ทบทวนปีที่ผ่านกับของขวัญปีใหม่

ทบทวนปีที่ผ่านกับของขวัญปีใหม่

อีก 2 วันต่อจากนี้ ปี 2560 จะจบ ขอทบทวนเหตุการณ์บางอย่าง และบางประเด็น ซึ่งเป็นทั้งความประทับใจ และสิ่งที่ชวนครุ่นคิดต่อไปในปีข้างหน้า

ในช่วงปีที่ผ่านมา สำหรับคนไทยส่วนใหญ่คงไม่มีเหตุการณ์อะไรที่จะจารึกอยู่ในหัวใจเท่าเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้มาถึง นั่นคือ งานถวายพระเพลิง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าพ่อหลวงได้ทรงจากไปอย่างไม่มีวันกลับ

ด้านส่วนตัว นอกจากการได้มีโอกาสวางดอกไม้จันทน์เพื่อร่วมถวายความอาลัยแล้ว สิ่งหนึ่งซึ่งทำให้รู้สึกว่าได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพ่อหลวงได้แก่การเขียนหนังสือเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ ซึ่งกัลยาณมิตรจำนวนมากร่วมใจกันจัดพิมพ์เผยแพร่แนวคิดอันประเสริฐยิ่งของพระองค์ 

หลังจากนั้น ต้นฉบับได้รับการปรับให้เป็น “E-book” ซึ่งผู้สนใจอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์หลายแห่งรวมทั้งของมูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com) ของมูลนิธิมั่นพัฒนา (http://www.manpattanalibrary.com) และจาก https://issuu.com/010790/docs/seebysawaiboonma

การเตรียมต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมมีโอกาสได้ทบทวนแนวคิด เหตุการณ์ในอดีต สภาวะแวดล้อมของโลกปัจจุบันและแนวโน้มซึ่งบ่งชี้ถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในวันข้างหน้าอีกครั้ง

 การทบทวนนั้นทำให้ผมมั่นใจยิ่งขึ้นว่า แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ตอบโจทย์สำคัญๆ ของโลกปัจจุบันได้หมด 

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาลไทยอ้างถึงแนวคิดนี้เสมอ อีกทั้งยังนำไปเสนอแก่ชาวโลก ในขณะที่ตัวเองไม่ได้แสดงความจริงใจว่านำมาใช้อย่างจริงจัง ทั้งในด้านนโยบายและในด้านการดำเนินชีวิตของผู้อยู่ในคณะรัฐบาล 

ซ้ำร้าย นโยบายและการดำเนินชีวิตของบุคคลเหล่านั้นดูจะเป็นไปในทางตรงข้ามกับแนวคิดโดยสิ้นเชิง เช่น การกระตุ้นให้ใช้จ่าย และสร้างภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ภาพของการใช้สินค้าหรูหรา ซึ่งประชาชนเชื่อว่าเกิดจาก ความฉ้อฉล ของบุคคลในรัฐบาล และการผลักดันจะให้เกิดการลงทุนในโรงไฟฟ้าล้าสมัย ซึ่งใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง

นโยบายของรัฐบาลในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมานี้ ชี้ชัดว่ายังอยู่ในกรอบแนวคิดเดิมๆ เช่น ทางด้านเศรษฐกิจยังอยู่ในกรอบแนวคิดกระแสหลัก ซึ่งอาศัยการบริโภคเพิ่มขึ้นแบบไม่หยุดยั้ง เป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ว่าการบริโภคนั้นจะจำเป็นหรือไม่และจะมีผลกระทบอย่างไร

แนวคิดนี้ได้หมดสมัยไปแล้ว การดันทุรังใช้ต่อไปกำลังสร้างปัญหาสาหัสหลายด้าน รวมทั้ง การแย่งชิงทรัพยากรที่นำไปสู่สงคราม ความเหลื่อมล้ำร้ายแรงในสังคม และการทำลายสิ่งแวดล้อมจนระบบนิเวศไร้สมดุล

เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้นำในการใช้แนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักได้แก่ สหรัฐ ซึ่งกำลังทำตัวอย่างในทางสร้างปัญหาให้แก่โลก 

ทางด้านการแย่งชิงทรัพยากร สหรัฐเป็นหัวจักรใหญ่ซึ่งใช้กลวิธีสารพัด รวมทั้งการทำสงครามแบบเปิดเผยอย่างกว้างขวางในย่านตะวันออกกลาง 

ทางด้านความเหลื่อมล้ำ สังคมอเมริกันเริ่มไม่ต่างกับประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก เนื่องจากส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจไปตกอยู่ในมือของคนรวยกลุ่มเล็ก ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ปราชญ์หลายคนเตือนเรื่องอันตรายของความเหลื่อมล้ำรวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล โจเซฟ สติกลิตซ์ ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง The Price of Inequality: How Today's Divided Society Endangers Our Future 

นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ยังมุ่งเน้นการเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มคนรวย 

ทางด้านสิ่งแวดล้อม สหรัฐกำลังเผชิญปัญหาสาหัสสารพัดอย่างรวมทั้งพายุใหญ่และไฟป่า แต่นโยบายของนายทรัมป์กลับพยายามทำลายสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนพลังงานถ่านหิน และการนำสหรัฐออกจากข้อตกลงปารีสเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน

ประเด็นที่กล่าวถึงนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์สำหรับผู้ติดตามเหตุการณ์โลกโดยทั่วไป แต่รัฐบาลไทยยังเดินตามแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักเช่นเดิม  พร้อมกับประกาศออกมาเสมอว่ากำลังทำตามศาสตร์พระราชา โดยเฉพาะในด้านการใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

การกระทำนี้ นอกจากจะส่อให้เห็นถึงการคิดและพฤติกรรมแบบศรีธนญชัยแล้ว ยังจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจผิดเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย นั่นเป็นเสมือนการไม่รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพ่อหลวงดังคำพูดที่เปล่งออกมาเป็นประจำแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งอาจประสบปัญหาสาหัสถึงขั้นล้มลุกคลุกคลานในวันข้างหน้าตามแนวละตินอเมริกาได้

ณ วันนี้ยังไม่สายเกินไป รัฐบาลอาจมอบของขวัญปีใหม่ให้คนไทยโดยการเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายให้เป็นไปตามศาสตร์พระราชาอย่างแท้จริง