เรื่องของ‘สติ’ ในระบบสาธารณสุขไทย

เรื่องของ‘สติ’ ในระบบสาธารณสุขไทย

ถ้าพูดเรื่องของ สติ ตามศาสนา ความเชื่อ ปรัชญา อะไรแบบนี้ ไม่มีความรู้มากนัก แต่ที่พอจะรู้บ้างคือเรื่อง สติ ในทางจิตวิทยา

เพราะสมัยเรียนหนังสือ ก็เรียนรู้เรื่อง สติ ที่อธิบายโดยนักจิตวิทยาตั้งแต่รุ่นเก่าๆ

ที่กลับมาสนใจก็เพราะศาสตราจารย์ริชาร์ด เทเยอร์ (Richard Thayer) ที่เพิ่งได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์คนล่าสุดปี 2017 ที่พูดถึง Nudge Theory ก็เกี่ยวข้องกับ สติ 

เทเยอร์ อธิบายว่า พฤติกรรมมนุษย์ในการแสดงออก ที่เป็นพฤติกรรมตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ (Behavior Economic) นั้น เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกโดยไม่ได้มีการกลั่นกรองอย่างเป็นเหตุเป็นผล อย่างที่ทฤษฎีทางเลือกที่ดีที่สุด หรือ Rational Comprehensive Decision-Making Model ที่พวกวิทยาศาสตร์ทางการบริหาร หรือ Administrative Science อธิบายมานาน โดยเฉพาะการการตัดสินใจเชิงการตลาด พูดง่ายๆ ก็คือมันมาจากการตัดสินใจจากความรู้สึกที่ฝังอยู่เบื้องลึกที่ไม่ใช่พฤติกรรมอย่างมีสติตามทฤษฎีทางเลือกที่ดีที่สุด

ทฤษฎีของเทเยอร์นี้ จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างเช่นในนิทานอีสปเรื่องกระต่ายตื่นตูมก็ดี เรื่องพฤติกรรมนักลงทุนที่แห่กันเข้าซื้อหรือขายหุ้นก็ดี มันเกิดโดยไม่ได้ดูเหตุผล แต่ทำตามๆ กันไปที่เรียกว่าไปตามฝูง (Herding)

สำหรับตัวเองนั้น เวลาคุยเรื่อง สติ มักนึกถึงนักจิตวิทยาชาวเยอรมันชื่อ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่อธิบายรูปแบบโครงสร้างของจิต (Structural Model of the Psyche) ว่ามี 3 ระดับใหญ่ๆ ตั้งแต่ระดับที่อยู่ฝังอยู่ภายใต้เบื้องลึกของจิตใจที่เรียกว่า id จนถึงระดับที่มีการควบคุมความรู้สึกที่อยู่เบื้องลึกไม่ให้แสดงออกมาทันทีที่เรียกว่า ego และการถูกกลั่นกรองจากสภาพแวดล้อม ศีลธรรม จรรยาบรรณ มนุษยธรรม และอะไรๆ ที่สังคมรอบข้างถือเป็นปทัสถาน (Norm) ว่าคนทั่วไปเขาทำกันหรือไม่ทำกัน เรียกว่า super-ego

ฉะนั้น สติ ก็คือการรู้ตัว รู้ว่ากำลังทำอะไร ดีหรือไม่ดีอย่างไร อย่างนั้น

id, ego, super-ego ของซิกมันด์ ฟรอยด์ ถ้าอธิบายเป็นคำพูดธรรมดาก็ได้เช่นกัน คือ id เป็นเรื่องจิตใต้สำนึก (Subconscious) ego เป็นเรื่องจิตสำนึก (Conscious) และsuper-ego เป็นเรื่องจิตก่อนสำนึก (Pre -conscious)

สติ จึงน่าจะหมายถึงเรื่องของจิตสำนึก และจิตก่อนสำนึก ซึ่งมีอยู่หลายระดับ แต่รวมๆ ก็คือให้มีสติทั้งระดับ Conscious และ Pre-conscious และถ้าจะให้เข้าใจมากขึ้นอีกนิด ก็อาจอธิบายได้ว่า เรื่องของ id หรือจิตใต้สำนึกนั้นมันมีทั้งตั้งแต่เกิดมาเป็นตัวเป็นตน ถ้าภาษาวิทยาศาสตร์ก็อาจพูดได้ว่ามาจากยีน หรือโครโมโซม (gene/chromosome) ที่ไม่ได้ถูกจัดระเบียบใหม่ (edited)

 super-ego หรือ จิตก่อนสำนึก นั้นเป็นเรื่องของการถูกพร่ำสอนหรือเรียนรู้เมื่อเติบโตขึ้นในสังคม ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเรื่องนั้นควรทำ เรื่องนี้ไม่ควรทำ เป็นความรู้สึกผิดถ้าทำ รู้สึกไม่ดี รู้สึกน่าอาย อะไรอย่างนี้ ภาษาทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า conscience ซึ่งก็คือเรื่องของสติในทางวิทยาศาสตร์

ส่วนเรื่อง ego นั้นเป็นเรื่องของ จิตสำนึก ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่เกิดจากทั้งความต้องการจากเบื้องลึกของจิตใต้สำนึกและจิตก่อนสำนึก จิตสำนึกทำให้เกิดความรู้สึกที่คิดว่าควรทำเหมือนที่คนอื่นๆเขาทำหรือสามัญสำนึก เช่นพอเห็นสินค้าที่อยากได้ก็อาจรู้สึกอยากหยิบเอามาเป็นเจ้าของ แต่สามัญสำนึกของคนทั่วไปจะทำให้ไม่ทำอย่างนั้น แต่จะไปซื้อสินค้าแทน

เรื่องของจิตนั้นมีหลายระดับตั้งแต่ระดับก้าวร้าวจนถึงระดับที่เป็นความรัก ที่เห็นบ่อยๆก็เช่นเรื่องความต้องการทางธรรมชาติที่เป็นอีโรติก (auto erotic) การเทิดทูน (narcissistic) ความเย็นชา (anal) และความรู้สึกบูชา (phallic)เขียนไปเขียนมา ก็รู้สึกว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขบ้านเรานั้น หลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้เกิดจากการมีจิตสำนึก

คุณตูน ที่วิ่ง ก้าวคนละก้าว เพื่อชีวิตของคนยากคนจนไม่มีเงินรักษาพยาบาลนั้น เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ทำอย่างมีสติ หรือมีจิตสำนึกแน่นอน

แต่พวกที่กลุ้มรุมทำร้ายโรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งพวกที่ยืนกอดอกดูโรงพยาบาลถูกทำร้ายด้วยความเฉยเมยนั้น ไม่แน่ใจว่ามีจิตสำนึก หรือยังมีสติ อยู่แค่ไหน

อ่านแล้ว ก็คิดเอาเอง