ประโยชน์และความโหดของมือที่มองไม่เห็น

ประโยชน์และความโหดของมือที่มองไม่เห็น

ผู้อยู่ภายนอกวงการเศรษฐศาสตร์อาจไม่คุ้นกับความหมาย และนัยของ “มือที่มองไม่เห็น” ซึ่งแปลจาก “invisible hand”

คำนี้เป็นแนวคิดที่มาจากตำราวิชาเศรษฐศาสตร์ และวิชาจริยศาสตร์ ของ อะดัม สมิธ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ยกให้เป็นบิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์ระบบตลาดเสรี

ความหมายที่นักเศรษฐศาสตร์เข้าใจกันคือ ระบบตลาดเสรีมีกลไกที่มองไม่เห็นด้วยตา ทำให้การแสวงหาประโยชน์ของบุคคลเกิดผลดีต่อส่วนรวม เช่น การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการซึ่งต่างแสวงหากำไรในการทำธุรกิจส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการถูกลงทำให้ผู้บริโภคทั่วไปได้ประโยชน์

นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่อาจมิได้คิดต่อไปถึงนัยของคำมากนัก เนื่องจากสนใจเฉพาะในด้านเศรษฐศาสตร์เท่านั้น ทั้งที่อะดัม สมิธ ใช้คำนี้เป็นครั้งแรกในตำราวิชาจริยศาสตร์ ซึ่งเขาเขียนขึ้นก่อนตำราวิชาเศรษฐศาสตร์ 17 ปี

ด้วยเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์อาจมองข้ามความสำคัญของเงื่อนไขที่ว่า มือที่มองไม่เห็นจะก่อให้เกิดผลดีก็ต่อเมื่อผู้ทำธุรกิจดำเนินกิจการบนฐานของจริยธรรม

โลกเปลี่ยนไปมากหลังจากเกือบ 260 ปีที่ อะดัม สมิธ เสนอแนวคิดนั้น

ในยุคปัจจุบัน เราอาจมองว่าภาคเทคโนโลยีมีมือที่มองไม่เห็นโดดเด่นมากกว่าภาคอื่น

ในภาคนี้ มือที่มองไม่เห็นก่อให้เกิดผลดีมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันมันอาจทำให้เกิดผลร้ายได้อย่างมหันต์  

ผลดีจากเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้เราส่งสารถึงกันได้แบบทันทีทันใดไม่ว่าจะอยู่ในส่วนไหนของโลก ทั้งที่เรามองไม่เห็นด้วยตาว่าสารนั้นถูกพาไปอย่างไร

ในขณะเดียวกัน มีข่าวรายวันเกี่ยวกับผลร้ายของมันจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น สหรัฐส่งอาวุธร้ายไปโจมตีพื้นที่ในย่านตะวันออกกลางโดยผู้ส่งอาวุธนั่งอยู่ในห้องปรับอากาศที่สหรัฐซึ่งอยู่คนละฟากโลก หรือการเข้าไปขโมยข้อมูลของผู้อื่นและการกลั่นแกล้งบุคคลต่างๆ อย่างไร้มนุษยธรรมโดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

ผลร้ายต่างๆ ที่อ้างถึงนั้นเกิดจากผู้ไร้จริยธรรมใช้เทคโนโลยีด้วยความจงใจเพื่อทำร้ายผู้อื่น แต่เทคโนโลยีมีมือที่มองไม่เห็นซึ่งอาจเรียกว่าเป็นคำสาปติดมาด้วยเสมอ  

ฉะนั้น ผลร้ายของมันอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีผู้ไร้จริยธรรมเป็นต้นเหตุ และโดยทั่วไปไม่มีใครมองว่านั่นเป็นผลของมือที่มองไม่เห็น

ตัวอย่างเช่น เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไฟฟ้าที่สนามบินของเมืองแอตแลนตาดับสนิทไปเกือบ 11 ชั่วโมง โดยที่ไม่มีใครตั้งใจทำให้มันดับ แต่เกิดขึ้นเพราะอุบัติเหตุในห้องใต้ดินของโรงไฟฟ้าที่ส่งกระแสไฟให้สนามบิน

การขาดกระแสไฟฟ้าเป็นเวลาเกือบ 11 ชั่วโมงสร้างความเสียหายใหญ่หลวง เพราะสนามบินนั้นมีเครื่องบินขึ้นลงแต่ละวันมากที่สุดในโลก  

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวซ่อมได้ภายในหนึ่งวัน ความเสียหายจึงไม่มากนักหากเทียบกับความเสียหาย ซึ่งเกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ยูเครนเมื่อปี 2529 และที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2554

เทคโนโลยีดิจิทัล และไฟฟ้า มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น และมีความสำคัญสูงยิ่งต่อการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบัน ทั้งสองจึงเป็นจุดอ่อนสำคัญทางด้านความมั่นคงของสังคมต่าง ๆ

ด้วยเหตุนี้ ประเทศมหาอำนาจจึงมีมาตรการอันเข้มข้นในด้านการป้องกันการถูกโจมตีระบบเทคโนโลยีจิทัลและระบบไฟฟ้าของตน ทั้งจากมหาอำนาจอื่นและจากผู้ประสงค์ร้าย ซึ่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

เมื่อรวมเข้าด้วยกันมองได้ว่าเป็นอีกด้านหนึ่งของมือที่มองไม่เห็น แต่มาตรการเหล่านั้นจะป้องกันได้เต็มร้อยหรือไม่ ยังเป็นที่สงสัยกันมากในสังคมอเมริกัน ซึ่งเป็นอภิมหาอำนาจทางเทคโนโลยี เพราะมีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่น

คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เป็นเวลาเกือบปี สหรัฐพยายามค้นหาหลักฐานเรื่องรัสเซียเข้าไปจุ้นจ้านผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปลายปี 2559

ในเมื่ออภิมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยียังมีความสงสัยเรื่องความปลอดภัยของตน เมืองไทยเตรียมทางหนีทีไล่ไว้อย่างไร จึงเป็นประเด็นสำคัญยิ่ง

เราคงไม่สามารถป้องกันมหาอำนาจมิให้ทำลายระบบไฟฟ้าและเทคโนโลยีดิจิทัลของเราได้

ทางออกจึงน่าจะเป็นการตระเตรียมความพร้อมไว้เมื่อไม่มี 2 สิ่งนั้น

แต่เราดูจะมิได้ให้ความสำคัญแก่มันมากนัก เนื่องจากคนไทยโดยทั่วไปหุงข้าวไม่เป็นหากขาดไฟฟ้า หรือจำนวนมากรับและจ่ายเงินไม่ได้เมื่อระบบพร้อมเพย์ไม่ทำงานเช่นในตอนก่อนวันขึ้นปีใหม่