รับมือให้ดีกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม(4IR)

รับมือให้ดีกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม(4IR)

เมื่อศาตราจารย์ Klaus Schwab ประธาน World Economic Forum (WEF) และผู้ประพันธ์หนังสือชื่อ The Fourth Industrial Revolution(4IR)

กล่าวถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่กำลังเกิดขึ้นว่าไม่ได้มาจากการขยายผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่3 เนื่องจากขนาด ความเร็วและความซับซ้อนของนวัตกรรมที่เกิดขี้น 

แต่เกิดจากการขับเคลื่อนของนวัตกรรมดิจิทัล อาทิ AI, IoT, หุ่นยนต์, 3D Printing, Blockchain, พาหนะไร้คนขับ (AV) นาโนเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ จนเป็นหว่งว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่นี้จะสร้างความเหลื่อมล้ำทางอุตสาหกรรมและเปิดโอกาสให้ประเทศผู้นำทางความคิดและความสามารถด้านดิจิทัลได้รับประโยชน์จากการแข่งขันด้านการผลิตและอุตสาหกรรมจนทิ้งห่างประเทศที่ขาดความพร้อม และสร้างปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคมและการปกครองขึ้น

องค์กรชั้นนำอย่างกูเกิล หรืออาลีบาบา ต่างใช้ดิจิทัลเป็นแพลตฟอร์มในการดำเนินธุรกิจหลักอย่างเสิร์ชหรืออีคอมเมิร์ซ และต่อยอดความพร้อมและความได้เปรียบในเทคโนโลยีด้วยการขยายผลธุรกิจออกไปหลายด้าน อาทิ การที่กูเกิลผลักดันเรื่อง AI First และเริ่มผลิตฮาร์ดแวร์ เช่น Pixel หรือ Google Home ขณะที่อาลีบาบา สร้างอาณาจักรด้านการเงินผ่านแพลตฟอร์มอาลีเพย์ (Alipay) 

ธุรกิจดิจิทัลชั้นนำเป็นกลไกช่วยผลักดันการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และสามารถขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่ผ่านนวัตกรรมดิจิทัลที่แข็งแกร่งของตน

ดิจิทัลให้ประโยชน์

การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มก่อตัวและกำลังถูกพัฒนาต่อเนื่องไปในอีก 10 ปีข้างหน้าอาจสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เกินคาดเดา ตัวอย่าง “กูเกิล” ล่าสุดได้เปิดเผยถึงการวิจัยด้าน AI ที่สามารถเลียนเสียงและการพูดมนุษย์ได้ราวกับเสียงจริงผ่านแพลตฟอร์ม Tacotron 2 ที่ใช้ระบบ AI สองระบบในการแปลงตัวหนังสือเป็น Spectrogram และแปลงต่อเป็นเสียงพูดได้ใกล้เคียงเสียงมนุษย์โดยบริษัท DeepMind และจะถูกนำมาใช้กับแพลตฟอร์ม Google Assistant

การปรับใช้ดิจิทัลในธุรกิจและอุตสาหกรรมควรถูกมองในแง่ดีที่นอกจากความคิดที่นวัตกรรมจะมาแย่งงานหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คน อย่างเช่น AI ที่ช่วยให้การทำงานและการใช้ชีวิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยประหยัดพลังงานและวัสดุในอุตสาหกรรม ตลอดจนสร้างคุณค่าเพิ่มขึ้นในระบบ 

นอกจากนี้การทำงานในลักษณะ Smart Factory ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการผลิตด้วยการใช้หุ่นยนต์และลดการใช้ไฟฟ้า สังคมแบบ Sharing ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ (Uber) หรือที่พัก (Airbnb) ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้คนที่พร้อมจะแชร์สิ่งของได้มากกว่าที่คิด ความท้าทายคงอยู่ที่ทำอย่างไรที่จะสร้างแพลตฟอร์ม Sharing ใหม่และอีโคซิสเต็มที่ลดมลพิษและประหยัดพลังงานได้มากขึ้น

4IR กำลังเขย่าโมเดลธุรกิจแบบเดิม โดยการใช้กลยุทธ์ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) พาหนะไร้คนขับ (AV) และสถานีสำหรับเก็บและจ่ายไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการสร้างอีโคซิสเต็มใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งกำลังเปลี่ยนโมเดลธุรกิจการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและถ่านหิน จนผู้คนสามารถผลิตพลังงานสะอาดเพื่อใช้และจำหน่ายได้เองจากครัวเรือน

อุปกรณ์และสิ่งของจำนวนมากมายกำลังเชื่อมต่อถึงกัน (Connect) ผ่านนวัตกรรมอย่าง IoT และ Machine Learning เพื่อช่วยในการผลิตและการควบคุมให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่องค์กรและบุคลากรต้องคิดใหม่และทรานส์ฟอร์มให้สามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด บุคลากรควรฝึกฝนให้สามารถควบคุมระบบใหม่ ขณะที่องค์กรควรลงทุนกับบุคลากร ข้อมูลและทรัพยากรให้พร้อมรับมือกับนวัตกรรมที่ท้าทายธุรกิจได้อย่างมั่นคง

การต่อสู้ครั้งใหญ่

การประชุมของ WEF ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมานอกจากจะเน้นถึงบทบาทขององค์กรต่อการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมแล้ว ยังได้กล่าวถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเกินควบคุม (Climate Change) โดยมีเป้าหมายที่จะให้ทั่วโลกร่วมกันหยุดอุณหภูมิของโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิก่อนการประวัติอุตสาหกรรม เพราะจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับระบบนิเวศน์ของโลกและสิ่งมีชีวิต

จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันขององค์กรและทุกคนที่จะต้องรักษาสภาพแวดล้อมของโลกให้คงอยู่ในสภาพที่ดี การปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งเลวร้ายที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมแต่การปฏิบัติของมนุษย์และกระบวนการผลิตขององค์กรที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่คำนึงถึงผลทางกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นตัวการสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เลวร้ายลง จึงนับเป็นความท้าทายที่องค์กรและผู้คนต้องร่วมมือกันปกป้องและรักษาสภาพแวดล้อมของโลกและการอยู่อาศัยให้ดียั่งยืนตลอดไป