วีไอที่ไม่ได้จบ 'วิศวะ'

วีไอที่ไม่ได้จบ 'วิศวะ'

สิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับการลงทุนแบบเน้นพื้นฐาน ไม่ใช่ความรู้อันซับซ้อน แต่เป็นความมั่นคงทางจิตใจ

ช่วงหยุดยาวปีใหม่ผมอยู่บ้านว่างๆ ไม่ได้ไปเที่ยวไหน จึงหาหนังเก่าๆ มาดู และหนึ่งในหนังที่ได้ดู คือเรื่อง 'Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์' เป็นหนังแนวเรียลลิตี้และออกจะอินดี้เล็กๆ แต่ก็โด่งดังพอสมควรเมื่อประมาณสิบปีก่อน

เนื้อหาสาระของหนังเรื่องนี้ คือการที่ผู้สร้างเอากล้องไปตามถ่ายชีวิตของเด็กมัธยมฯ สี่คน ตั้งแต่ ม.ปลาย จนถึงสอบเอ็นทรานซ์ โดยตัวเอกของเรื่อง คือ 'น้องเปอร์' ก็เหมือนกับเด็กผู้ชายไทยจำนวนมากที่อยากเรียน 'วิศวะ' แม้จะไม่ได้ฝันอยากเป็นวิศวกร โดยน้องเปอร์ได้ให้เหตุผลกับอาจารย์ผู้สัมภาษณ์ว่า เขามองว่าการเรียนวิศวะจะช่วยให้รู้จักคิดและทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการทำธุรกิจในอนาคต

ตรงจุดนี้ ทำให้ผมนึกถึงวงการ 'วีไอ' หรือนักลงทุนเน้นมูลค่า ที่บรรดานักลงทุนชั้นนำจำนวนมากต่างก็เรียนมาทางสายวิศวกรรมศาสตร์ ไล่ตั้งแต่วีไอตัวพ่อ อย่าง ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร, ดร. ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา รวมทั้งวีไอรุ่นเล็กรุ่นใหญ่อีกมากมาย

ผมมองว่า เหตุที่คนจบวิศวะหลายคนเป็นวีไอได้ดีนั้น สาเหตุหลักก็น่าจะเป็นเหมือนที่ 'น้องเปอร์' ว่าไว้ คือพวกเขามีการคิดอย่างเป็นระบบ มีชุดของเหตุผลที่ช่วยในการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน

สำหรับตัวผมเอง ผมไม่ได้จบ 'วิศวะ' และไม่ได้เรียนสายวิทย์-คณิต ด้วยซ้ำไป ผมจบนิเทศศาสตร์ ซึ่งน่าจะอยู่ห่างไกลมากๆ จากโลกของการลงทุนหุ้น ทุกวันนี้ เพื่อนของผมที่จบนิเทศมาด้วยกัน ไม่มีสักคนที่จะลงทุนหุ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หากจะมีก็เป็น 'ชาวเม่า' คือซื้อๆ ขายๆ ไม่ได้จริงจัง และส่วนใหญ่ก็มักจะ 'เจ๊ง'

ที่จริงแล้ว ผมมองว่า แม้คนจบ 'สายศิลป์' จะไม่ได้มี 'สมองข้างซ้าย' ที่ทำงานได้ดีเหมือนคนจบสายวิทย์ แต่คุณสมบัติสำคัญของการเป็นวีไอ รวมทั้งการลงทุนแบบเน้นพื้นฐานทุกแนวทางนั้น คือการรู้จักเลือก หากิจการที่ดี มีอนาคต วิเคราะห์ความได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่คน 'สมองขวา' น่าจะทำได้ดีไม่แพ้คน 'สมองซ้าย'

ผมยอมรับว่า การไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม หรือคอมพิวเตอร์ อาจเป็นความเสียเปรียบอยู่บ้างในการวิเคราะห์หุ้นบางอุตสาหกรรม เช่น พวกก่อสร้าง ไฮเทค หรือพลังงาน แต่เราก็สามารถหลีกเลี่ยง มา 'เล่น' ในสมรภูมิที่ถนัดได้ เช่น ผมเองชอบหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม ค้าปลีก ซึ่งไม่ต้องอาศัยความรู้อันลึกลับซับซ้อน ก็สามารถที่จะเข้าใจ

สำหรับเรื่องของการคำนวณนั้น ยิ่งไม่ต้องกังวล เพราะแม้แต่ ปีเตอร์ ลินช์ ผู้จัดการกองทุนที่ดีที่สุดตลอดกาลยังกล่าวไว้ว่า 'คณิตศาสตร์ทั้งหมดที่จำเป็นต้องใช้ในตลาดหุ้น คุณเรียนมาแล้วตั้งแต่ ป.4'

สิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับการลงทุนแบบเน้นพื้นฐาน ไม่ใช่ความรู้อันซับซ้อน แต่เป็นความมั่นคงทางจิตใจ มีความ 'อดทน' รู้จักตั้งเป้าหมายและมองสิ่งต่างๆ ในระยะยาว ซึ่งทุกคนสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ ผมเองอาจสมองไม่ดีเท่าเพื่อนๆ หลายคน แต่หากจะวัดกันที่ 'ความขยัน-ความอึด' ผมก็ไม่กลัวใครเหมือนกัน

ดังนั้น อย่าให้มายาคติเรื่อง 'ไม่เก่งเลข' หรือ 'เรียนอะไรมา' มาเป็นอุปสรรคในการลงทุนอีกเลยครับ!