ผู้ประกอบการไทยมีทักษะดิจิทัลแค่ไหน?

ผู้ประกอบการไทยมีทักษะดิจิทัลแค่ไหน?

ทักษะดิจิทัลคือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 เพราะสภาพแวดล้อมการทำงานในอนาคตจะไม่ใช่การทำงานระหว่างคนกับคนเป็นหลัก

แต่จะมีการทำงานระหว่างคนกับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ควบคุมด้วยระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ รวมถึงการเป็นคนคอยกำกับดูแลการทำงานระหว่างระบบดิจิทัลด้วยกันเองด้วย

ผู้ประกอบการถือเป็นคนกลุ่มแรกที่จะต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ คำถามก็คือ ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมแค่ไหน

ก่อนจะมาดูผลของไทย ลองมาดูผลในต่างประเทศกันก่อนว่า ที่เขาศึกษากันมาผลเป็นอย่างไรบ้าง

ผลการศึกษาในยุโรปที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัย Twente การศึกษาทักษะดิจิทัลในยุโรปพบว่า ยังมีปัญหาช่องว่างทักษะดิจิทัล (Digital Skill Gaps) อยู่ในแรงงานแทบทุกกลุ่ม ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ

เฉพาะในประเทศเนเธอร์แลนด์ ประมาณการว่าปัญหาช่องว่างทักษะดิจิทัล ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าประมาณ 19.3 ล้านล้านยูโรต่อปี

ในสหราชอาณาจักร ผลการศึกษาของ Ecorys UK ที่ใช้ข้อมูลของ UKCES (UK Commission for Employment and Skills) มาประกอบการวิเคราะห์ พบว่า ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 61% ระบุว่า พนักงานในบริษัทมีทักษะดิจิทัลต่ำกว่าที่คาดหวังไว้จนส่งผลต่อการทำงาน และเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานดิจิทัล ทั้งในด้านจำนวน และทักษะที่มี

ผลศึกษาประเมินว่า ภายในปี ค.ศ. 2022 เฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัลและการสร้างสรรค์ สหราชอาณาจักรยังต้องการแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลเพิ่มขึ้นอีกถึง 1.2 ล้านคน

ในไทยเองมีงานวิจัยเกี่ยวกับทักษะดิจิทัลอยู่พอสมควร แต่งานที่ศึกษาทักษะของผู้ประกอบการโดยใช้กรอบการประเมินที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมายังมีน้อย  

ข้อมูลชุดหนึ่งที่พอจะนำมาใช้ในการประเมินภาพเบื้องต้นในเรื่องนี้เป็นข้อมูจากการสำรวจ Thailand Digital Skill Survey 2017-2018 ของ บริษัท อะดามัส รีเซิร์ช แอนด์ คอนซัลแทนต์ จำกัด ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการ 411 คนจากทั่วประเทศ เพื่อการประเมินทักษะดิจิทัล (Digital Skills) 6 ด้าน คือ

1. ด้าน Tools & Technologies (เครื่องมือและเทคโนโลยี) 2. ด้าน Find & Use (การค้นหาและการใช้งาน) 3. ด้าน Teach & Learn (การสอนและการเรียนรู้) 4. ด้าน Communication & Collaborate (การสื่อสารและการทำงานร่วมกัน) 5. ด้าน Create & Innovate (การสร้างสรรค์และนวัตกรรม) และ 6. ด้าน Identity & Wellbeing (สถานะและความรับผิดชอบ) มีเกณฑ์การให้คะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 10

คะแนนที่มากขึ้นหมายถึงการที่ผู้ประกอบการประเมินว่าตนเองมีทักษะด้านนั้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการจัดทำครั้งนี้เป็นการจัดทำครั้งแรก ซึ่งเป็นการจัดทำข้อมูลพื้นฐานเพื่อใช้ในการประเมินระยะยาวต่อไป จึงอาจไม่ได้ให้ภาพการศึกษาที่สมบูรณ์นัก

ผลการประเมินระดับทักษะดิจิทัลของผู้ประกอบการและพนักงานจำแนกตามช่วงอายุ เมื่อพิจารณาในภาพรวมพบว่า ช่วงอายุที่มีระดับทักษะทางดิจิทัล (Digital Skills) สูงที่สุด คือ ช่วงอายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปี มีคะแนนเฉลี่ย 6.19 คะแนน ส่วนช่วงอายุที่มีระดับทักษะทางดิจิทัลน้อยที่สุด คือ ช่วงอายุระหว่าง 41 ถึง 59 ปี มีคะแนนเฉลี่ย 5.04 คะแนน

ผู้ประกอบการไทยมีทักษะดิจิทัลแค่ไหน?

ประเด็นน่าสนใจคือ ยิ่งผู้ประกอบการมีอายุมากขึ้น ทักษะดิจิทัลก็ยิ่งลดลง และหากมองในภาพรวมแล้ว แม้ว่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่จะมีทักษะดิจิทัลมากกว่าผู้ประกอบการรุ่นก่อนหน้า แต่เมื่อดูคะแนนแล้ว ก็อยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะดิจิทัลทั้ง 6 ด้านให้แก่ผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนใช้ Facebook เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ช่วงหลายปีมานี้มีการพูดถึงการค้าขายออนไลน์ มากขึ้น มีคนรุ่นใหม่ที่ผันตัวเองมาเป็นนักธุรกิจออนไลน์ ซึ่งหากประเมินจากทิศทางเหล่านี้ เราก็คาดว่าตัวเลขที่ออกมาน่าจะดูดีกว่านี้

ผู้เขียนคิดว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ยังไม่เข้าใจศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลดีพอ จึงเน้นการใช้เพื่อทำการตลาดออนไลน์ เป็นหลัก แต่ไม่สามารถนำไปใช้ในการพลิกโฉมองค์กร หรือนำไปใช้ในการสร้างโมเดลทางธุรกิจใหม่ได้

แม้แต่ในการทำการตลาดออนไลน์เอง ส่วนใหญ่ก็มีวงจำกัดอยู่ในประเทศ เป็นการซื้อมาขายไป มากกว่าจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงให้กับสินค้า การเติบโตในลักษณะนี้ ก็เหมือนกับการยืมจมูกคนอื่นหายใจ ซึ่งไม่ใช่โมเดลการพัฒนาที่ดี ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนทางธุรกิจได้

ปีนี้เป็นปีที่เราจะได้เห็นการขับเคลื่อนของภาครัฐในหลายด้านเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย รวมไปถึงการยกระดับทักษะดิจิทัลของผู้ประกอบการ แต่จะให้เรื่องนี้เป็นการบ้านของรัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้

ด้านผู้ประกอบการเองจะต้องขวนขวายหาความรู้มากขึ้น เพื่อให้เข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างลึกซึ้งจนมองเห็นว่า เทคโนโลยีนี้ช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของตนได้อย่างไรบ้าง

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใจเย็นไม่ได้ เพราะเรามีเวลาในการเตรียมตัวอีกไม่เกิน 10 ปี โลกนี้ก็คงเข้าสู่ยุคดิจิทัลแทบจะสมบูรณ์แล้ว