ของขวัญปีใหม่ที่คนไทย สังคมไทยอยากได้

ของขวัญปีใหม่ที่คนไทย  สังคมไทยอยากได้

คงไม่สามารถอวดรู้ไปได้ทุกอย่าง หรือเอาตัวเองเป็นที่ตั้งแล้วบอกกับใครๆ ได้ว่า

สิ่งที่จะเขียนต่อไปเป็นเรื่องที่คนไทย หรือสังคมไทยอยากได้อย่างถูกต้องไร้ที่ติ

แต่เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า หากสิ่งที่จะเขียนถึงนี้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทย ประชาชนคนไทยและสังคมส่วนรวมจะมีความสุข และน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกว่านี้

ประการแรก ลด ละ เลิก ความ “มักง่าย ใจเร็วด่วนได้” ทั้งหลายทั้งปวง

ขอเรียนว่ามิใช่คำด่าทอ หรือติฉินนินทาว่าร้ายใคร แต่ความ “มักง่าย” อาจไปพ้องกับภาษาอังกฤษว่า carelessly ซึ่งหมายถึงความ ประมาท ความไม่ระมัดระวัง

คนในสังคมบางทีชอบ “สร้างข่าว” หรือ “สร้างความตระหนกตกใจเพื่อฉกฉวยโอกาสในการโฆษณาประชาสัมพันธ์งานของตัวเอง” ด้วยความ มักง่าย คิดว่า คำว่าร้ายไม่นานนักก็หายไปเพราะถือคติ “คนไทยลืมง่าย” แต่เราทั้งหลาย “ป้องกันได้ แก้ไขที่ตัวตนแต่ละคนได้”

ตัวอย่างเห็นได้ชัด กรณี 7 วันอันตรายที่มีให้พูดถึงกันทุกเทศกาล จะบังคับไม่ให้นั่งท้ายกระบะ ก็มองว่าเป็นการกีดกั้นขัดขวางคนยากไร้ ทั้งที่เรื่องที่ว่าไม่ใช่เรื่องของฐานะความมั่งมีใดๆ เป็นเรื่องของความปลอดภัย แต่คนไทยบางกลุ่ม เลือกเอาความสะดวกสบาย ที่ก้ำกึ่งกับคำว่า “มักง่าย” เป็นที่ตั้งมากกว่า ความห่วงใยในชีวิตทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่น

แม้แต่ในการปฎิรูปประเทศ บางคณะยังมีการคุยกันทำนองว่า สังคมไทยบังคับใช้กฎหมายยาก เพราะมี ผู้มีอิทธิพลไปกำหนดให้เขาแบ่งงบประมาณลอยตัว เขาจะไม่ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ต้องกำหนดตัวเลขไปเลยว่าต้องให้มาเท่าใด โดยไม่ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะคนคิดเขาตั้งสมมติฐานว่า สังคมไทยจะต้องเป็นเช่นนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

แต่หากเราเชื่อว่า “เราทำได้” เราต้องทำได้ ไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ หรือคิดแบบไสยศาสตร์ เพราะเมื่อเริ่มคิดเช่นนี้ ก็ย่อมมีการแสวงหาหนทางวิธีการในการบรรลุเป้าหมายให้ได้ แต่ถ้าคิดแบบที่ตั้งสมมติฐานกันนั้น ก็ง่าย ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องคิดอะไรกันมากมาย

ประการที่สอง ลด ละ เลิก “ความเห็นแก่ตัว”

จริงๆ อยากให้อยู่ในข้อแรก แต่เกรงว่าจะเขียนเครอบจักรวาลเกินไป เลยอยากจะนำมาขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะโดยหลักการนั้นใครเห็นแก่ตัวแล้วไซร้ ย่อมทำทุกอย่างโดย “เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง” ขาด “จิตสาธารณะ” ขาด “ความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจผู้อื่น” จะเห็นได้ว่าเป็นพิษร้าย และเป็นสิ่งที่ยอมรับกันว่า มีอยู่ในตัวตนของมนุษย์ทุกคน จึงบอกให้เลิกได้ยาก

แต่การบอกให้ “ลด ละ เลิก” พฤติกรรมที่เป็นพิษเป็นภัยเยี่ยงนี้ได้ ย่อมนำมาซึ่งความผาสุก การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรได้ ดังโครงการส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวิชราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร ที่คนไทยทุกหมู่เหล่าได้มีส่วนร่วมในการทำความดีเพื่อส่วนรวม

่หากพวกเราเดินทางสัญจรใช้รถใช้ถนน เราจะพบพฤติกรรมน่ารังเกียจ ความไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความไร้วินัย

เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีรถหรูราคาแพงจอดรับลูกหลานอยู่ข้างทางโดยประมาทไม่มีการให้ไฟสัญญาณ ทำให้รถจักรยานยนต์ที่วิ่งมาหลบหลีกไม่ทันเข้าไปชนในลักษณะหักหลบแล้วแต่ผู้ขับขี่ก็เสียชีวิตไป ยังมีพฤติกรรมเยี่ยงนี้อีกมากทั้งการจอดรถในที่ห้ามจอด ใช้ที่จอดแท็กซี่รอรับลูกหลานญาติมิตรใต้ทางรถไฟฟ้า การขับรถคร่อมเลนเกรงว่าคนอื่นจะได้ทาง หรือเกรงว่ารถที่แซงไปจะไปขวางทางของตน การปกปิดซ่อนเร้นตัวเองในฟิล์มทึบแสง อ้างความเป็นส่วนตัว สิทธิมนุษยชน

ข้ออ้างเหล่านี้อาจกลายเป็น “ภัยสังคม” เมื่อเกิดอาชญกากรรม เช่น ชนแล้วหนี การเกิดวิวาทกันในทางสัญจร เพราะความทึบแสงของฟิล์มที่ไม่อาจเรียกว่าฟิล์มกรองแสงนี้ จะช่วยซ่อนเร้น และเมื่อขึ้นโรงขึ้นศาลก็ยากที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษด้วยเหตุแห่ง “ความสงสัย” คือ ขาดประจักษ์พยานที่จะห็นได้อย่างเด่นชัด การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาก็ทำได้ง่ายดาย

ประการที่สาม เชื่อว่า คนไทย สังคมไทย ต้องการ “ความจริงใจ การไม่พูดปดมดเท็จ เอารัดเอาเปรียบกัน”

สิ่งที่กล่าวถึงนี้เป็น “หนึ่งในศีลห้า” ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ได้ให้แนวทางในการปฎิบัติตนเพื่อสันติสุขของสังคมมาเป็นเวลาช้านาน แต่สำหรับสังคมไทยของเราในทุกวันนี้ ปรากฏทั้งแชร์ลูกโซ่ การหลอกลวงต่างๆ นานา ในสื่อเอง ในช่องเคเบิลทีวีหลายแห่ง โฆษณาขายของทั้งเครื่องมือ เครื่องใช้ กระทั่งยาบำรุงร่างกายอวดอ้างสรรพคุณ ลามปามไปถึงเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้ง โดยไม่มีผลการทดสอบหรืองานศึกษาวิจัยใดๆ มารองรับ

ประการที่สี่ เราอยากเห็นคนไทยทุกคนทำหน้าที่ของตนเองด้วย “ความรับผิดชอบ”

เราอาจเคยได้ยินคำพระที่ให้ศีลให้พรว่า “ ไปไหนมาไหนก็ให้พบแต่สิ่งดีๆ เจอแต่คนดี” หากเราฟังแล้วผ่านหูไปโดยไม่คิดตริตรองก็คงไม่รู้สึกรู้สาอะไร แต่ การได้พบเจอ “แต่คนดีๆ” ถือว่าเป็นกุศลและเป็นบุญยิ่งนัก

หลายครั้งหลายเหตุการณ์ คนที่ถูกจี้ปล้น ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกระทำต่างๆ นานา ก็เพราะเขาอยู่ไม่ถูกที่ถูกเวลา ไปเจอกับคนไม่ดี หรือไปคบหากับคนไม่ดี ซึ่งตรงนี้ไม่อยากให้คิดไปถึงการสร้างกลุ่มก๊วน หรือ การเลือกคบคนที่ทรัพย์สิน สถานภาพทางสังคมอย่างที่เป็นปัญหาให้เห็นกันอยู่เนืองๆ เพราะคำว่า “ความรับผิดชอบ” ไม่เกี่ยวกับเรื่องการมีทรัพย์มากหรือมีสถานภาพทางสังคมที่สูง

เราคงเห็นเด็กนักเรียนเก็บเงินนับหมื่นบาทแต่ได้ค่าตอบแทนไม่มากนัก แต่เขาก็ดีใจไม่อิดเอื้อนที่จะทำความดี ต่างกับการทำความดีแบบ “เสแสร้งแกล้งทำ” ที่หลายคร้งก็เป็นข่าวครึกโครม เพราะไม่อาจแอบแฝงซึ่งผลประโยชน์ส่วนตนเอาไว้ได้มิดชิด หากทุกคนทำหน้าที่ในความดูแลรับผิดชอบ เหมือนอย่าง “ศีลห้า” หรือ หน้าที่ของความเป็นคนไทยที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ก็เชื่อว่า เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ในเร็ววัน

ที่น่าประทับใจและเห็นควรแยกแยะมาเป็นประเด็นเฉพาะต่างหาก เนื่องด้วยเคยให้ทรรศนะในบทความก่อนหน้านี้ว่า คนในประเทศญี่ปุ่นเมื่อสวดมนต์ไหว้พระ พรที่เขาจะขอจะเป็นการ ขอให้ประเทศชาติบ้านเมืองมีความเจริญรุดหน้า เพราะเชื่อว่าหากชาติบ้านเมืองเจริญสงบสุข ชีวิตประชาชนทุกหมู่เหล่าในสังคมจะสงบสุขตามไปด้วย ก็ปรากฏแล้วว่า ในวันศุกร์ที่คนไทยจำนวนหนึ่งไปเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษฝรั่ง มีคนไทยอีกส่วนหนึ่งรวมทั้งผู้เขียนเอง ได้ไปร่วมสวดมนต์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ได้มีโอกาสฟังคำเทศนาของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ความตอนหนึ่งว่า

“ให้คนไทยตั้งจิตให้แน่วแน่ในการทำความดี และขอน้อมนำจิตใจให้ชาติบ้านเมืองของเรามีความสุชความเจริญ” ถือได้ว่าเป็น พระราชดำรัสที่เปลี่ยนแนวทางความเชื่อของคนไทยจำนวนหนึ่งที่ทำบุญด้วยความคาดหวังให้ตัวเองเป็นสำคัญ หากคนไทยเปลี่ยนแนวคิดเช่นนี้ได้ เราอาจได้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก่อนหลายประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงในเร็ววันนี้