อนาคตยูโรและยุโรป (8)

อนาคตยูโรและยุโรป (8)

อิตาลีมีปัญหาประเทศหลายอย่างทับถมมานาน แต่ความสำเร็จในทางเศรษฐกิจของอิตาลีในอดีต

โดยเฉพาะตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา อยู่ที่ความสามารถในการก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก โดยเฉพาะสินค้าหลายอย่างที่อิตาลีมีความได้เปรียบ การส่งออกและการค้าระหว่างประเทศจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้เศรษฐกิจของอิตาลีโตได้อย่างต่อเนื่อง

แต่ก็เหมือนหลายประเทศ ที่เคยประสบความสำเร็จในการส่งออก และการพัฒนาอุตสาหกรรม เมื่อกระบวนการโลกานุวัฒน์แผ่ขยาย และมีความเข้มข้นมากขึ้น ตามมาด้วยการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศอุตสาหกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะจากเอเชียในช่วงแรก และยุโรปตะวันออกในเวลาต่อมา ทำให้อิตาลีเสียเปรียบความสามารถในการแข่งขัน เห็นได้จากส่วนแบ่งการส่งออกในตลาดโลกที่ลดลง

แน่นอนว่าในระยะ 20 ถึง 30 ปีที่ผ่านมา มีการปรับตัว และมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในอิตาลี ทั้งในด้านบวก และลบ  โดยส่วนที่เป็นบวกยังเป็นการเปลี่ยนที่ไม่มากพอ โดยเฉพาะปัญหาในเชิงโครงสร้าง

ปัญหาโครงสร้างมีหลายระดับ ทั้งมหภาค และจุลภาค หลายเรื่องมีความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกัน อิตาลีมีอะไรแปลกๆ ที่ไม่เหมือนใครในกลุ่มประเทศใกล้เคียงกันในยุโรป 

ปัญหาหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิชาการของอิตาลีให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ คือเรื่องขนาดของบริษัท โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม 

สามัญสำนึกบอกเราว่าอุตสาหกรรมต้องมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และขนาดเล็กคละเคล้ากันไป มากน้อยแค่ไหน หรือการกระจาย (Size Distribution) ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของอุตสาหกรรม การจัดองค์กร และระบบ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ 

แต่ปัญหาของอิตาลีในเรื่องความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงนั้น ไม่ได้อยู่ที่ปัญหาโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียว แต่อยู่ที่ขนาดของบริษัทของอิตาลี ที่โดยรวมไม่มีขนาดที่ใหญ่ และมากพอเหมือนอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส

เมื่อเทียบกับการเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างอิตาลี และการแข่งขันในระดับโลกโดยเฉพาะในบริบทของบริษัทข้ามชาติ นักวิจัยอิตาลีส่วนใหญ่เห็นว่า เมื่อเวลาผ่านไป การที่บริษัทอิตาลีไม่สามารถเติบโตเป็นบริษัทขนาดใหญ่ หรือไม่สามารถเป็นบริษัทข้ามชาติไปแข่งขันกับใครๆในตลาดโลกได้ เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลด้านลบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันตามมาอีกหลายเรื่อง

ทำไมบริษัทที่มีขนาดใหญ่จึงมีความสำคัญ

แน่นอนว่าบริษัทขนาดเล็กและทำธุรกิจแบบครอบครัว หรือบริษัทขนาดกลางก็มีความสำคัญ ทำนวัตกรรมได้ แข่งขันได้ ในหลายสถานการณ์บริษัทขนาดเล็กอาจได้เปรียบบริษัทขนาดใหญ่ด้วยซ้ำไป เช่นความสามารถในการปรับตัว (เช่นบริษัททำเสื้อผ้าซึ่งเปลี่ยนรูปแบบแฟชั่นเร็วมาก) และยังใช้ต้นทุนคงที่ที่ต่ำ 

นอกจากนี้ การกระจุกตัวรวมตัวกันในพื้นที่ หรือที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็น Cluster สามารถทำให้เกิดการพัฒนาความรู้ แรงงาน ข้อมูลสารสนเทศ การศึกษาการอบรม นำมาซึ่งการประหยัดจากขนาดได้ ทั้งๆ ที่ไม่ต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่

ในหลายอุตสาหกรรมบริษัทขนาดเล็กอาจไม่ได้ทำ และไม่จำเป็นต้องทำ R&D มาก แต่นวัตกรรมเกิดขึ้นได้หลายทาง เช่นจากการเรียนรู้โดยการทำจากประสบการณ์ หรือ Learning by doing  ซึ่งอิตาลีเป็นประเทศหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงเรื่องนี้มาแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วง 30 ปีแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ครั้งที่แล้วเราได้พูดถึงความโดดเด่นของ Industrial District แถบตอนกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ทำให้สินค้า Made in Italy ดังและจับตลาดไปทั่วโลก มีส่วนทำให้อุตสาหกรรมอิตาลีแข็งแกร่งในอดีต ไม่ใช่เฉพาะสินค้าบริโภคแต่รวมถึงสินค้าทุนประเภทอุปกรณ์และเครื่องมือกลประเภทต่างๆ หรือ Machine tool ที่ต้องใช้แรงงานฝีมือ

ถ้าเช่นนั้นทำไมบริษัทขนาดใหญ่จึงมีความสำคัญ 

การค้นพบจากงานวิจัยพบว่าในบริบทของโลกานุวัฒน์ตั้งแต่ทศวรรษ  80 เป็นต้นมา บริษัทที่มีขนาดใหญ่ได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด มีขีดความสามารถในการลงทุนพัฒนาทางทรัพยากรมนุษย์ และมีการใช้จ่ายในการทำ R&D ซึ่งมีความสำคัญมากขึ้นในอุตสาหกรรมประเภทไฮเทค หรืออุตสาหกรรมที่ต้องใช้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์

บริษัทขนาดเล็กสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้เหมือนบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะถ้าต้องการลดต้นทุน (เช่นบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางของอิตาลีที่ได้มีการย้ายฐานการผลิตหรือจ้างผลิต) แต่ถ้าต้องการไปลงทุนโดยตรงเพื่อบุกสร้างและเจาะตลาด หรือไปซื้อกิจการในโลกสมัยใหม่ ซึ่งบริษัทข้ามชาติอิตาลียังทำได้น้อยกว่าประเทศอื่น บริษัทขนาดใหญ่ยังจำเป็นและมีความสำคัญ 

งานวิจัยยังพบว่า ประเทศที่มีการกระจายของบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากและข้ามชาติ ผลิตภาพของแรงงานและขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น มีความสัมพันธ์โดยตรงกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นี่เป็นปัญหาที่สำคัญส่วนหนึ่งของอิตาลี

ตั้งแต่ทศวรรษ 80 เป็นต้นมา อิตาลีเริ่มรู้ว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเองเริ่มลดลง เพราะตลาดเกิดใหม่ทั้งในเอเชียและยุโรป สามารถแทรกเข้ามาแข่งกับสินค้าประเภทเดียวกันที่อิตาลีเคยมีความได้เปรียบในราคาที่ต่ำกว่ามาก 

อิตาลีเริ่มเสียตลาดสินค้าสำคัญๆ โดยเฉพาะเยอรมนี และสหรัฐ ซึ่งมีช่วงหนึ่งในทศวรรษ 90 ที่อิตาลีพยายามเข้ามาทำอุตสาหกรรมไฮเทค แต่ไม่ประสบความสำเร็จ 

ปัญหาทั้งหมดของอิตาลีเริ่มเห็นได้ชัดขึ้นในช่วงทศวรรษ 80 ทำให้การแก้ปัญหาความสามารถในการแข่งขันทำได้ยากขึ้น โดยในทศวรรษนี้ ปัญหาเริ่มมากระจุกตัวพร้อมๆ กัน เป็นขาลงทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ รัฐอิตาลีที่เคยเป็นผู้ประกอบการ ที่ใช้ได้ทั้งก่อนและหลังสงครามเริ่มหมดน้ำยา ด้วยเหตุผลทางการเมือง และการแข่งขันจากภายนอก

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจทำได้ในระดับที่จำกัด ระบบธนาคารและตลาดหุ้นของอิตาลีไม่ดีเท่าที่ควร บริษัทเอกชนใหญ่ๆ หลายแห่งก็มีปัญหา เมื่อเทียบกับรถของเยอรมนี ส่วนแบ่งตลาดของรถกลุ่มเฟียตลดลงมาก เงินเฟ้อที่มักสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่ง ทำให้ต้องลดค่าเงิน และโอกาสเช่นนี้เริ่มหมดไปเมื่อใกล้จะเข้าเป็นสมาชิกยูโรโซน ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงไม่เกื้อหนุนต่อการส่งออก

ระบบแรงงานสัมพันธ์ของอิตาลีไม่ราบรื่นและไม่ดีเหมือนเยอรมนี จุดหัวเลี้ยวหัวต่อเริ่มตั้งแต่ปลายปี 1969 ที่เกิดการหยุดงานครั้งใหญ่ (Hot Autumn) และปีต่อมาที่ตูรินของบริษัทเฟียต การตกลงควบคุมค่าจ้างไปผูกอยู่กับอัตราเงินเฟ้อไม่โยงกับผลิตภาพของแรงงาน ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูงกว่าผู้อื่น

อิตาลีมีปัญหาหนี้และปัญหาขาดดุลการคลังเรื้อรัง ไม่เคยแก้ได้อย่างยั่งยืน การเมือง รัฐ และระบบราชการอ่อนแอ ต้นทุนการทำธุรกิจสูง ไม่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ค่าเงินที่ต้องลดบ่อยๆทำให้บริษัทอิตาลีที่อยากไปลงทุนในต่างประเทศหมดแรงจูงใจเพราะมีต้นทุนที่สูงขึ้น