’งานถดถอย-ว่างงานเพิ่ม’ ตลาดแรงงานปีหน้าจะเป็นเช่นไร (1)

’งานถดถอย-ว่างงานเพิ่ม’ ตลาดแรงงานปีหน้าจะเป็นเช่นไร (1)

นับตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขึ้นบริหารประเทศตั้งแต่กลางปี 2557 จนถึงปลายปี 2560

ก็มุ่งมั่นที่จะบริหารประเทศให้เกิดความมั่นคง ความมั่งคั่ง และความยั่งยืน 

นอกเหนือจากการดำเนินความพยายามที่จะพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ให้หลุดพ้นจากหุบเหวแห่งความตกต่ำ และฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาอันสั้น  และพยายามที่จะเร่งอุปสงค์ของตลาดแรงงานให้ซึบซับแรงงานใหม่  แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้การมีงานทำสูง เหมือนในปี 2556 - 2557 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐบาล คสช. 

แม้การจ้างงานจะผันผวนไปตามฤดูกาล  โดยจะสูงสุดในช่วงกลางปี(มิ.ย.-ส.ค.)ของทุกปี และจะไปต่ำที่สุดในช่วงเดือนธ.ค.-ม.ค.ของทุกปี  แต่ในปี 2557 (กลางปี) ซึ่งรัฐบาล คสช. บริหารงาน การจ้างงานก็ยังต่ำกว่าปี 2556 เกือบทุกเดือน โดยเฉพาะในเดือน เม.ย. 

ปี 2557 มีการจ้างงานต่ำกว่าปี 2556 ประมาณ 700,000 คน และในเดือนมิ.ย. ที่มีการจ้างงานสูงสุด ก็ต่ำกว่าปี 2556 ถึงประมาณ 500,000 คน ในช่วงนี้น่าจะเป็นสภาพตามปกติที่รัฐบาลยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้เกิดการลงทุนใหม่จึงยังไม่มีโครงการใหม่ และตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมากพอ ที่จะดูดซับอุปทานแรงงานเก่าและใหม่ได้หมดทำให้การมีงานทำลดลง

’งานถดถอย-ว่างงานเพิ่ม’ ตลาดแรงงานปีหน้าจะเป็นเช่นไร (1)

สถานการณ์การจ้างงานอีก 2 ปี ถัดมาคือ ในปี 2559 ก็ยังไม่ดีขึ้นเกือบทั้งปี การจ้างงานยังต่ำกว่าปี 2556 เกือบทุกเดือนโดยเฉพาะช่วงหลังของปี 

การจ้างงานในปี 2559 และ 2560 (ประมาณการโดยผู้เขียน 2 เดือนสุดท้าย) ลดลงอย่างมาก และต่อเนื่องกันหลายเดือน แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการหารายได้มาเลี้ยงครอบครัวของประชากรวัยแรงงานให้เพียงพอ ซึ่งต้องทำด้วยความยากลำบาก ถึงแม้รัฐบาลจะใช้ความพยายามลดความทุกข์ยาก โดยการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ

อย่างไรก็ตา มเมื่อมองอีกด้านหนึ่งของเหรียญก็คือ เมื่อการจ้างงานลดลง ก็จะส่งผลให้กำลังแรงงานที่ไม่ได้รับการจ้างงาน (คนว่างงาน)จะมีจำนวนสูงขึ้นทุกปีเช่นเดียวกัน 

ในปี 2556 การว่างงานโดยรวมต่ำกว่าร้อยละ 1 โดยมีการว่างงานสูงสุดในเดือนก.ค. 360,000 คน ใน ปี 2557 การว่างงานสูงที่สุดในเดือนมิ.ย. ที่ 450,000 คน 

เมื่อพิจารณาข้อมูลจำนวนการว่างงานทั้งปีก็พบว่า เปรียบเทียบปีต่อปีแล้ว ปี 2557 มีการว่างงานสูงกว่าปี 2556 ถึง 8 ใน 12 เดือน สถานการณ์การว่างงานยังตกต่ำต่อเนื่องไปอีก เมื่อการมีงานทำยังไม่ค่อยฟื้นตัว อันเกิดจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น การส่งออกตกต่ำฟื้นตัวยังไม่มากพอ และราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญๆ ตกต่ำอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้จำนวนการว่างงานยังสูงกว่าช่วงเวลาเดือนเดียวกันถึง 10 เดือน ทั้งในปี 2559 และ 2560 (ประมาณการ) จึงพอที่จะอนุมานได้ว่า รัฐบาลกำลังเผชิญทั้งปัญหาการจ้างงานถดถอย และการว่างงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

’งานถดถอย-ว่างงานเพิ่ม’ ตลาดแรงงานปีหน้าจะเป็นเช่นไร (1)

ถ้าจะให้คาดการณ์ไปในปี 2561 ว่าจะเป็นปีที่สดใสของตลาดแรงงงานหรือไม่ ขอตอบได้เลยว่าเป็นไปได้ยาก ถ้ายังจะพัฒนาเศรษฐกิจเหมือนก่อนปี 2556 

แต่ที่จริงแล้ว รัฐบาลภายใต้การนำของท่านพลเอกประยุทธ์ได้ทำอะไรไปมากในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการวางแผนพัฒนาประเทศในระยะยาว ซึ่งยังไม่มีรัฐบาลก่อนหน้านี้เคยทำมาก่อน ปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่ง และระบบ โลจิสติกส์เสียใหม่เป็นต้น เพียงแต่ยังไม่เห็นผลในทันทีในขณะนี้เท่านั้น

จากที่กล่าวมาในภาพรวมทำให้เห็นชัดเจนว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถึงแม้รัฐบาลจะใช้ความพยายามพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะการส่งออกที่มีการแข่งขันอย่างสูง แต่ประเทศกลับยังจมปรักอยู่กับการพึ่งพาตนเองไม่ได้มากนัก เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจต้องพึ่งพาการส่งออก ซึ่งขับเคลื่อนโดยบริษัทขนาดใหญ่จากต่างประเทศ การพึ่งพาการส่งออกยังมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 

แต่เมื่อการส่งออกฟื้นตัวไม่ได้เร็วตามที่คาดหวังไว้ รัฐบาลก็ต้องหันมาอาศัยตัวกระตุ้นภายในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ที่ต่ำกว่าการส่งออกมาก เช่นการใช้จ่ายในการบริโภคของเอกชน แต่ก็มีปัญหาในเรื่องของรายได้ของประชาชน 

มากกว่า 24% ของคนทำงาน ซึ่งมีรายได้จากการเกษตรที่มีราคาต่ำที่สุดในรอบหลายปี เช่นราคาข้าว ราคายาง ราคากุ้ง ราคาปาล์ม ฯลฯ ล้วนแต่ก็ยังไม่สามารถจะฟื้นตัวได้โดยง่าย เกษตรกรแต่ละครัวเรือนบางภาคที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเหล่านี้รายได้ลดลงมีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบมากกว่าสองแสนบาท จึงไม่มีจิตใจจะมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อช่วยชาติ เพราะตัวเองกับครอบครัวยังลำบากอยู่มาก (ผู้อยู่ในทะเบียนยากจนของรัฐส่วนมากเป็นแรงงานนอกระบบและเกษตรกรมากกว่า 10 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของคนหาเงิน)

เมื่อหันมาหาเรื่องของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ก็เผชิญปัญหาหลายประการ ที่ไม่เอื้อให้ต่างชาติใหม่ๆ นำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่อง ขาดแคลนแรงงงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ 

อุตสาหกรรมดั้งเดิมส่วนใหญ่เป็น SMEs  มีจำนวนมากกว่าร้อยละ 90 ของสถานประกอบการ ที่มีข้อจำกัดในเรื่อง ทุน เทคโนโลยี นวัตกรรมที่เป็นของตัวเอง และมีขีดความสามารถในการตลาดและการส่งออกจำกัด 

จริงอยู่ที่รัฐบาลใช้ความพยายามอย่างหนักที่จะช่วยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและภาคการค้าและบริการให้หันเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะไทยแลนด์ 4.0 โดยเร่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์กับภาคการผลิตและภาคบริการซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีอย่างแน่นอน เนื่องจากไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิมๆได้อีกต่อไป

ในอดีตถึงแม้ว่าจะมีการลงทุนและร่วมทุนกับต่างประเทศมายาวนานมากกว่า 30 ปี แต่กลับไม่ได้ดูดซับเอานวัตกรรมจากการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ เพื่อให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้บ้าง ในที่สุดขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่เราพยายามทำและเรียกร้องขอความร่วมมือกับประเทศอื่น ให้เขามาลงทุนในประเทศไทย 

การเชื้อเชิญให้นักลงทุนใหม่เข้ามาอีกครั้ง ก็จะถูกตั้งเงื่อนไขเรื่องสิทธิประโยชน์ หรือขู่ว่าจะไปลงทุนในประเทศอื่นๆที่ให้สิทธิประโยชน์ที่ดีและมีแรงงานจำนวนมหาศาลรออยู่ เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย หรือ แม้แต่ฟิลิปปินส์ก็ตาม  เราจึงเห็น FDI ใหม่ๆ เข้ามาไม่ใช่เรื่องง่ายจึงขยายตัวอย่างเชื่องช้า 

ในช่วง 3 ปีกว่า ของรัฐบาล เม็ดเงินจาก FDI ยังเข้ามาน้อยมาก แต่ก็ยังมีหวังเมื่อไทยเราพยายามจะเร่งพัฒนาการค้าชายแดน ด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษ และที่สำคัญที่สุดคือ Eastern Economics Corridor (EEC) โดยคาดหวังว่าจะเป็น New Trend สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องทางด้านการค้าและบริการ เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ 

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้วยแล้ว ถ้าเรายังทำแบบเดิมๆไม่พัฒนาบริษัทของคนไทยให้มีนวัตกรรมเป็นของตนเองบ้าง เราก็ยังจะทำความผิดพลาดแบบเดิมๆโดยให้สิทธิประโยชน์พิเศษกับบริษัทต่างชาติโดยไม่มีเงื่อนไขด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในที่สุดไทยก็ต้องเผชิญกับปัญหาเหมือนเดิมๆ คือ ไม่สามารถพัฒนาประเทศให้มั่งคั่งและยั่งยืนได้

ทางออกสุดท้ายสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ คือ ต้องใช้เครื่องมือด้านการใช้จ่ายของภาครัฐ แแต่ก็น่าเสียดายว่า งบประมาณส่วนใหญ่ใช้ไปกับ เงินเดือน และค่าตอบแทน การใช้คืนเงินกู้รวมทั้งเงินอุดหนุนจากภาครัฐ

 ในส่วนของสวัสดิการต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นทุกปีๆ ทำให้งบลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ โดยรัฐมีขอบเขตจำกัดมากๆ 

ถึงแม้ว่ารัฐไทยจะกู้มาเพิ่มเติมเพื่อใช้จ่ายในการลงทุนแต่ก็ทำได้จำกัดเนื่องจากต้องรักษาไว้ซึ่งวินัยด้านการคลัง นโยบายทางการคลังที่ถูกนำมาใช้ก็ถูกจำกัดโดยงบประมาณของรัฐที่มีจำกัด การอาศัยค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดูอ่อนล้ามาก

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบทางด้านเศรษฐกิจทั้ง 4 ตัวแปร คือ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนจากภาคเอกชน การลงทุนโดยภาครัฐและการตกต่ำของการส่งออกจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ (แข่งขันสู้เขาไม่ได้)  การขยายตัวเศรษฐกิจ(GDP)โดยรวมในปี 2561 ก็อาจจะยังไม่สามารถเติบโตในระดับที่สูงคงจะป้วนเปี้ยนอยู่ในระดับ 4% แต่น่าจะดีกว่าปี 2560 ซึ่งทุกท่านก็ได้ทราบจากผลการศึกษาของหลายหน่วยงานรวมทั้ง TDRI ซึ่งให้ตัวเลขการคาดประมาณการเติบโตจะอยู่ระหว่าง 3.5-4.5 %

การที่เศรษฐกิจอาจจะไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วอย่างที่รัฐบาลที่มาจากร่มเงาของ คสช.คาดหวังไว้ แต่การที่เศรษฐกิจที่คาดหวังเอาใว้ว่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานคนไทยในภาพรวมให้ฟื้นตัวได้เช่นกันแต่ก็ขึ้นกับฝีมือของประชารัฐจะช่วยกันปรับปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างอุปทานกับอุปสงค์ของแรงงานและคนทำงานให้สอดคล้องกับทิศทางใหม่นการพัฒนาประเทศโดยไม่ทิ้งใครใว้เบื้องหลังได้อย่างไร 

การที่จะทำเช่นนี้ได้รัฐบาลไม่มีทางเลือกมากนักที่จะต้องหันมาให้ความสนใจกับการผลิตและพัฒนากำลังของประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งผู้เขียนจะได้เขียนในตอนต่อไป

โดย...รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาแรงงาน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)