สิทธิในการเลือกวิธีรักษา นโยบายสาธารณะ (1)

สิทธิในการเลือกวิธีรักษา นโยบายสาธารณะ  (1)

เรื่องนี้แบ่งเป็นสองส่วน ถ้าพูดกันจริงๆจังๆคงเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ หรือแม้ระดับนานาชาติ

ส่วนแรกเป็นเรื่องจริยธรรมทางการแพทย์ แต่ในขณะเดียวกัน มาตรา 8 ของ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ได้บัญญัติให้ผู้รับบริการมีสิทธิเลือกที่จะรับหรือไม่รับบริการทางการแพทย์ได้ จึงเป็นเรื่องของกฎหมายด้วย ไม่ใช่แค่จริยธรรมทางการแพทย์

ประเด็นก็คือ คำว่า เลือกรับบริการ มีความหมายแค่ไหน จะหมายถึงการบริการทางการแพทย์ที่มีหลายทางเลือกหรือไม่ ถ้าใช่ ผู้รับบริการย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเลือกวิธีการรักษาจากหลายทางเลือกนั้นได้ และถ้าผู้ให้บริการไม่ให้สิทธินั้นแก่ผู้รับบริการ ย่อมมีความผิด

ส่วนเรื่องใครบ้างต้องรับผิด ถ้าผู้ให้บริการคือโรงพยาบาลไม่ได้เป็นผู้กำหนดทางเลือก ก็เป็นความรับผิดของผู้ออกคำสั่ง และถ้าคำสั่งของหน่วยงานนั้นทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ อันนี้อาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญได้

ส่วนที่สองนั้น คือเรื่องของนโยบายสาธารณะ หรือ Public Policy อันนี้ถูกต้องว่าเรื่องสุขภาพเป็นนโยบายสาธารณะที่มีความมุ่งหมายที่จะให้บริการประชาชนอันเป็นสาธารณะอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน อันนี้ก็กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

แต่ถ้าหากบริการสาธารณะนั้นมีความหลากหลายในตัวเอง โดยหลักการแล้วย่อมเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเลือกในสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเขา เพราะจะกลับเข้า ม. 8พรบ. สุขภาพแห่งชาติ อีก เปรียบเสมือนการเดินทางด้วยบริการสาธารณะที่รัฐให้ฟรีสำหรับประชาชน มีรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี เรือฟรี เครื่องบินฟรี หลายอย่างหลายทางเลือก 

อย่างนี้จะไปกำหนดว่าทุกคนต้องไปรถไฟฟรีก่อน ถ้ารถไฟไปไม่ถึงค่อยไปรถเมล์ ถ้ารถเมล์ไปไม่ถึง ค่อยไปเครื่องบิน อย่างนี้เป็นรายละเอียดของหน่วยงานที่จะบังคับใช้กฎหมาย แต่ถ้าไม่อยู่บนพื้นฐานให้เดินทางฟรี แต่กำหนดวิธีเดินทางว่าต้องรถเมล์เท่านั้น เหมือนที่กำหนด CAPD-First อย่างนี้ น่าจะไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงความเห็น ที่ผู้อื่นอาจมองต่างไปจากนี้ได้ แต่เชื่อว่า คำพูดที่ว่า ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องที่ดีที่สุด (The best is for individual) แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนรวมต้องเป็นเรื่องคนส่วนใหญ่ (The most is for the public) ในทุกบริบทนั้น น่าจะไม่ถูกต้องทั้งหมดโดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องของการมีหลายทางเลือก 

ขอเพิ่มเติมในส่วนของนโยบายสาธารณะว่า เป็นเรื่องของแต่ละรัฐบาลที่เสนอต่อประชาชน และเมื่อรัฐบาลหนึ่งเสนอนโยบายหนึ่ง รัฐบาลต่อมาอาจเปลี่ยนแปลงแก้ไข ยกเลิก หรือสานต่อได้ทั้งสิ้น ซึ่งต่างกับเรื่องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่จะเปลี่ยนไม่ได้นอกจากล้มรัฐธรรมนูญและเขียนขึ้นมาใหม่

เรื่องของนโยบายสาธารณะนี้ไม่ได้หยุดแค่นโยบาย แต่เป็นเรื่องที่จะต้องนำนโยบายมาสู่การปฏิบัติที่เรียกว่า Policy Implementation นั่นหมายถึงจะต้องมีการส่งมอบการบริการ(Public Service Delivery) และการประเมินผลโครงการ (Public Program Evaluation) ตามมาอีก  

ช่วงตั้งแต่การนำนโยบายมาปฏิบัติเป็นหน้าที่ของหน่วยราชการจะต้องมาออกกฎระเบียบขั้นตอนวิธีการเพื่อให้บรรลุผลตามนโยบาย ซึ่งถ้าพิจารณาจากวิธีปฏิบัติของ สปสช. ก็แสดงว่า สปสช. ต้องการให้มีวิธีนี้เพื่อที่จะได้เป็นไปตามนโยบาย การแก้ไขวิธีการจึงเป็นเรื่องที่ต้องเสนอต่อหน่วยเหนือซึ่งก็คือรัฐบาลให้พิจารณากำหนดความชัดเจนในวิธีการ เพื่อไม่ให้หน่วยงานที่ปฏิบัติตามนโยบายต้องมาตีความเองอันเป็นผลเสียกับประชาชน