จับตา 5 สถานการณ์โลก ปี 2561

จับตา 5 สถานการณ์โลก ปี 2561

จับตา 5 สถานการณ์โลก ปี 2561

ปี 2560 เป็นปีทองของการลงทุน ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกล้วนปรับขึ้นถ้วนหน้า พร้อมกับความผันผวนที่ทุบสถิติต่ำสุด ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวตลอดปี ทำให้ดัชนี MSCI All Country ขึ้นกว่า 21.7% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยก็ไม่น้อยหน้า แม้จะมาช้า แต่สามารถปรับขึ้นได้ถึง 13.7%

นักลงทุนต่างได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ตามสินทรัพย์ ตลาด และเวลาที่ลงทุน พอเข้าปีใหม่ ผลตอบแทนที่เคยได้เริ่มถูกลืมเลือน กลับเข้าสู่เวลาแห่งการเริ่มต้นลงทุนและเป็นที่มาของความกังวลว่า เศรษฐกิจจะดีต่อเนื่องไหม และราคาหุ้นที่ขึ้นมาแล้วจะเดินหน้าต่อไหม หรือราคาสินทรัพย์ทุกชนิดจะพร้อมใจปักหัวลง

เศรษฐกิจและตลาดการเงินในภาพรวม น่าจะมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง แม้จะไม่ร้อนแรงเท่าปีที่ผ่านมา และมี 5 สถานการณ์โลก ที่น่าจับตา ดังนี้

  1. ปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนราคาหุ้นให้ไปต่อ – สิ่งแรกที่ต้องยอมรับคือ ราคาหุ้นในหลายตลาด โดยเฉพาะสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต โดยดัชนี S&P500 มี P/E Ratio ที่ 18.4 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ที่ 14.9 เท่า ดังนั้น ตลาดหุ้นอาจจะไม่ตั้งหน้าตั้งตาวิ่งขึ้นเหมือนปีที่แล้วและอาจปรับฐานเป็นระยะ ซึ่งน่าจะเป็นเพียงระยะสั้น ตราบเท่าที่พื้นฐานหลักอย่างโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกรวมทั้งกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังเติบโต สนับสนุนด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทำให้บรรยากาศลงทุนยังอยู่ในทางบวก
  2. ความผันผวนของตลาดสูงขึ้น – ความไม่สงบทางการเมืองระหว่างประเทศ อาจสร้างความกดดันให้ตลาดเป็นระลอก แม้ผลกระทบต่อตลาดหุ้นจะจำกัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่มีน้ำหนักมากกว่าคือ นโยบายกีดกันการค้า (Protectionism) ที่จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง นอกจากนี้ นโยบายการเงินที่เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ (Normalization) รวมถึงการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจตัดสินใจ เช่น นายโพเวลในตำแหน่งประธาน FED หรือความเป็นไปได้ที่นายคุโรดะจะได้เป็นประธาน BOJ อีกสมัย อาจทำให้ตลาดผันผวน เพราะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย หลังจากผ่อนคลายมายาวนาน ซึ่งในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ มีโอกาสที่ธนาคารกลางจะดำเนินนโยบายผิดพลาด
  3. อัตราดอกเบี้ยยังต่ำต่อ – แม้ FED Fund rate จะอยู่ทิศทางขาขึ้น และธนาคารกลางในเศรษฐกิจหลักมีท่าทีจะยุติหรือลดนโยบายผ่อนคลายลง แต่หากพิจารณาระดับดอกเบี้ยปัจจุบัน ก็ยังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับอดีต อีกทั้ง นายโพเวล ที่จะรับตำแหน่งประธาน FED ก็มีท่าทีจะขยับดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้พฤติกรรม Search for yield ยังคงอยู่ คือนักลงทุนจะเปิดรับความเสี่ยงเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ย
  4. ระดับหนี้สูงขึ้น – ความเสี่ยงที่ยากจะแก้ไขในระยะสั้นคือ การปรับขึ้นของระดับหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ภาครัฐฯ หรือเอกชน ประเทศที่โลกให้ความสนใจมากที่สุดคือ จีน ซึ่งมีหนี้ภาคเอกชนสูงถึง 159% ของ GDP ในปี 2559 ซึ่งปรับขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 119% ในปี 2554 ทำให้รัฐบาลจีนต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง โดยธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) เปิดเผยว่า หนี้ภาคเอกชนของจีนในปี 2560 อาจสูงถึง 169% ของ GDP สุ่มเสี่ยงต่อวิกฤติธนาคาร ขณะที่หนี้ภาครัฐฯ ของญี่ปุ่นสูงถึง 222% ณ สิ้นปี 2559 เพิ่มจาก 206% ภายใน 5 ปี ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต ฝั่งหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ปรับขึ้นอย่างมีนัยจาก 68% ในปี 2554 มาที่ 77% ในปี 2559 ทั้งนี้ การปฏิรูปภาษีจะกดดันงบประมาณขาดดุล และรัฐบาลอาจจำเป็นต้องเพิ่มเพดานหนี้ขึ้นอีก
  5. อัตราแลกเปลี่ยนจะเหวี่ยงสูง – การคาดการณ์ค่าเงินทำได้ยากเพราะปัจจัยขับเคลื่อนไม่ใช่เพียงเศรษฐกิจ แต่รวมไปถึงการเมือง นโยบายพิเศษ ตลอดจนการแทรกแซงตลาด ปี 2560 ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าต่อเนื่อง Dollar Index ที่เทียบสกุลเงินหลัก (เช่น ยูโร ปอนด์สเตอร์ลิง และเยน) อ่อนค่า 9.9% ค้านทุกทฤษฎีที่ว่า ค่าเงินจะแข็งขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเติบโตและดอกเบี้ยอยู่ในขาขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าไปล่วงหน้าช่วงแรกที่ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง และตลาดคาดหวังสูงต่อแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2561 นี้ ความไม่แน่นอนในทิศทางค่าเงินจะยังต่อเนื่อง จากนโยบายการเงินที่สวนทางกันในหลายๆ ประเทศ และความเร็วในการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน

เช่นนี้ การลงทุนด้วยความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง ยังเป็นคำตอบที่ดีสำหรับความมั่งคั่งที่ยั่งยืนต่อไป