สิทธิในการเลือกวิธีรักษา ตอน2(จบ): ถูก /แพง กับทางออก

สิทธิในการเลือกวิธีรักษา ตอน2(จบ): ถูก /แพง กับทางออก

เคยได้ยินบ่อยๆ ว่ายาแพงเป็นยาดี ยาถูกเป็นยาไม่ดี นี่เป็นความรู้สึกของคนทั่วไป พรรคพวกเพื่อนฝูงก็พูดให้ได้ยินบ่อยๆ ว่า

เจ็บป่วยครั้งนั้นใช้เงินไปหลายแสนเฉพาะค่ายาเม็ดละเป็นหมื่น ฉีดยาครั้งละเกือบแสน เหมือนจะบอกให้เรารู้ว่า ที่อยู่รอดปลอดภัยมานี้เพราะใช้ยาแพง ถ้าใช้ยาถูกๆ คงไม่ได้มีอายุยืนยาวอยู่รอดถึงวันนี้

จึงมีความคิดว่า จะดีหรือไม่ เมื่อเป็นความเข้าใจแบบนี้ ทางออกก็น่าจะให้แพทย์เป็นคนพูดคุยกับคนไข้ก่อนเลยว่าจะรักษาด้วยยาแบบนี้ ถ้าเป็นการใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือประกันสังคม หรือ สวัสดิการข้าราชการ แต่ถ้าคนไข้รับได้ในส่วนต่างจากการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวยาก็ต้องแพงขึ้น จะรับไหวหรือไม่ ถ้าคนไข้รับได้ก็ต้องช่วยรับผิดชอบส่วนต่างนั้น ถ้ารับไม่ได้ก็ใช้ยาตามสิทธิที่ได้รับ

เพราะมันก็เหมือนคุณเดินไปซื้อยาที่ร้านขายยาที่มีหลากหลายราคา หลายยี่ห้อ และต่างคุณภาพต่างคุณสมบัติกัน คุณก็เลือกเองได้ว่าอาการปวดหัวตัวร้อนท้องเสียเป็นไข้ คุณจะใช้ยาแบบไหน ร้านขายยาไม่ต้องตัดสินใจแทนคุณ คุณรับผิดชอบเอง อย่างนี้ก็น่าจะแฟร์กับทุกฝ่าย

เช่นเดียวกับการรักษาพยาบาล ที่ไม่เฉพาะเรื่องฟอกไต ถ้าแพทย์ได้อธิบายถึงข้อจำกัดจากสิทธิประโยชน์ให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจ และให้เขาตัดสินใจเองว่าจะรับการรักษาแบบไหน ถ้าเลือกใช้วิธีการที่ไม่มีสิทธิใช้บริการ ก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองเท่าที่เป็นส่วนต่างจากที่ได้รับจากสิทธิประโยชน์ที่มี อย่างนี้ ทุกฝ่ายก็น่าจะได้ประโยชน์และไม่ต้องมามีข้อพิพาทกันภายหลัง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรทำคือข้อตกลงระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ป่วยจะต้องชัดเจนว่าได้เห็นชอบร่วมกันเช่นนี้ เพื่อป้องกันเรื่องที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง และไม่สามารถยืนยันจากพยานบุคคลได้ พยานเอกสารจึงเป็นเรื่องจำเป็น

คิดว่า สปสช. น่าจะคิดได้ว่าสิทธิประโยชน์ตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น เป็นเพียงสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐให้ประชาชนอย่างทั่วถึงทุกคน แต่ถ้าผู้นั้นต้องการรับบริการรักษาพยาบาลที่สูงหรือดีมากไปกว่านั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ต้องตกลงกันเองกับทางโรงพยาบาล และเป็นผู้รับภาระเอง

อันนี้เป็นเรื่องที่นอกเหนือเรื่องการจ่ายร่วม เพราะการจ่ายร่วมหรือร่วมจ่ายนั้น เป็นหลักการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่การรักษาขั้นพื้นฐาน เพียงแต่ว่าเงื่อนไขการร่วมจ่ายระหว่างผู้มีรายได้น้อยกับผู้มีรายได้มากอาจมีระดับขั้นการร่วมจ่ายที่ต่างกันเท่านั้น แต่ถ้านอกเหนือจากการรักษาขั้นพื้นฐานแล้ว ส่วนที่เกินเพดานก็เป็นเรื่องที่ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบทั้งหมด

ถ้าเป็นอย่างนี้ คนไข้ก็ทราบล่วงหน้าและตัดสินใจได้ ส่วนโรงพยาบาลก็ทำตามขีดความสามารถในการให้การรักษาพยาบาลพร้อมบริการที่สมเหตุสมผล และไม่ต้องมีหนี้ท่วมหัวที่ทำให้มีผลกระทบไปถึงสภาวะการครองชีพของบุคคลากรของโรงพยาบาล ที่อาจกลายเป็นบูมเมอแรงย้อนกลับมาหาผู้รับบริการได้เช่นกัน

ในโลกแห่งความเป็นจริง เราไม่สามารถได้ทุกสิ่งที่สมบูรณ์แบบ อยากได้อยากเป็น สิ่งที่เราได้ เป็นเพียงสิ่งที่เราทำได้ในสภาวะที่มีข้อจำกัด ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งเหมือนกันทั้งสิ้น ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ระบบการล้างไตทางหน้าท้องอาจต้องเปลี่ยนเป็นล้างไตทางหลอดเลือด

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 55 ถึงสามวรรค วรรคแรก...รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด วรรคสอง...บริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง ต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม และป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย

และวรรคสาม...รัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามวรรคสามนี้ น่าจะมีความหมายว่าการบริการสาธารณสุขจะอยู่นิ่งไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบประกันสุขภาพหรือไม่ก็ต้องพัฒนาให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. คงจะอยู่นิ่งไม่ได้ ให้บริการแบบเดิมๆโดยไม่มีการพัฒนาไม่ได้ ทำบ้างไม่ทำบ้าง พัฒนาบ้างไม่พัฒนาบ้าง ก็คงไม่ได้ ระบบสาธารณสุขต้องมีความเป็นพลวัตมากขึ้น วิธีการรักษาพยาบาลแบบเดิมๆ ถ้ามีระบบการรักษาพยาบาลใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ก็ต้องนำมาพัฒนาใช้ประโยชน์

ถ้า สปสช. ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการล้างไตทางหน้าท้องดีกว่าการล้างไตทางหลอดเลือด ก็ต้องนำวิธีการล้างไตทางหลอดเลือดมาใช้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจไม่เป็นไปตามวรรคสามของ มาตรา 55 ของรัฐธรรมนูญที่เพิ่งประกาศวันนี้

พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 มีหลายมาตราที่อาจนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการปฏิเสธการรักษาที่ไม่ต้องการได้ อาทิ ม.8 บัญญัติไว้ว่า ในการบริการสาธารณสุข บุคคลากรด้านสาธารณสุขต้องแจ้งข้อมูลด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการให้ผู้รับบริการทราบอย่างเพียงพอที่ผู้รับบริการจะใช้ประกอบการตัดสินใจในการรับหรือไม่รับบริการใด และในกรณีที่ผู้รับบริการปฏิเสธไม่รับบริการใด จะให้บริการนั้นไม่ได้ ม.11 วรรคแรก บัญญัติว่า บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมิน และมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ และ ม.25(2) บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมีอำนาจเสนอแนะหรือให้คำปรึกษาต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ

จึงเห็นได้ว่า ผู้ป่วยย่อมปฏิเสธไม่ใช้บริการล้างไต (CAPD-First) ตามที่ สปสช.กำหนดได้ เพราะกฎหมายมาตรา 8 รับรองสิทธิเช่นว่านั้น และเมื่อเป็นเช่นนี้ สปสช. จะอ้างว่าไม่ดำเนินการตามที่ สปสช. กำหนด และจะไม่จ่ายค่าบริการให้สถานพยาบาลเมื่อดำเนินการโดยวิธีอื่นคงไม่ได้ นอกจากจะมีเหตุผลอย่างอื่น และจาก มาตรา 8 ก็ทำให้ใครก็ได้มีสิทธิที่จะให้มีการประเมินนโยบายของ สปสช. ที่บังคับให้ใช้การล้างไตทางหน้าท้อง (CAPD-First) ก่อน เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายสาธารณะ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยสามารถเข้าร่วมกระบวนการประเมินได้ด้วย

ถ้าเรื่องการบริหารจัดการของสปสช.เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการตามนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ ก็อาจส่งเรื่องถึงคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติให้พิจารณาการทำหน้าที่ของ สปสช.ได้อีกด้วย จึงขอฝากแนวคิดนี้ ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องการให้ สปสช. ยกเลิกกระบวนการรักษาที่ไม่พึงประสงค์นี้