อิหร่านเดือด!

อิหร่านเดือด!

การประท้วงอย่างกว้างขวางต่อต้านรัฐบาลที่อิหร่าน เป็นประเด็นร้อนเคียงคู่กับสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี

ตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นปี 2017 คาบเกี่ยวมาถึงปีใหม่ 2018

อิหร่านเดือด!

ขณะที่เขียนอยู่นี้ ยอดผู้เสียชีวิตที่อิหร่านอยู่ที่ 12 คน และผู้ประท้วงที่ถูกทางการจับหลายร้อยคน มาพร้อมข่าวว่าหน่วยรักษาความมั่นคงของรัฐบาล ได้ปักหลักสกัดกั้นผู้ประท้วงที่บางคนติดอาวุธพยายามจะเข้าไปยึดสถานีตำรวจและค่ายทหารบางแห่ง

อีกทั้งยังมีข่าวว่าหน่วยกำลังของทางการได้ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม บางกระแสข่าวบอกว่ามีการยิงกระสุนจริงใส่ผู้ประท้วงในบางเมืองกันแล้ว

สื่อตะวันตกอ้างว่า เป็นเพราะความไม่พอใจของประชาชน ต่อระบอบการปกครองที่รวมศูนย์ แต่ข่าวอีกกระแสหนึ่งบอกว่าความวุ่นวายครั้งนี้เกิดจากกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลเล็กๆ ที่ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐ และซาอุฯ ไม่ใช่เป็นเพราะความไม่พอใจของประชาชนส่วนใหญ่แต่ประการใด

อีกทั้งยังมีการอ้างว่าคนที่ยิงผู้ประท้วงนั้นไม่ใช่ทหารหรือตำรวจ หากแต่เป็นกลุ่มผู้ประท้วงเองที่ต้องการจะสร้างสถานการณ์ให้เลวร้ายกว่าที่ควรจะเป็น

ความรุนแรงในอิหร่านครั้งนี้ถือว่าร้ายแรงที่สุด ตั้งแต่การประท้วงหลังการเลือกตั้งปี 2009 ที่ประชาชนบางส่วนออกมาต่อต้านผลการหย่อนบัตร ที่เชื่อว่ามีการโกงกันในระดับกว้างขวาง

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อิหร่านก็ตกอยู่ในสภาพค่อนข้างจะสงบ แม้ว่าความไม่พอใจของประชาชนหลายกลุ่ม จะซุกตัวอยู่ในหลายระดับ รอวันปะทุ เมื่อมีเหตุที่จะรวมตัวกันเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

ครั้งนี้ ข้ออ้างของผู้ประท้วงคือ คอร์รัปชัน และ ราคาสินค้าประจำวัน ที่แพงเกินกว่าที่ชาวบ้านจะอดทนต่อไปได้

แต่ลึก ๆ แล้วเป้าหมายของผู้ประท้วงส่วนหนึ่ง ต้องการจะให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับนำ ซึ่งรวมไปถึง ผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณคือ อยาตอลเลาะห์ คาไมนี และประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ด้วย

เมื่อรัฐบาลออกมาเตือนว่าผู้ประท้วงจะเจอกับ “กำปั้นเหล็ก” หากทำอะไรฝ่าฝืนกฎหมาย และอ้างว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นผลของการแทรกแซงจากต่างประเทศ ก็ย่อมจะสะท้อนว่าวิกฤติการเมืองครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของความไม่พอใจ เกี่ยวกับปากท้องแต่เพียงอย่างเดียว

ยิ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งข้อความทวีตทำนองให้ท้ายผู้ประท้วงและกล่าวหาผู้ปกครองประเทศอิหร่านด้วยแล้ว ก็ยิ่งแสดงชัดเจนว่าความวุ่นวายครั้งนี้เป็นประเด็นสลับซับซ้อน มากกว่าเพียงการเรียกร้องสิทธิของประชาชนคนอิหร่านธรรมดา

นอกจากจะสงสัยว่าอเมริกาให้ท้ายผู้ประท้วงหรือเปล่า ยังมีความคลางแคลงว่าซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นคู่แค้นกันมายาวนานก็อาจจะมีความยินดีปรีดาหากความเคลื่อนไหวล่าสุดในอิหร่าน จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระดับนำของประเทศนั้น

อิหร่านได้สนับสนุนผู้ติดอาวุธในซีเรีย เยเมน และ เลบานอน โดยเฉพาะกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ มาตลอด จึงเท่ากับเป็นการเลือกจุดยืนอยู่คนละข้างกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีสหรัฐเป็นผู้หนุนหลังอย่างเต็มที่

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการประท้วงรอบนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด ขณะที่การชุมนุมเมื่อปี 2009 เป็นความริเริ่มของคนในเมืองหลวงเตหะราน

การรวมตัวของประชาชนครั้งนี้ในชนบทได้รับแรงสนับสนุนจากชนชั้นกลางในเมืองหลวง จึงทำให้เป็นปรากฏการณ์ที่ “จุดติด” ขึ้นมา จนทำให้ผู้นำระดับสูงตกตื่นพอสมควร เพราะคาดไม่ถึงว่าความไม่พอใจของประชาชนในต่างจังหวัดจะลุ่มลึกและกว้างขวางเพียงนี้

คนรุ่นใหม่อิหร่านที่ไม่พอใจระบอบการปกครองที่ค่อนไปทางรวมศูนย์ของฝ่ายผู้นำทางศาสนา ก็มีส่วนทำให้ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ได้รับการหนุนเนื่องจากชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ ๆ ด้วย

ข่าวกระแสหนึ่งบอกว่าคนที่ถูกตำรวจจับระหว่างประเทศครั้งนี้มีอายุเฉลี่ยเพียง 25 เท่านั้น สะท้อนถึงความรู้สึกหงุดหงิดงุ่นง่านของคนรุ่นใหม่ต่อวิถีการปกครองอิหร่านในวันนี้อย่างชัดเจน

ขึ้นปีใหม่มาเรื่องวุ่น ๆ ที่คนไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิดก็ประดังกันมาทีเดียวครับ!