ส่องแผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ภาคเหนือ … บูมหัวเมืองหลัก-รอง

ส่องแผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ภาคเหนือ … บูมหัวเมืองหลัก-รอง

ส่องแผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ภาคเหนือ … บูมหัวเมืองหลัก-รอง

ประธาน จิวจินดา

หัวหน้าส่วนวิจัยนโยบายรัฐและปัจจัยทางธุรกิจ

สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย

ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.สุโขทัยเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.60 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือ ร่วมกับภาคเอกชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะในการพัฒนาพื้นที่

ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลเร่งรัดเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและลดต้นทุนโลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคเหนือ สำนักวิจัยจึงได้รวบรวมโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศของกระทรวงคมนาคม ซึ่งถูกบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน หรือ แอ๊กชั่นแพลนในปี 2559-2560 พบว่าแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่ภาคเหนือ มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท

ทางบก 7 โครงการ แบ่งเป็นโครงข่ายทางถนน ได้แก่ การก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่สอด และสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 ระยะทาง 21.4 กิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก, โครงการไฮเวย์แม่สอด ตาก เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดและการค้าชายแดน, โครงการไฮเวย์เชียงใหม่ เชียงราย ระยะทาง 185 กิโลเมตร ผ่านลำปาง-พะเยา อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด นอกจากนี้ยังรวมถึงโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ วงเงิน 1,400 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง, โครงการสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลกและตาก เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมสินค้าจากแหล่งผลิตต่างๆในการขนส่งระหว่างภูมิภาค และโครงการพัฒนาจุดพักรถบรรทุกตามเส้นทางหลักที่จังหวัดกำแพงเพชร

ทางราง 6 โครงการ แบ่งเป็นรถไฟทางคู่ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพเด่นชัย วงเงิน 56,066 ล้านบาท ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และแพร่, โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัยเชียงใหม่ วงเงิน 59,924 ล้านบาท ผ่านจังหวัดแพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่, โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย เชียงราย เชียงของ วงเงิน 76,978 ล้านบาท ผ่านจังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย ซึ่งทั้ง 3 โครงการอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกันก็เพิ่มเส้นทางรถไฟใหม่จากลำนารายณ์ จ.ลพบุรี-เพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ - พิษณุโลก -เชียงใหม่ ซึ่งทางญี่ปุ่นได้ส่งผลการศึกษามาแล้ว โดยจะเริ่มก่อสร้างเฟสแรกในช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลกในปี 2562 ตลอดจนรถไฟฟ้ารางเบาที่จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะใช้ระบบพีพีพีหรือรัฐร่วมลงทุนกับเอกชนหรือไม่ และจะเดินรถแบบใด

ทางน้ำ 2 โครงการ เป็นการพัฒนาท่าเรือเชียงแสนและท่าเรือเชียงของที่มีอยู่เดิมให้สามารถสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือเชียงแสน 2.1 แสนตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 22,100 ล้านบาท และมีปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือเชียงของ 8.5 หมื่นตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 20,600 ล้านบาท รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อบริการข้อมูลข่าวสารสำหรับลูกเรือ 4 สัญชาติแม่น้ำโขงตอนบน (ไทย - ลาว - เมียนมา - จีน)

ทางอากาศ 3 โครงการ เป็นการพัฒนาท่าอากาศยานในภูมิภาคให้พร้อมรองรับปริมาณผู้โดยสารได้มากขึ้น ได้แก่ การปรับปรุงท่าอากาศยานแม่สอด เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารในอนาคต จากปัจจุบัน 8 หมื่นคน/ปี เป็น 3.6 ล้านคน/ปี การขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีเป้าหมายการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศ เพื่อรองรับผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นราว 18-20 ล้านคนในปี 2573-2578 นอกจากนี้ ยังรวมถึงการขยายท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง วงเงิน 6,200 ล้านบาท ในระยะ 15 ปีข้างหน้าเช่นกัน         

การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ จะทำให้ภาคเหนือเป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพในการเป็นประตูแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยว อีกทั้งมีโครงข่ายที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศอินเดียและเมียนมา

คาดว่า เมื่อการลงทุนเพื่อสร้างโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางภาคเหนือ ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน) , กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน), และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (พิษณุโลก ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์) จะได้รับประโยชน์สูงสุด เนื่องจากศักยภาพเชิงพื้นที่จะทำให้ ประการแรก จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดโดยรอบเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทั้งเชิงสุขภาพและเชิงวัฒนธรรม รองรับการขยายตัวการค้าและการลงทุนเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน ประการที่สอง จังหวัดพิษณุโลกเป็นสี่แยกอินโดจีนจะทำให้สามารถรองรับการค้าแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตก เชื่อมโยงการเดินทางจากแหล่งที่อยู่อาศัยเข้าสู่แหล่งงาน แหล่งวัตถุดิบเข้าสู่แหล่งอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยว สถานศึกษาและเชื่อมต่อการเดินทางการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน ประการที่สาม การที่จังหวัดเชียงรายและตากเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบกับการเติบโตของมูลค่าการค้าชายแดนของจังหวัดเชียงรายและตากจากความสะดวกที่เพิ่มมากขึ้นของการเคลื่อนย้ายทรัพยากรทางการเกษตร แรงงาน และเงินทุนข้ามพรมแดน ยังช่วยกระจายนักท่องเที่ยวและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ตัดสินใจมาท่องเที่ยวในจังหวัดทางภาคเหนือมากขึ้น

ส่องแผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ภาคเหนือ … บูมหัวเมืองหลัก-รอง