ตำนานทหาร ในคราบ “นักเลือกตั้ง”

ตำนานทหาร ในคราบ “นักเลือกตั้ง”

เคยเขียนไว้ว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน “พรรคทหาร” ไม่ได้มีแค่ 6 พรรคที่นำมายกตัวอย่างกันอยู่บ่อยๆ

อย่างพรรคเสรีมนังคศิลา, พรรคชาติสังคม ,พรรคสหประชาไทย, พรรคสามัคคีธรรม, พรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคมาตุภูมิ

พรรคของนายทหารยังมีมากกว่านี้ และนายทหารที่ถอดเครื่องแบบมาลงสนามเลือกตั้งในบ้านเราก็มีเกินหลักร้อย

หลังรัฐประหาร 2520 "พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการยึดอำนาจ ก็ได้ตั้ง “พรรคชาติประชาธิปไตย” ร่วมกับนักเลือกตั้งอาชีพกลุ่มหนึ่ง และฤดูเลือกตั้ง 2526 และ 2529 ได้ส่งผู้สมัคร ส.ส.ทั่วประเทศ แต่ไม่ประสบชัยชนะมากมายนัก

ปี 2529 นายทหารใหญ่ที่เคยมีส่วนร่วมในการก่อรัฐประหาร 2519 และ 2520 อย่าง “พล.อ.เทียนชัย ศิริสัมพันธ์” ขึ้นเป็นหัวหน้า “พรรคราษฎร” โดยมี “พล.อ.มานะ รัตนโกเศศ” เป็นเลขาธิการพรรคฯ ซึ่งเดิมพรรคนี้ชื่อพรรคสหชาติ

ความล้มเหลวของการยึดอำนาจเมื่อ 1-3 เมษายน 2524 ส่งผลให้ทหารยังเติร์กตกต่ำ และกลุ่ม “ทหารประชาธิปไตย” มีบทบาทมากขึ้น

สมาชิกกลุ่ม “ทหารประชาธิปไตย” ประกอบด้วยนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ในกองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 2 และกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งมีบทบาทในโรงเรียนนายร้อย จปร. โรงเรียนเสนาธิการทหารบก วิทยาลัยการทัพบก และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รวมทั้งในศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.)

กลุ่มทหารประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งของการยึดอำนาจปี 2520 เนื่องจากนายทหารกลุ่มนี้มีความหวาดวิตกว่า “แนวคิดขวาจัด” จะนำพาไปสู่การสิ้นชาติเหมือนเวียดนาม จึงสนับสนุนให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก่อรัฐประหารซ้ำ

ปี 2525 ทหารประชาธิปไตยจึงได้ตั้ง “พรรคปวงชนชาวไทย” โดยมี ร.อ.สมหวัง สารสาสน์ เป็นหัวหน้าพรรค และพล.ต.ระวี วันเพ็ญ เป็นที่ปรึกษาอยู่นอกพรรค

ปี 2531 “พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก” อดีตผู้บัญชาการทหารบกและอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย และการเลือกตั้ง 24 ส.ค.2531 พรรคปวงชนชาวไทยได้ ส.ส. เข้าสภา 17 คน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีตัวอย่าง “พรรคทหาร” ให้เลือกมากมาย สุดแท้แต่ว่าจะเลือกเอาแบบไหน?