ยาวไปไม่อ่าน ... นานไปไม่ทำ

ยาวไปไม่อ่าน ... นานไปไม่ทำ

ทั้ง Talent และ Passion จึงล้วนเกิดจากความ 'สนใจ' ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแท้จริง

เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คุณบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) (ซึ่งกำลังจะเป็นอดีต CEO เนื่องจากได้ลาออกจากตำแหน่งแล้วโดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2560 เพราะต้องการพักหลังจากเข้าทำงานในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2551) ได้นัดผมมาทานข้าวด้วยกัน เพื่อขอบใจผมที่ได้ช่วยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายในงานของ TMB และคุณบุญทักษ์มาอย่างยาวนาน เนื่องจากผมรู้จักกับคุณบุญทักษ์มาตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งเป็นปีแรกที่ผมกลับจากนิวยอร์กมาทำงานในประเทศไทย เพราะผมได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่กลุ่มธนาคารหลายแห่งในการให้สินเชื่อแบบ Project Finance (การให้สินเชื่อที่พิจารณาจากโอกาสที่โครงการจะประสบความสำเร็จ) เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างโครงการทางด่วนบางนา–บางปะกง ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าที่นำโดย บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) เพิ่งได้รับสัมปทานจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยในขณะนั้นคุณบุญทักษ์ทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูงอยู่ที่ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ร่วมให้สินเชื่อด้วยและเป็นหัวหน้าผู้ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้ให้แก่ธนาคาร และเมื่อคุณบุญทักษ์ได้ตัดสินใจลาออกมารับตำแหน่ง CEO ของ TMB คุณบุญทักษ์ก็ยังคงมีงานของ TMB ให้ผมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

คุณบุญทักษ์กับผมคุยกันถึงเรื่องครอบครัว เรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องงาน ซึ่งคุณบุญทักษ์ได้เล่าให้ฟังว่าเมื่อต้องมาทำหน้าที่ CEO โอกาสที่จะได้ทำดีลก็น้อยลง เพราะมีงานด้านบริหารจัดการล้นมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง 'คน' ซึ่งคุณบุญทักษ์ให้ความสนใจเป็นพิเศษและได้มีโอกาสนำความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับเรื่อง 'คน' กับ 'งาน' มาใช้ที่ TMB หลายเรื่อง และเราก็ได้คุยกันเลยไปถึงเรื่องของคนรุ่นใหม่ (คือพวกอายุ 30 ปีเศษๆ หรือน้อยกว่านั้นที่เรียกกันว่า Gen Z หรือ Gen อื่นๆ ถัดลงไป) ซึ่งคนรุ่นเก่าจำนวนมากมองว่าเป็นพวกไม่มีความ 'อุตสาหะ' และยากที่จะทำอะไรให้สำเร็จได้ จนมีการประชดประชันกันว่าเป็นคนจำพวก 'ยาวไม่อ่าน' คือ อดทนอ่านข้อเขียนยาวๆ ไม่ได้ และ 'นานไม่ทำ' คือ อดทนทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เกิดความสำเร็จไม่ได้ ต้องการทำงานที่เห็นผลสำเร็จเร็วๆ

คุณบุญทักษ์เห็นว่าความเห็นนี้อาจไม่ถูกต้อง โดยได้ยกตัวอย่างคนรุ่นใหม่ที่ทำงาน 'Startups' ว่าต้องใช้ความ 'อุตสาหะ' ทุ่มเทศึกษาค้นคว้าทดลองและทำงานอย่างหนักไม่ต่างจากการก่อร่างสร้างตัวของคนรุ่นก่อนๆ ซึ่งในมุมมองของคุณบุญทักษ์นั้น คนรุ่นใหม่สามารถทำเช่นนี้ได้เพราะเขารู้สึกผูกพันในความสำเร็จและล้มเหลวของงานเนื่องจากเขามีความเป็น 'เจ้าของ' (ownership) งานนั้น ดังนั้น ผู้บริหารต่างหากที่จะต้องปรับลักษณะงานในทุกภาคส่วนขององค์กรเพื่อให้คนทำงานรู้สึกว่ามีความเป็น 'เจ้าของ' งานนั้น ความเห็นของคุณบุญทักษ์นี้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจเรื่อง 'คน' โดยใช้การสังเกตไม่ด่วนสรุปและสอดคล้องกับผลการศึกษาในเรื่อง GRIT ซึ่งผมได้อ่านจากหนังสือชื่อ GRIT: Why passion and resilience are the secrets to success ที่เพิ่งออกวางจำหน่าย (เขียนโดย Professor Angela Duckworth อาจารย์ประจำของ University of Pennsylvania)

Professor Angela Duckworth เห็นว่า GRIT คือ สูตรในการทำงานให้เกิดเป็นความสำเร็จ (Achievement) ของคนทุกรุ่นซึ่งจะต้องอาศัย (1) Passion เพื่อฝึกฝนทำงานที่ตนเองมีความสามารถพิเศษ (Talent) ด้วยความเพียรพยายาม (Effort) จนเกิดเป็นทักษะ (Skill) (Talent + Effort = Skill ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วย Passion) และ (2) Resilience เพื่อนำทักษะ (Skill) ไปทำงานด้วยความเพียรพยายาม (Effort) จนเกิดเป็นความสำเร็จ (Achievement) (Skill + Effort = Achievement ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วย Resilience)

ซึ่ง Passion นี้เกิดจากความเชื่อว่าตนเองทำสิ่งนั้นๆ ได้ดีซึ่งก็คือการมี Talent นั่นเอง ส่วน Talent นั้นเกิดจากความ 'สนใจ' ในสิ่งที่ทำจนเกิดความเพียรพยายามที่จะฝึกฝนเพื่อทำมันให้ได้ดี ดังนั้น ทั้ง Talent และ Passion จึงล้วนเกิดจากความ 'สนใจ' ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแท้จริง
ส่วน Resilience นั้นก็คือ 'อุตสาหะ' เป็นความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

ผมจึงเห็นว่าอาการ 'ยาวไม่อ่าน...นานไม่ทำ' นั้นเป็นเพราะคนรุ่นใหม่มีทางเลือกมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ เช่น ในเรื่องข้อเขียน เขามีข้อเขียนให้อ่านมากมายโดยเฉพาะทาง Internet เขาจึงไม่อยากเสียเวลาอ่านอะไรยาวๆ เพราะอยากไปอ่านเรื่องอื่นๆ ด้วย แต่ถ้าเป็นข้อเขียนที่เขา 'สนใจ' เขาก็จะต้องทุ่มเทอ่านอย่างแน่นอนไม่ว่าจะยาวเพียงใด หรือในเรื่องงาน เขาก็มีทางเลือกมากมายโดยเฉพาะงานในรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาได้เสมอๆ เขาจึงไม่อยากเสียเวลาทำงานที่เขารู้สึกว่าเขาไม่ 'สนใจ' เพราะอยากไปทดลองทำงานอย่างอื่นๆ ด้วย แต่ถ้าเขาเจองานที่เขา 'สนใจ' และสามารถมีความรู้สึกผูกพันเป็น 'เจ้าของ' งานนั้นด้วย เขาก็จะต้องทุ่มเททำงานนั้นให้ได้ดีไม่ว่าจะเหนื่อยยากเพียงใด ซึ่งก็สามารถอธิบายได้ตามทฤษฎี GRIT (Passion + Resilience)

(I am not a genius, if you define genius as being able to accomplish great things in life without effort. But I am a genius, if you define genius as working toward excellence ceaselessly. Professor Angela Duckworth จากหนังสือ GRIT)