จะต่อยอด ‘โครงการก้าวคนละก้าว’ อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จะต่อยอด ‘โครงการก้าวคนละก้าว’ อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายอาทิห์วรา คงมาลัย หรือ ตูน บอดีแสลมและทีมงาน ได้ประสบความสำเร็จจากโครงการก้วคนละก้าวเพื่อโรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศมาแล้ว

ตามกำหนดการเดิมที่วางแผนไว้ และสามารถระดมทุนบริจาคได้มากกว่าที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ นับว่าเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของไทย(และของโลก) ที่จะถูกจดจำรำลึกและบันทึกไว้อย่างแน่นอน

ท่านพระมหาวุฒิชัย วชิระเมธี ได้เขียนบทความยกย่องสรรเสริญในความสำร็จของตูนไว้ว่า ตูนได้รับความสำเร็จเป็น “ที่สุดของที่สุด” 5 อย่างคือ ที่สุดแห่งวิสัยทัศน์ ที่สุดแห่งโครงการ ที่สุดแห่งความเพียร ที่สุดแห่งการให้ และที่สุดแห่งหัวใจ*

ที่สุดของที่สุดที่สำคัญที่สุดก็คือ “ความขาดแคลนของโรงพยาบาลราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

แต่ที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนขอเพิ่มก็คือ ตูนได้เปิดเผยความลับที่ซ่อนอยู่ใต้พรมของกระทรวงสาธารณสุขและสปสช. ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง แก่พลเมืองไทยทั่วประเทศ

ประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ว่า ระบบสาธารณสุขไทยนั้น ยังมีความขาดแคลนงบประมาณอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ให้เหมาะสมเพียงพอในการจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน สำหรับประชาชนผู้ต้องพึ่งพาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(30 บาท)รักษาไม่ทุกโรคจริง

สาเหตุที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศขาดแคลนงบประมาณดังกล่าว ก็สืบเนื่องมาจากกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้กำหนดให้รัฐบาลส่งเงินงบประมาณ(ที่จะใช้สำหรับรักษาประชาชนในระบบ 30 บาท) ไปให้แก่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพื่อให้สปสช.จัดส่งงบประมาณนี้มาให้แก่โรงพยาบาลเพื่อใช้รักษาสุขภาพประชาชนในระบบ 30 บาท

แต่สปสช.ส่งเงินงบประมาณมาให้โรงพยาบาลน้อยเกินกว่าที่ได้รับจัดสรรมาจากรัฐบาล งบประมาณที่ส่งไปโรงพยาบาลจึงไม่มีอย่างพอเพียงในการให้บริการรักษาผู้ป่วย เป็นผลให้โรงพยาบาลมีงบประมาณไม่เพียงพอในการให้บริการดูแลรักษาสุขภาพประชาชนในระบบ 30 บาท และเป็นสาเหตุให้ โรงพยาบาลไม่มีเงินพอที่จะไปซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นให้พอเพียงสำหรับการให้บริการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนในระบบ 30 บาท

ใครรู้ปัญหาดังกล่าวบ้าง

บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นผู้ทำงานให้บริการประชาชนรับรู้เรื่องความขาดแคลนมาตลอด ตั้งแต่เริ่มมีระบบ 30 บาทเมื่อ 15 ปีที่แล้ว

ปัญหานี้พอกพูน(เป็นดินพอกหางหมู) ตลอดมา ถึงแม้รัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวให้มากขึ้นจาก 1,200 บาทต่อคนต่อปี (พศ. 2545)มาเป็น 3,109.87 บาทต่อคนต่อปี (เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว) แต่สปสช.ก็ส่งงบประมาณให้โรงพยาบาลไม่เหมาะสม/เพียงพอเหมือนเดิม

ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขได้แก่รัฐมนตรีสาธารณศุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีต่างๆ ก็ต้องรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ดี แต่ไม่มีความสามารถหรือความกล้าหาญพอที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปได้เลย ไม่ว่ารัฐมนตรีกี่คนๆ ปัญหาก็ยังเหมือนเดิมและนับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ประชาชนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ถึงเรื่องราวเหล่านี้ รับรู้แต่เพียงว่าถ้าป่วยมาก็ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ถ้าไม่พอใจต่อผลการรักษา ก็ร้องเรียนกล่าวหาโรงพยาบาลและแพทย์/พยาบาลผู้ให้การรักษาแล้วก็จะได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากสปสช. สูงสุด 400,000 บาท (แต่ผู้ป่วยหลายคน ก็ไม่ทราบว่า ควรจะได้รับการรักษาที่ดีกว่านี้ และผลลัพทธ์การรักษาควรจะดีกว่านี้)

ผู้ป่วยในระบบ 30 บาท ที่พอมีเงินบ้าง ก็เลือกที่จะไม่ใช้สิทธิ์ 30 บาท เพราะไม่อยากจะไปเสียเวลารอคอยนาน แล้วก็ไม่แน่ใจในคุณภาพการรักษา จึงเห็นได้ว่าผู้ป่วยในระบบ 30 บาทที่มีอยู่ทั้งหมดเกือบ 49 ล้านคน (48,802,900 คนในปี 2560) ไปใช้สิทธิ์ในการรักษาเพียง 60-70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

แต่ถึงแม้ผู้ป่วยไปใช้บริการเพียง60-70 เปอร์เซ็นต์ สปสช.ก็ส่งงบประมาณให้รพ.ไม่พอเพียงอยู่ตลอดมาทั้ง 15 ปีนี้

การบริหารงานของสปสช.ภายใต้มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด) นั้น เป็นต้นเหตุที่ทำให้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถูกส่งออกไปยังมูลนิธิเอกชนมากมายหลายโครงการ รวมทั้งโครงการวิจัยด้วย ซึ่งเป็นการใช้จ่ายเงินที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ที่จะต้องจ่ายเงินกองทุนให้หน่วยบริการให้เพียงพอก่อน จึงสมควรจะเอาไปจ่ายอย่างอื่นตามที่สปสช.อ้าง เช่นเอาไปจ่ายเพื่อพัฒนาการบริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่ แต่ผ่านมูลนิธิที่กรรมการหลักประกันสุขภาพเป็นกรรมการอยู่ด้วย

การวิ่งของคุณตูน บอดี้แสลม ที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนจากการบริจาคของประชาชนเพื่อ 11 โรงพยาบาลนั้น แม้จะสามารถระดมทุนบริจาคได้มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ และเป็นความสำเร็จอย่างน่าปลาบปลื้มใจของตูน และทีมงาน แต่ขอวิงวอนผู้บริหารบ้านเมืองให้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ผู้เขียนบทความนี้ ไม่อยากให้ความเหนื่อยยากตรากตรำของตูนและทีมงานเสียเปล่า และจบลงว่าเป็นความสำเร็จหรือชัยชนะและความยิ่งใหญ่ของตูนและทีมงานเพียงเท่านี้

แต่ผู้เขียนในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่ง อยากจะขอวิงวอนให้ผู้รับผิดชอบในการบริหารบ้านเมือง ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมา ถึงครม.ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขทุกคน (ซึ่งบริหารโรงพยาบาลที่ให้การบริการรักษาสุขภาพผู้ป่วยในระบบ 30 บาทมากกว่า80-90 เปอร์เซ็นต์) ได้ช่วยกันระดมสมองว่า พวกท่านจะทำอะไรเพื่อปฏิรูประบบสาธารณสุขและการประกันสุขภาพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(30 บาท)อย่างไร ให้ประชาชนในระบบนี้ได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ มีผลลัพธ์เหมาะสม/ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยทุกคน และท่านผู้บริหารจะดำเนินการแก้ไขวิธีการจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุขอย่างไร จึงจะทำให้ไม่เกิดความขาดแคลนเครื่องมือ/อุปกรณ์การแพทย์ เพื่อให้ประชาชน(ที่ด้อยโอกาส 60-70%ในระบบ30 บาท)ได้รับการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างสมเหตุสมผล

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสปสชจะทำงานด้วยความเสียสละ(ประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม)และทุ่มเทตามแบบอย่างของตูน บอดี้แสลมได้หรือไม่

การแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ น่าจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาทั้งหมดนี้ได้อย่างยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ได้สั่งให้มีการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นต้นเหตุแห่งความบิดเบี้ยวของการจัดสรรงบประมาณในระบบสาธารณสุขมาแล้ว(จนเวลาเนิ่นนานมาเป็นเวลามากกว่า 1 ปีแล้ว) แต่ไม่ทราบว่าท่านนายกรัฐมนตรีได้ติดตามทวงถามเรื่องนี้จากผู้ที่รับผิดชอบหรือไม่

ถ้ายังไม่ได้ถาม ก็ควรจะติดตามงานได้แล้ว

ผู้นำที่จะประสบความสำเร็จ ไม่ใช่พอใจแค่ “สั่งลูกน้องให้ทำงาน” แต่ต้องติดตามผลงานว่าเป็นไปตามที่ตนได้ “สั่ง” หรือไม่ และมีผลดีขึ้นหรือไม่

โดย... 

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

กรรมการแพทยสภา ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ กมธ.สาธารณสุข สนช.