การลงทุนในบิทคอยน์

การลงทุนในบิทคอยน์

เหรียญมีสองด้านเสมอ แม้กระทั่งเหรียญที่เรียกกันว่าบิทคอยน์ ก็ย่อมต้องมีสองด้าน

เป็นที่น่าเสียดาย ที่ด้านของเหรียญบิทคอยน์ ที่กำลังถูกสะท้อนอยู่ในสังคมไทย มาเป็นช่วงเวลาเกือบปีหนึ่งแล้ว กลับเป็นด้านของความโลภ การเก็งกำไร การรวยทางลัด ฟองสบู่ และกระทั่งการผิดหวัง

แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญบิทคอยน์ ซึ่งเป็นคุณประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่บิทคอยน์ได้ถูกออกแบบมา กลับได้เลือนหายออกไปจากการตระหนักรู้ของสังคมไทย เพราะแท้ที่จริงแล้ว "บิทคอยน์" ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเป้าหมายของการเก็งกำไรตามที่หลายคนอาจเข้าใจกัน แต่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไข “ปัญหา” ที่สำคัญบางประการของระบบการเงินโลก

บิทคอยน์ คือปรากฏการณ์แรกของสกุลเงินเข้ารหัส (Cryptocurrency) อย่างกระจายอำนาจ (Decentralized) ซึ่งเป็นสกุุลเงิน (Currency) ที่ใช้การเข้ารหัส (Cryptography) เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับระบบเครือข่ายทางการเงิน ที่อาศัย บล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่ถูกบริหารอย่างกระจายอำนาจ โดยคอมพิวเตอร์นับล้านเครื่อง ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจบริหารจัดการของคนใดคนหนึ่ง

วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของบิทคอยน์ คือ ถูกออกแบบให้เป็น เงินสกุลใหม่ ที่ปราศจากการควบคุมของรัฐบาล หรือธนาคารกลาง หรือใครที่จะมาทำหน้าที่มาเป็นผู้ควบคุม ติดตาม หรือกระทั่ง สืบสวน เพราะบล็อกเชน เป็นระบบประชาธิปไตย ที่ต้องอาศัยการโหวตของคอมพิวเตอร์นับล้านเครื่อง และถูกปกป้องจากการถูกแทรกแซงด้วยการเข้ารหัส ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสกุลเงินเข้ารหัสทุกประเภท

เนื่องจากไม่มีผู้ควบคุม จึงไม่มีผู้ใดที่จะสามารถแทรกแซงบิทคอยน์ ด้วยการควบคุมปริมาณ พิมพ์เงินเพิ่ม กำหนดค่าธรรมเนียม อัตราแลกเปลี่ยน หรือกระทั่ง ภาษี ผู้ที่ริเริ่มบิทคอยน์ เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเชื่อว่า การเข้ามาแทรกแซงสกุลเงินโดยรัฐบาลหรือธนาคารกลาง เป็นต้นเหตุของความล้มเหลวของระบบการเงินในหลายประเทศ วัตถุประสงค์สำคัญที่สุดของบิทคอยน์ คือต้องไม่สามารถถูกแซกแทรงได้

ผู้ที่คิดค้นบิทคอยน์ ได้มองว่าการควบคุมและแทรกแซงโดยรัฐบาลคือ “ปัญหา” ของระบบการเงินโลกและจะต้องแก้ไขด้วยสกุลเงินเข้ารหัส

จากการเข้ารหัสอีกเช่นกัน บิทคอยน์ จึงถูกออกแบบให้ไม่สามารถ ติดตาม หรือกระทั่ง สืบสวน หลักฐานการจ่ายเงินและรับเงินได้ จึงมีเฉพาะผู้ที่จ่ายเงินและผู้ที่รับเงินเท่านั้น จึงจะล่วงรู้ถึงธุรกรรม แต่ผู้อื่นใดก็จะไม่สามารถล่วงรู้ได้เลย แม้กระทั่งรัฐบาลหรือธนาคารกลางใดๆ ก็ตาม วัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกประการของบิทคอยน์ จึงเป็นสกุลเงินที่มีความเป็นส่วนตัวสูงมาก

นอกจากบิทคอยน์แล้ว ยังมีสกุลเงินเข้ารหัสอย่างกระจายอำนาจ อื่นๆ ที่ถูกพัฒนามาต่อยอด อย่างเช่น อีเธอเรียม ที่พัฒนาบล็อกเชน ให้ไม่เป็นเพียงแค่ระบบฐานข้อมูลทางการเงินที่กระจายอำนาจ แต่กลับสามารถช่วยคำนวณโจทย์ต่างๆ อย่างเช่น บิ๊กดาต้า หรือ สมองกล โดยได้ผลตอบแทนเป็นเงินสกุลอีเธอร์

ปัจจุบัน สกุลเงินเข้ารหัส อย่างเช่น บิทคอยน์ อีเธอเรียม ฯลฯ มีการใช้งานตามวัตถุประสงค์จริง แม้แต่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ อย่างเช่น ไมโครซอฟท์ เอ็กซ์พีเดีย สตีม และยังมีธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ซึ่งเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมายอีกเป็นจำนวนมาก รองรับการจ่ายเงินด้วย บิทคอยน์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ในยุคแรกของ บิทคอยน์ การใช้งานส่วนหนึ่ง จะเป็นการจ่ายเงินเพื่อสินค้าและบริการที่ไม่ถูกกฎหมาย อย่างเช่น ยาเสพติด หรือกระทั่ง การจ้างวานฆ่า เป็นต้น เพราะความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเส้นทางการเงิน ที่ไม่สามารถ ติดตาม หรือกระทั่ง สืบสวน ได้

แต่วันนี้ ความสนใจในสกุลเงินเข้ารหัส กลับไม่ได้อยู่ที่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้ที่ริเริ่ม แต่ไปอยู่ที่ ความโลภ การเก็งกำไร การรวยทางลัด ที่อาจต้องนำไปสู่ ฟองสบู่ หรือการผิดหวัง 

แม้กระทั่งมาตรวัดความสำเร็จ หรือความมั่นคงของบิทคอยน์ในปัจจุบัน ที่ได้ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อ กลับไปอยู่ที่มูลค่าของ บิทคอยน์ เมื่อเทียบจากอัตราการแรกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินดอลลาร์ เงินบาท และเงินสกุลอื่นๆ อันเป็นผลพวงมาจาก ความโลภ และ การเก็งกำไร

การลงทุนในบิทคอยน์ หรือ สกุลเงินเข้ารหัส อื่นๆ อย่างแท้จริง หามิใช่การเก็งกำไร เพื่อการรวยทางลัด แต่ควรเป็นการลงทุน เพื่อการสร้างเงินสกุลใหม่ ที่ปราศจากการควบคุม ติดตาม หรือกระทั่ง สืบสวน และเพื่อการสนับสนุนให้มีการใช้งานตามวัตถุประสงค์ เพราะคุณสมบัติของสกุลเงินเข้ารหัส อย่างกระจายอำนาจ เหล่านี้ อาจมีประโยชน์ต่อการมีอิสระภาพของระบบการเงิน และกระทั่งระบบเศรษฐกิจของโลกก็เป็นได้ แต่ในอีกแง่มุม ก็อาจถูกมองเป็นสวรรค์ของการหลบซ่อนหรือฟอกเงินก็ได้เช่นกัน

เช่นดังกรณีของ โซเชียลมีเดีย ที่ได้ ปลดปล่อย การควบคุมสื่อ ที่เคยอยู่ในมือ คนเพียงไม่กี่คน สกุลเงินเข้ารหัส ก็มีวัตถุประสงค์ ที่จะปลดปล่อยการควบคุมระบบการเงินเช่นกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว จะสามารถสร้าง การแตกกระจาย (Disruption) ได้อย่าง โซเชียลมีเดีย หรือไม่ และอะไรที่จะเกิดขึ้นตามมา เป็นสิ่งที่ต้องติดตามดูต่อไป