เตือนปรับภาษีบุหรี่อุ้มบุหรี่ไทย ไม่แก้ปัญหาแท้จริง***

เตือนปรับภาษีบุหรี่อุ้มบุหรี่ไทย ไม่แก้ปัญหาแท้จริง***

จากกรณีรัฐวิสาหกิจโรงงานยาสูบออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกระบบภาษีปัจจุบัน เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้กับบุหรี่นำเข้า

คงจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เนื่องจากหากรัฐเลือกดำเนินการตามข้อเสนอนี้จริง 

ประเทศไทยอาจเสี่ยงโดนข้อหาไม่เป็นธรรมและเข้าข่ายเป็นการกีดกันทางการค้า โดยเห็นได้ชัดเจนว่ามีเจตนาปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศขัดกับหลักปฏิบัติเยี่ยงชาติที่เรียกกันว่า National Treatment ตามความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าของเวทีองค์การการค้าโลก(WTO) ที่ต้องไม่เลือกปฏิบัติระหว่างสินค้านำเข้า และสินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบุหรี่ที่มีผู้ผลิตรายใหญ่รายเดียวของประเทศที่มีรัฐเป็นเจ้าของและมีผู้แทนจากกระทรวงการคลังเป็นกรรมการอยู่ถึง 4 คน

ทั้งนี้จากโครงสร้างภาษีบุหรี่เดิมก่อน 16 ก.ย. 60 ที่คิดตามอัตราภาษีมูลค่าเพียงอย่างเดียวนั้น สร้างแรงจูงใจให้ให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าหันมาทำบุหรี่ราคาถูกออกมาขาย จนเป็นปัญหาด้านรายได้ภาษีบุหรี่ตกเป้าเกือบ 10,000 ล้านบาท เมื่อปีงบประมาณที่ผ่านมา 

ในขณะที่คนสูบบุหรี่ก็ไม่ได้สูบบุหรี่ลดลงเลย เพียงเปลี่ยนพฤติกรรมมาสูบบุหรี่ราคาถูกแทน จึงมีความจำเป็นต้องนำโครงสร้างภาษีระบบผสมแบบใหม่มาใช้ โดยมีการเพิ่มการเก็บภาษีด้านปริมาณมานั้น ซึ่งถือว่าเป็นไปตามหลักสากลที่เสนอแนะโดยธนาคารโลก IMF และองค์การอนามัยโลก และแนวโน้มที่ประเทศต่างๆ ไม่น้อยกว่า 100 ประเทศ หันมาให้ความสำคัญกับภาษีปริมาณเป็นหลัก 

“ข้อดีของโครงสร้างภาษีระบบใหม่คือ บุหรี่ราคาถูกหายไปจากตลาดโดยบุหรี่ที่เคยขาย 40-50 บาท ต้องปรับราคามีที่ 60 บาทดีต่อการดูแลสุขภาพประชาชนและยังทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ได้ยากขึ้น ในขณะที่รายได้รัฐก็ไม่ได้รับผลกระทบตามที่กรมสรรพสามิตเคยให้ข่าวไว้ โดยเป็นผลจากการใช้ภาษีปริมาณที่รับประกันว่าบุหรี่ 1 ซอง ไม่ว่าถูกหรือแพงก็ต้องเสียภาษีอย่างน้อย 24 บาทต่อซอง และป้องกันการแจ้งต้นทุนต่ำกว่าเป็นจริงเพื่อเลี่ยงภาษีที่เป็นปัญหาในระบบเดิม โดยแม้ว่ารายได้จะได้รับผลกระทบระยะสั้นจากการที่บุหรี่มีราคาแพงขึ้น ทำให้ยอดขายบุหรี่ทั้งอุตสาหกรรมลดลงตามมา รวมทั้งจากการที่ผู้ประกอบการบางรายตุนสินค้าไว้ล่วงหน้า ซึ่งเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการขึ้นภาษี แต่ในระยะยาวรายได้ภาษียาสูบไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน โดยแม้ว่าโรงงานยาสูบขายได้น้อยลง แต่คนอื่นขายได้มากขึ้น ในราคาและภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น รัฐก็ได้ภาษีเท่าเดิมอยู่ดี”

โครงสร้างภาษีใหม่ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของกระทรวงการคลัง เพราะทำให้บุหรี่แพงขึ้น คนสูบลดลง แถมไม่กระทบรายได้ภาษียาสูบด้วย ดังนั้น จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ หากจะปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่เพื่อปกป้องโรงงานยาสูบหรือเอื้อบุหรี่ราคาถูกแลกกับการดูแลสุขภาพของประชาชนและรายได้ภาษียาสูบหากเปรียบเทียบก็เหมือนกับทีมฟุตบอลของรัฐไม่เข้มแข็ง ก็ควรซ้อมเยอะๆ เพราะหากจะใช้วิธีการปรับกติกาเพื่อเอื้อพวกตัวเอง 

ทำอย่างนี้ภาคธุรกิจการค้าและบรรยากาศการลงทุนจะเกิดความไม่ไว้ใจเขาจะมองได้ว่า สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันไม่เสรีและไม่เป็นธรรมในขณะที่ทางออกที่ดีสำหรับการแก้ไขปัญหาโรงงานยาสูบน่าจะเป็นการเร่งพัฒนาคุณภาพของสินค้า พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพผู้สูบน้อยลง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับบุหรี่จากต่างประเทศ และขยายตลาดเพื่อมุ่งสู่การส่งออกมากขึ้นด้วย

 

*** ชื่อเต็มเรื่อง :นักวิชาการเตือนปรับภาษีบุหรี่อุ้มบุหรี่ไทย ไม่แก้ปัญหาที่แท้จริง