ภูมิลักษณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2018-20

ภูมิลักษณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2018-20

ในฐานะที่ทำงานอยู่ในสายกลยุทธองค์กร หนึ่งในงานที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายคือการมองภาพภูมิลักษณ์เศรษฐกิจโลกใน 3 ปีข้างหน้า

เพื่อใช้เป็นฐานในการวางแผนระยะยาว ผู้เขียนจึงขอแบ่งปันมุมมองดังกล่าวในบทความนี้

การจะมองภาพใน 3 ปีข้างหน้าได้นั้น อย่างน้อยที่สุดต้องลองมองย้อนกลับไปใน 3 ปีก่อนหน้า โดยในช่วงปี 2015-17 ที่เพิ่งจบลงไปนั้น เศรษฐกิจโลกได้รู้จักกับคำว่า“New Normal” ซึ่งมีลักษณะ 4 ประการคือ

หนึ่ง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจน้อยลง ผลจากภาวะสังคมสูงวัย (Aging society) ปัญหาการเมืองในสหรัฐ เช่น ภาวะหน้าผาการคลัง (fiscal cliff) ปัญหาฟองสบู่อสังหาฯ แตกในจีน และการส่งออกในตลาดเกิดใหม่ที่ลดลง

สอง การค้าน้อยลง ซึ่งเป็นผลทั้งจาก (1) เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและกระทบกำลังซื้อ (2) ความไร้ประสิทธิภาพขององค์การการค้าโลก และ (3) กระแสการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น ซึ่งรุนแรงสุดในปี 2016 และนำมาสู่ปรากฎการณ์ Brexit และประธานาธิบดีทรัมพ์

สาม ราคาโภคภัณฑ์ถูกลง โดยราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยลดลงเหลือ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากที่เคยอยู่ที่ระดับ 100 ดอลลาร์ ผลจากเทคโนโลยีการขุดน้ำมันใต้หินดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐ ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น เช่น โลหะหนัก โลหะมีค่า และธัญพืชก็ลดลงเช่นกันจากความต้องการในจีนที่ลดลง

สี่ การอัดฉีดทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกผ่านการลดดอกเบี้ยจนติดลบ และการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกดผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและดอกเบี้ยตลาดการเงินทั่วโลกตกต่ำ

ภาพทั้งสี่ถึงจุดเปลี่ยนในปี 2017 ที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจทั่วโลกขยายตัวพร้อมกันเป็นครั้งแรก (Global synchronized growth) ซึ่งโมเมนตัมดังกล่าว น่าจะดำเนินต่อไปในปี 2018 แต่ในมุมมองส่วนตัวของผู้เขียน เป็นไปได้สูงที่ในปี 2019-20 เศรษฐกิจโลกจะกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง จาก 4 ปัจจัย ดังนี้

หนึ่ง ความตึงตัวของภาคการเงินในจีน ผลจากปัญหาหนี้ประชาชาติ (ทั้งรัฐ เอกชน และครัวเรือน) ที่อยู่ในระดับสูงถึงกว่า 260% ของ GDP จากการที่รัฐบาลจีนผลักดันให้รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจลงทุน (โดยเฉพาะในภาคอสังหาฯ) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

หนี้ที่สูงเช่นนี้ทำให้จีนเสี่ยงต่อฟองสบู่หนี้ที่จะแตกลงและกระทบเศรษฐกิจในวงกว้าง ทำให้จีนจำเป็นต้องชะลอการกู้หนี้ของเอกชนโดยดันดอกเบี้ยในตลาดการเงินให้สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของภาคเอกชนในจีน ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอลง และอาจโตต่ำกว่าระดับ 6% ในบางปี

สอง วัฏจักรเศรษฐกิจสหรัฐที่แกว่งตัวแรง (Boom-bust Cycle) ผลจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเต็มศักยภาพแล้ว ได้รับแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากมาตรการปฏิรูปภาษีของรัฐบาลทรัมพ์ ซึ่งโดยหลักคือลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เป็น 21% และลดทอนช่วง (Bracket) ของการจ่ายภาษีบุคคลธรรมดาลง

มาตรการดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเกินปัจจัยพื้นฐานในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ทำให้เงินเฟ้อเร่งขึ้น และทำให้ธนาคารกลาง (Fed) อาจจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นถึง 8 ครั้ง (รวม 200 bps) ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เศรษฐกิจภายในของสหรัฐอาจชะลอลงแรง ซึ่งจะผสานแรงกับการตึงตัวของภาคการเงินจีนและทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงได้

สาม นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของธนาคารกลางชั้นนำ ถ้าไม่นับ Fed และธนาคารกลางจีน (PBOC) แล้วนั้น อีก 2 ธนาคารกลางชั้นนำที่ยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอยู่ได้แก่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และญี่ปุ่น (BOJ) ที่ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับติดลบ และดำเนินมาตรการ QE อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญคือ ทั้งคู่ต่างเข้าซื้อสินทรัพย์จนแทบหมดตลาด โดยปริมาณพันธบัตรเยอรมนีที่ ECB จะสามารถเข้าซื้อจากตลาดรองจะหมดลงในกลางปีนี้ (แม้ว่า ECB จะสัญญาว่าจะเข้าซื้อถึงเดือนกันยายนก็ตาม) ส่วน BOJ ในปัจจุบันก็เป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) รายใหญ่ที่สุด และเหลือ JGB ให้ซื้อในตลาดรองได้อีกไม่มากนัก

ปัญหาดังกล่าวจะทำให้ธนาคารกลางทั้งสองจำเป็นต้องยุติการดำเนินนโยบายดังกล่าวในไม่ช้า ซึ่งเมื่อรวมสหรัฐที่จะขึ้นดอกเบี้ยและลดทอนปริมาณพันธบัตรในงบดุลลงแล้วนั้น จะยิ่งทำให้ปริมาณสภาพคล่องทั่วโลกที่เคยถูกอัดฉีดจากธนาคารกลางชั้นนำเฉลี่ยประมาณปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหมดลงในปลายปีนี้ ซึ่งจะนำมาสู่ความผันผวนในตลาดการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดหุ้นที่ราคาในปัจจุบันสูงเกินมูลค่าพื้นฐานค่อนข้างมาก

สี่ ปริมาณการค้าโลกที่อาจเริ่มชะลอลงจากปี 2017 โดยในปีที่ผ่านมา การค้าทั่วโลกขยายตัวประมาณ 4.5% ขยายตัวสูงกว่า 2 ปีก่อนที่อยู่ที่ประมาณ 2.3% มาก โดยได้อานิสงส์จากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นขาขึ้น กระแส Internet of Things และราคาโภคภัณฑ์ที่เป็นขาขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันและโภคภัณฑ์หนัก (หรือโลหะอุตสาหกรรม เช่น ทองแดง) หลังจากตกต่ำใน 2 ปีก่อน

แต่ในอีก 3 ปีข้างหน้า มูลค่าการค้าโลกอาจไม่สามารถสูงขึ้นได้อีกมาก จาก (1) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่สามารถปรับสูงขึ้นได้มากจากปัจจัย Shale oil ที่พร้อมกลับมาหากราคาสูงขึ้น (2) วัฐจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่แม้อาจขยายตัวต่อได้จากการเปิดตัวของ Feature ใหม่ ๆ อย่าง Window 10 และมือถือ 5G แต่ความต้องการสินค้าอาจไม่สูงเท่าในปีที่ผ่านมา และ (3) กระแสกีดกันทางการค้าที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้งหลังจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ร้อนแรงจะทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ามากขึ้นและจะเริ่มมาตรการตอบโต้ทางการค้าทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษีที่มากขึ้น

การเงินโลกที่ตึงตัว Boom-bust Cycle และการค้าโลกที่ชะลอลง อาจเกิดขึ้นใน 3 ปีข้างหน้า นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบาย โปรดพึงระวัง

[1] บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่