ประชาธิปไตยที่แท้ ไม่ใช่แค่มีการเลือกตั้ง

ประชาธิปไตยที่แท้ ไม่ใช่แค่มีการเลือกตั้ง

เราไม่ควรเบื่อประชาธิปไตย เพียงเพราะเบื่อนักเลือกตั้งที่พอได้เป็นส.ส.เสียงข้างมากไปจัดตั้งรัฐบาลแล้วก็มักทำอะไรเพื่ออำนาจ/ผลประโยชน์ตัวเอง

แต่นั่นเป็นเพราะเรายังพัฒนาไปไม่ถึงประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งหมายถึงระบบการบริหารการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ชนิดที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องทำหน้าที่คุ้มครองและส่งเสริมประชาชนให้ได้รับสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางด้านโอกาส ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อย่างทั่วถึงเป็นธรรม

การเลือกตั้งเป็นวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชน เลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้รัฐบาลที่ดีนัก ก็ต้องแก้ที่ระบบการเลือกตั้ง การศึกษา รับรู้ข่าวสารและการจัดตั้งองค์กรของประชาชน จะไปหวังว่ารัฐบาลทหารที่ความคิดอำนาจนิยม/จารีตนิยมจะเป็นรัฐบาลที่ดีกว่านั้นเป็นความหวังแบบเพ้อฝัน

ในระบบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง รัฐบาลไหนไม่ทำตามสัญญาาทางสังคมในการบริหารอย่างซื่อตรง มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม เพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ ประชาชนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ ประท้วง ถอดถอน ผลักดันให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้

การเลือกตั้งสส.เป็นแค่วิธีการ การจะพัฒนาประชาธิปไตยได้ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจว่า เราจะต้องช่วยกันสร้างรากฐานหลักการทางการเมืองการปกครองที่สำคัญ 5 ข้อนี้ ประเทศไทยจึงจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้ได้

  1. หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนประชาชนมีสิทธิอำนาจในการเลือกตั้งอย่างอิสระและทั่วถึง เพื่อให้ได้มาซึ่งคณะรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) มาทำหน้าที่บริหารทรัพยากรรัฐแทนประชาชน ประชาชนมีสิทธิอำนาจในการคัดค้านและถอดถอนคณะรัฐบาลและผู้แทนคนที่ประชาชนเห็นว่าไม่ได้ทำหน้าที่ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เช่น มีพฤติกรรมทุจริตฉ้อฉล หาผลประโยชน์ทับซ้อน ร่ำรวยผิดปกติ กระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือผิดจริยธรรมร้ายแรง
  2. หลักเสรีภาพประชาชนมีสิทธิที่จะกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ตราบเท่าที่การกระทำของเขานั้นไม่ไปละเมิดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอื่น หรือละเมิดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงของประเทศชาติ ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างจากความมั่นคงของคณะรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง เช่น เราวิจารณ์รัฐบาลเรื่องนโยบาย, พฤติกรรมต่างๆ ได้
  3. หลักความเสมอภาคควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและสาธารณสมบัติต่างๆ ของสังคมอย่างเท่าเทียม โดยไม่ถูกกีดกันด้วยสาเหตุแห่งความแตกต่างทางชั้นวรรณะ ทางสังคม ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือด้วยสาเหตุอื่น
  4. หลักการปกครองโดยกฎหมายหรือหลักนิติธรรม (Rule of Law)รัฐต้องให้ความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั้งในเรื่องสิทธิเสรีภาพในทรัพย์สิน การแสดงออก การดำรงชีพ ฯลฯ อย่างเสมอภาคกัน ผู้ปกครองไม่สามารถใช้อำนาจใดๆ ลิดรอนเพิกถอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ และผู้ปกครองไม่สามารถใช้อภิสิทธิ์อยู่เหนือกฎหมาย หรือเหนือกว่าประชาชนคนอื่นๆ ได้
  5. หลักการเสียงข้างมาก ควบคู่ไปกับการเคารพในสิทธิของเสียงข้างน้อยการตัดสินใจใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนหมู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้แทนประชาชน การตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตุลาการ ย่อมต้องถือเอาเสียงข้างมากที่มีต่อเรื่องนั้นๆ เป็นเกณฑ์ในการตัดสินทางเลือก โดยถือว่าเสียงข้างมากเป็นตัวแทนที่สะท้อนความต้องการหรือข้อเรียกร้องของประชาชนหมู่มาก

หลักการเสียงข้างมากนี้ ต้องใช้ควบคู่ไปกับการเคารพและคุ้มครองสิทธิเสียงข้างน้อยด้วย เพื่อเป็นหลักประกันว่าฝ่ายเสียงข้างมากจะไม่ใช้วิธีการพวกมากลากไปเพื่อผลประโยชน์ของพวกตนหรือกลุ่มที่เลือกพวกตนเท่านั้น แต่ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ของสมาชิกในสังคมทั้งหมด เพื่อสร้างสังคมที่ประชาชนเสียงข้างน้อย รวมทั้งชนกลุ่มน้อยและผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนกลุ่มเสียงข้างมากได้อย่างสันติสุข โดยไม่มีการเอาเปรียบและการสร้างความขัดแย้งในสังคมมากเกินไป เพราะสังคมจะพัฒนาอย่างเข้มแข็งได้จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยร่วมมือกัน สามัคคีกันทำงานของสมาชิกทุกคน

หลักการเสียงข้างมากไม่ได้แปลว่าเผด็จการโดยสส. เสียงส่วนใหญ่ (เกินครึ่งหนึ่ง) ในสภาผู้แทนโดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายค้าน สื่อมวลชน นักวิชาการและองค์กรประชาชน 

ประชาธิปไตยที่แท้ ไม่ใช่แค่มีการเลือกตั้ง

ประชาธิปไตยหมายถึง สส. ในฐานะผู้แทนของปวงชน รวมทั้งคณะรัฐมนตรีต้องปรึกษาหารือและพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ นโยบาย, กฎหมาย, โครงการสาธารณะต่างๆ แบบมีข้อมูลทั้งรู้จุดแข็งจุดอ่อน ข้อดีข้อเสีย อย่างรอบด้าน และช่วยกันหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในระยะยาว

เรื่องที่สำคัญมากเช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลายประเทศใช้เสียงข้างมากแบบ 2 ใน 3 ของเสียงทั้งหมด เพื่อจะได้สะท้อนเสียงตัวแทนของคนส่วนใหญ่มากขึ้น ในเรื่องสำคัญบางเรื่องควรเปิดประชาพิจารณ์อภิปรายกันชนิดที่ให้ข้อมูลทั้ง 2 ด้าน อย่างเปิดเผยและประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางด้วยหลักเหตุผลและหาทางเลือกที่ประนีประนอม ประสานประโยชน์กัน จนกว่าจะเป็นทางเลือกที่คนส่วนใหญ่จะยอมรับได้ (Consensus) วิธีการนี้จะใช้เวลามากหน่อย แต่ก็จะเพิ่มความรอบคอบและลดความขัดแย้งได้มากกว่า

สังคมประชาธิปไตยควรเป็นสังคมที่พัฒนาให้ชนชั้นนำและประชาชนส่วนใหญ่มีแนวคิดแบบเสรีประชาธิปไตยที่ใจกว้าง (Liberal) เชื่อในเรื่องสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน และการปรับปรุงปฏิรูปสังคมอย่างสันติวิธี ยอมรับและส่งเสริมคติพหุนิยม (การเข้าใจ/ยอมรับว่าสังคมประกอบไปด้วยคนหลายกลุ่มที่ควรอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสร้างสรรค์) และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ กลุ่มชน วัฒนธรรม ซึ่งรวมทั้งความเชื่อทางศาสนาต่างๆ ด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง เป็นธรรม

สังคมแบบเสรีประชาธิปไตยที่ใจกว้าง จะเป็นสังคมที่มีความร่ำรวยมั่งคั่งและปรับตัวแก้ปัญหาวิกฤตต่างๆ ได้ดี กว่าสังคมแบบที่รัฐบาล, และชนชั้นนำครอบงำประชาชนให้คิดหรือทำอะไรตามฝ่ายเดียว เพราะรัฐบาลและชนชั้นนำ อาจจะคิดหรือมีนโยบายแนวจารีตนิยม/อนุรักษ์นิยม ชาติพันธุ์นิยม ทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบคับแคบสุดโต่ง ที่สร้างปัญหาความขัดแย้งเสียเองได้