ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนพฤศจิกายน

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนพฤศจิกายน

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนพฤศจิกายน

คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.00-1.25% ในการประชุมรอบนี้ พร้อมให้ความเห็นว่าตลาดแรงงานและภาวะเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ การขยายตัวของการจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวแตะระดับเป้าหมายที่ 2% ได้ในปีหน้า ทั้งนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองว่า FOMC น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนธันวาคม นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังได้เสนอชื่อนายเจอโรม พาวเวล ให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่ แทนนางเจเน็ต เยเลนที่จะหมดวาระในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งนักลงทุนในตลาดมองว่านายเจอโรม พาวเวล มีความเห็นไม่ต่างจากนางเจเน็ต เยเลน มากนัก และสนับสนุนการผ่อนคลายกฏระเบียบในสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นทางการเมืองเกี่ยวกับอุปสรรคในการผลักดันกฎหมายปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ แม้ว่าจะผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่อาจไม่ผ่านวุฒิสภา โดยเฉพาะข้อกังวลการขาดดุลงบประมาณ การประกันสุขภาพ และความเหลื่อมล้ำทางสังคมจากผลประโยชน์ทางภาษีทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญจากประเทศในกลุ่มยุโรป ได้แก่ เยอรมนี, สเปน และอิตาลี ตัวเลข GDP และอัตราเงินเฟ้อออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ใขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของอังกฤษเพิ่มขึ้น 3.0% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 3.1% นอกจากนี้ธนาคารกลางอังกฤษได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี จาก 0.25% เป็น 0.50% และคงวงเงิน QE ไว้ที่ระดับเดิมที่ 435 พันล้านปอนด์ แต่ไม่ได้บอกเป็นนัยว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อไปในระยะอันใกล้นี้ นอกจากนี้ ยังปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือ 1.6% จาก 1.7% และปรับลดอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายปีหน้า ลงเหลือ 2.4% จาก 2.5%

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจของไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2560 ขยายตัว 4.3% เพิ่มขึ้นจากการขยายตัว 3.8% ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้าและการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐบาล และการลงทุนรวม

โดยสศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2560 จะขยายตัวได้3.9% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.7% และคาดการณ์ GDP ในปี 2561 ว่าจะเติบโตได้ 3.6-4.6% ทางด้านกระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อของไทยโดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค. +0.86%yoyเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +0.86% yoy ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน +0.58%yoyสูงกว่าเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ +0.53% yoy จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในเดือนนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 7 ของปี มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามความคาดหมายและเนื้อหาในรายงานการประชุมแทบไม่แตกต่างจากครั้งก่อน กล่าวคือ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิม ตามแรงส่งจากภาคต่างประเทศ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในเดือนนี้แตะระดับแข็งค่าที่สุดในรอบปีที่ระดับ 32.48 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายเดือน เป็นผลมาจากพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตดี อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาตลอดทั้งปี โดยในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรรัฐบาลสุทธิสูงถึง 4.15 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อพันธบัตรระยะสั้นเกือบ 6 หมื่นล้านบาท, ขายพันธบัตรระยะยาว 1.46 หมื่นล้านบาท และหักพันธบัตรที่ครบกำหนดเพียง 2.85 พันล้านบาท ทำให้อัตราผลตอบแทนจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นในตลาดแรกออกมาต่ำกว่าระดับดอกเบี้ยนโยบายมาก โดยเฉพาะการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 14 วัน ผลการประมูลอยู่ในช่วง 0.99-1.002%, อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 0.9991% และ Bid Coverage Ratio 1.50 ส่วนรุ่นอื่น ๆอัตราผลตอบแทนปรับลดลงเช่นกัน กล่าวคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยเฉลี่ยรุ่น อายุ 3 เดือน, 6 เดือน และ 1 ปี อยู่ที่ 1.0352%, 1.3001% และ 1.3878% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นเกิดแรงเทขายในตลาด ทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นในตลาดรองและการประมูลในตลาดแรกกลับปรับตัวขึ้นมา นอกจากนี้ ในเดือนนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตรบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ (BSwitching) สำหรับปีงบประมาณ 2561 เป็นครั้งแรก เพื่อปรับโครงสร้างหนี้โดยการลดยอดหนี้คงค้างพันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB196A และออกพันธบัตรรัฐบาลรุ่นใหม่ทดแทนจำนวน 4 รุ่น ได้แก่ LB22DA, LB26DA, LB366A และ LB676A ครบตามวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งธุรกรรมนี้ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนในตลาดเป็นอย่างดี มีนักลงทุนสนใจเข้าร่วมเสนอแลกรวมเป็นจำนวนถึง 19,591 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวโดยรวมจึงปรับตัวขึ้นมา 0.01-0.08% ยกเว้นรุ่นอายุ 35 ปีขึ้นไปซึ่งไม่ค่อยมีปริมาณเสนอขายในตลาด อัตราผลตอบแทนจึงปรับลดลง