วงที่สองคือ ช่วงทำงาน ซึ่งเริ่มหลังช่วงเรียนหนังสือและทำงานจนถึงเวลาที่ต้องหยุดหรือเกษียณอายุ ซึ่งปกติก็เมื่ออายุครบ 60 ปี ช่วงทำงานจึงเป็นช่วงเส้นทางชีวิตที่จะใช้เวลาอีกประมาณสามสิบปีอย่างน้อย จากนั้นก็เข้าช่วงที่สามคือ ช่วงหลังเกษียณจนถึงหมดอายุขัย ซึ่งเป็นช่วงที่อาจจะนานได้ถึงยี่สิบหรือสามสิบปีหรือเร็วกว่านั้น ไม่มีใครรู้ แล้วแต่กรณี นี่คือสามช่วงของชีวิต

ประเด็นคือ ถ้าคนเราจะมีอายุนานขึ้น การหยุดทำงานเมื่ออายุ 55 ปี หรือ 60 ปี ก็อาจดูเร็วไป เพราะจะกลับมาที่คำถามเดิมว่า เราจะใช้เวลาอีกยี่สิบปีที่เหลือทำอะไร และจะดูแลตัวเองในช่วงที่เราไม่ทำงานอย่างไร

คนที่เคยหยุดทำงานคงจะเข้าใจเรื่องนี้ดี ที่พอหยุดทำงาน หลายๆอย่างเปลี่ยนไปเกินกว่าที่คิดไว้เดิมจนสำหรับบางคนเกิดเป็นปัญหา

การคิดใหม่ที่อยากแนะนำก็คือ เมื่ออายุของเราจะยาวขึ้น ช่วงเวลาต่างๆ คือ ช่วงเรียนหนังสือและช่วงทำงานอาจต้องยืดหยุ่นมากขึ้นด้วย คือ อาจยาวขึ้นหรือไม่จบสิ้น หมายถึง อาจต้องหาความรู้ใหม่ตลอดเวลาเพื่อให้สามารถมีอะไรทำให้ช่วงทำงานยาวขึ้น คือ พร้อมทำงานในวัยหกสิบหรือมากกว่า

การทำงานนานขึ้นไม่ได้หมายความว่าพยายามอยู่ในอาชีพเดิมหรืองานเดิมหลังอายุหกสิบ แต่หมายถึงต้องมีทักษะและความรู้หลากหลายที่สามารถนำความรู้และทักษะเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์หลังเกษียณอายุ ให้สามารถมีอะไรทำที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

ข้อคิดที่สาม คือ ช่วงที่สามของชีวิต จะเป็นช่วงที่เราจะต้องเป็นที่พึ่งของตนเองอย่างแท้จริง เพราะนอกเหนือจากครอบครัวและเพื่อนสนิท การหวังพึ่งคนอื่นคงทำได้ยาก เพราะทุกๆคนจะมีปัญหาคล้ายๆกัน ยิ่งจะพึ่งภาครัฐก็คงจะยิ่งยาก เพราะรัฐบาลไทยไม่ได้เตรียมตัวให้กับสังคมในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเมื่อจะมีประชากรจำนวนมากขึ้นๆเข้าสู่วัยสูงอายุ ให้เป็นสังคมคนสูงวัยที่มีคุณภาพ

อยากเล่าให้ฟังว่า เพื่อนนักวิชาการชาวญี่ปุ่นของผมคนหนึ่งที่เคยเป็นผู้บริหารในกระทรวงการคลังญี่ปุ่นบอกว่า มีการศึกษาแล้วว่าสามสิบปีข้างหน้า อายุขัยเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นในปีที่เกิดอาจใกล้หนึ่งร้อยปี (ปัจจุบัน 83.7 ปี) ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเตรียมตัวเพื่อสร้างสังคมเตรียมไว้เมื่อประชากรในประเทศจะมีอายุยืนเป็นร้อยปี เป็นโจทย์ที่ได้เริ่มคิดแม้จะไม่มีตัวอย่างให้เรียนรู้

ดังนั้น การพึ่งตัวเองจึงสำคัญ แต่ไม่ได้หมายความเฉพาะเรื่องเงินหรือเงินออมที่ควรมีให้เพียงพอ แต่หมายถึง ต้องมีทักษะและความรู้ความสามารถ รวมถึงสุขภาพที่ดีที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในงานหรือสิ่งที่อยากจะทำต่อๆไป หลังที่เราหยุดทำงานหรือ “เกษียณ” จากงานที่เคยทำ รวมถึงสามารถเลือกงานและเลือกโอกาสใหม่หลัง “เกษียณ”ได้อย่างถูกต้องที่จะทำให้ชีวิตในช่วงต่อไปมีความสุข ให้ประโยชน์ต่อตัวเอง ครอบครัว และสังคม เหมือนการเริ่มชีวิตใหม่ในวัยที่สูงขึ้น เพื่อให้ชีวิตในช่วงที่สามนี้เป็นการใช้เวลาที่คุ้มค่า

นี่คือ ข้อคิดสามข้อที่ผมอยากจะฝากไว้กับแฟนคอลัมน์เศรษฐศาสตร์บัณฑิตที่กำลังคิดจะ early หรือเกษียณก่อนกำหนด

การเกษียณอายุเร็วไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีหรือผิด โดยเฉพาะถ้าเราไม่ชอบงานประจำที่ทำอยู่ในปัจจุบัน แต่เราควรใช้เวลาในช่วงต่อไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป ไม่ควรหยุดนิ่ง เพราะเวลาของชีวิตยังเหลืออีกมาก อยากเห็นการเกษียณเป็นการเดินออกจากความรับผิดชอบปัจจุบันไปสู่ความรับผิดชอบใหม่

่เป็นโอกาสที่เราสามารถใช้เวลาทำในสิ่งที่เราชอบ เพื่อทำให้ช่วงเวลาที่เหลืออยู่สนุกและเป็นประโยชน์ ให้เป็นช่วงเวลาที่ชีวิตจะประสบความสำเร็จในอีกลักษณะหนึ่ง เป็นความสำเร็จที่จะให้ประโยชน์กับตนเอง ครอบครัว และสังคม นี่คือข้อคิดที่อยากจะฝากไว้