Non-Founder CEO จุดเปลี่ยนสตาร์ทอัพ

Non-Founder CEO จุดเปลี่ยนสตาร์ทอัพ

หลายคนอาจตั้งคำถามว่าที่จริงแล้วจุดเปลี่ยนควรอยู่ตรงไหน “โตแล้วต้องเปลี่ยน” หรือ “เปลี่ยนแล้วถึงจะโต”

ปีนี้เป็นปีที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของซูเปอร์ยูนิคอร์นหลายรายที่เติบโตจากการเป็น Tech Startup มาจนถึงวันนี้ที่มูลค่าบริษัทไปไกลเลยคำว่า “สตาร์ทอัพ” ไปแล้วหลายเท่าตัว การเปลี่ยนแปลงที่ว่าก็คือ Founder ก้าวลงจากตำแหน่ง CEO และส่งต่อบทบาทการบริหารจัดการธุรกิจให้กับมืออาชีพเข้ามารับช่วงต่อ โดยยังคงเหลือไว้แค่บทบาทของการเป็นบอร์ดบริหารหรือประธานคณะกรรมการบริษัท Uber เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ Founder ต้องสละตำแหน่งภายใต้สภาวะกดดันรอบด้าน ในเอเชียก็เช่นกัน ยักษ์ใหญ่ eCommerce อย่าง Flipkart ที่เอามืออาชีพมาสวมแทน CEO หรือ Ola ยูนิคอร์นคู่แข่งรายสำคัญของ Uber ที่เปลี่ยนตัวผู้บริหารโดยเอาคนนอกจาก Pepsi co เข้ามาบริหารแทน

ความจริงก็คือไม่มีหลักการตายตัวสำหรับเรื่องนี้ เพราะเรายังเห็น Founder CEO ที่ประสบความสำเร็จมากมายและก็ยังอยู่ในบทบาทที่กำหนดทิศทางบริษัทและบริหารงานไปพร้อมๆ กันไม่ว่าจะเป็น CEO ของ Facebook, Amazon, Alibaba และอีกหลายบริษัท Ben Horowitz นักลงทุน ผู้ร่วมก่อตั้ง Andressen Horowitz ซึ่งเป็บริษัท VC ที่ทรงอิทธิพลที่สุดรายหนึ่งของโลกวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ให้ระวังสิ่งที่เขียนไว้ในตำราหรือการเดินตามรูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจของบริษัทอื่น เพราะที่จริงแล้วแต่ละธุรกิจต้องการ CEO ที่เหมาะกับสถานการณ์บริษัทที่แตกต่างกันออกไป

ในวันที่ธุรกิจเดินมาถึงจุดเปลี่ยน เช่น ในช่วงเวลาของการเติบโตและมีความได้เปรียบในตลาด คุณสมบัติของ CEO ที่ธุรกิจต้องการคือคนที่มีวิสัยทัศน์มองภาพใหญ่ มีทักษะในการบริหารจัดการคนและทรัพยากร สามารถใช้กลยุทธได้อย่างลงตัวเพื่อทำให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว  ในขณะที่ช่วงเวลาของการแข่งขันอย่างดุเดือดเพื่อชิงความเป็นเจ้าตลาดหรือรักษาฐานที่มั่นของตลาดเดิม อาจจะต้องการ CEO ที่ใส่ใจในรายละเอียดและพร้อมจะเปลี่ยนกลยุทธ์ตลอดเวลา รวมถึงพร้อมที่จะทำสงครามกองโจรเพียงเพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอดและแย่งชิงฐานลูกค้ามาให้ได้ ความสามารถด้านการบริหารอาจไม่ได้มีความสำคัญเท่าความเด็ดขาดในการตัดสินใจ เพราะในช่วงเวลาคับขัน เหมือนอยู่ในสภาวะศึกสงคราม การตัดสินใจเด็ดขาดและการสั่งการฉับไว อาจเป็นสิ่งเดียวที่จะพาธุรกิจให้ไปรอด บทสรุปก็คือในแต่ละก้าวของธุรกิจจำเป็นต้องเลือกใช้ CEO ที่เหมาะกับสถานการณ์

ไม่ว่าสตาร์ทอัพ ในช่วง Growth Stage หรือธุรกิจที่กำลังจะ Exit ด้วย IPO หรือ M&A นิยามของความสำเร็จขึ้นอยู่กับหมากตัวสำคัญนั่นก็คือผู้นำแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ทุกคนมีจุดแข็งและมีข้อจำกัดของตัวเอง ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ ที่มี Passion และความโดดเด่นในด้าน Technology สามารถนำทีมให้พัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีได้อย่างหาใครเทียบไม่ได้ อาจไม่เหมาะกับการนำทีมในระยะเวลาที่ธุรกิจกำลังจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเช่น การเข้า IPO หรือ ควบรวมกิจการ ในทางกลับกันธุรกิจที่บริหารจัดการได้ดีแต่กลับถูกคู่แข่งรายเล็กกว่าแทรกเข้ามาเป็นผู้เล่นรายสำคัญในตลาด ด้วยจุดแข็งทางเทคโนโลยีที่แตกต่างและตอบโจทย์ ทำให้ธุรกิจอยู่ในสภาวะเสียศูนย์ ทีมงานขาดความเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นรากของความสำเร็จเดิม นั่นอาจเป็นสัญญาณว่า Founder ตัวจริงเสียงจริงที่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทมาด้วยการใช้เทคโนโลยีที่โดดเด่น อาจจะต้องกลับมากุมบังเหียนอีกครั้งก็ได้

สิ่งที่ Founder ต้องเข้าใจ และยอมรับ คือ CEO ของบริษัท ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดิมตลอดไป ผู้นำทุกคนมีจุดแข็ง จุดอ่อน ยิ่ง Founder ประเมินสถานการณ์ได้ดีและยอมรับที่จะปรับเปลี่ยนมากเท่าไหร่ ความสำเร็จก็จะยิ่งเห็นเป็นภาพเด่นชัดมากเท่านั้น!