มหาอำนาจกับ ‘การทูตนักเลงโต’

มหาอำนาจกับ ‘การทูตนักเลงโต’

เมื่อวานผมเขียนถึง “การทูตมะกันอันธพาล” ในกรณีที่ 128 ประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ ยกมือไม่เอาด้วยกับสหรัฐที่ โดนัลด์ ทรัมป์

ประกาศยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล

เป็นตัวอย่างของการที่มหาอำนาจอย่างอเมริกาข่มขู่ข่มเหงประเทศเล็กกว่าเพียงเพราะตัวเองอ้างว่าเป็นคนให้เงินองค์กรโลกแห่งนี้มากกว่าคนอื่น

ไม่แต่เท่านั้นยังคุกคามทั้งก่อนการลงมติ และหลังผลออกมาชัดเจนว่าประเทศส่วนใหญ่ไม่เล่นด้วยกับทรัมป์

มีเพียง 9 ประเทศที่ยกมือให้กับอเมริกา และส่วนใหญ่ก็เป็นชาติเล็ก ๆ ที่จำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐอย่างมาก หรือไม่ก็ไม่มีทางเลือก ไม่อาจจะตัดสินนโยบายต่างประเทศด้วยตนเองได้

อีก 35 ประเทศที่ งดออกเสียง นั้น น่าสังเกตว่ามี แคนาดา และฟิลิปปินส์ ที่เป็นมิตรเก่ามาช้านาน ไม่อยากจะตบหน้าทรัมป์ต่อหน้าสาธารณะ แต่ก็ไม่อาจจะโหวตให้กับทรัมป์ได้ เพราะผิดหลักการแห่งสิทธิในการตัดสินนโยบายของตนเองโดยสิ้นเชิง

ในกรณีนี้การตัดสินใจงดออกเสียงก็เท่ากับเป็นการไม่เห็นด้วยกับทรัมป์ เพียงแต่เป็นการแสดงออกอย่างมีมารยาทเท่านั้น

ที่เห็นชัดเจนว่าสหรัฐกำลังถูก โดดเดี่ยว ทางการทูตระหว่างประเทศก็คือ พันธมิตรที่เหนียวแน่นแต่ก่อนเก่าอย่างอังกฤษ  ฝรั่งเศส และ เยอรมนี ต่างก็คัดค้านสหรัฐ อย่างเปิดเผยในประเด็นนี้ เพราะไม่อาจจะยอมตกอยู่ในสภาพที่ถูกสหรัฐกดดันบังคับให้ต้องทำให้สิ่งที่ผิดแผกไปจากหลักการใหญ่ แห่งการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศได้เลย

ประเทศไทยเรามีความชัดเจนกล้าหาญในเรื่องนี้ จึงเป็นหนึ่งใน 128 ประเทศที่เห็นพ้องกับอีก 127 ประเทศว่า จำเป็นต้องร่วมมติให้วอชิงตันถอนการตัดสินใจเช่นนั้น เพื่อให้กระบวนการสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ กลับฟื้นคืนมาได้

การที่สหรัฐแสดงจุดยืนที่น่ารังเกียจเช่นนี้ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศว่า เป็นตัวอย่างของการใช้ความใหญ่และอิทธิพลของตนทำตัวเป็น อันธพาลระหว่างประเทศ

ไม่ใช่ว่าสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีคนก่อน ๆ จะไม่ใช้วิธีกดดันชาติอื่นให้เดินตามแนวทางของตน แต่ที่ผ่านมาจะเป็นการพูดจาต่อรอง และแลกเปลี่ยนเงื่อนไขกันพอสมควร

แต่การลุกขึ้นชี้นิ้วต่อว่าต่อขาน ทวงบุญคุณ, ประกาศจะตัดเงินช่วยเหลือกับประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับตน และข่มขู่ว่าจะตัดสัมพันธ์กับประเทศที่ไม่ยอมหงอตามนั้น เป็นพฤติกรรมที่ทำลายกติกามารยาทแห่งการคบหาระหว่างประเทศโดยสิ้นเชิง

ทรัมป์อ้างว่าที่อเมริกาตัดสินเรื่องเยรูซาเลม เป็นการใช้สิทธิในฐานะชาติที่มีอธิปไตยของตน ทำตามความต้องการของประชาชนคนอเมริกัน

ทำไมทรัมป์ไม่คิดว่าประเทศอื่นที่ตัดสินใจไม่เดินทางเดียวกับเขานั้น ก็เป็นการใช้สิทธิในฐานะประเทศที่มีอธิปไตยเป็นของตน และเป็นไปตามเสียงเรียกร้องต้องการของประชาชนในแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน

มหาอำนาจกับ ‘การทูตนักเลงโต’

จีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิงประกาศว่าจะปรับความสัมพันธ์กับต่างชาติ ด้วยการเคารพในสิทธิของชาติอื่น และจะไม่ก้าวก่าย หรือ แทรกแซง กิจกรรมภายในของประเทศอื่น ๆ

แต่จีนก็ใช้วิธีการกดดันประเทศอื่นในรูปแบบต่างๆ  เช่นเมื่อไม่พอใจเกาหลีใต้ในการยอมให้สหรัฐ ติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธของสหรัฐหรือ THAAD ก็สั่งห้ามทัวร์จีนไปเยือนประเทศนั้น จนมีผลกระทบทางลบกับเศรษฐกิจของประเทศนั้นทันที และเมื่อเจรจากันรู้เรื่องตามแนวที่จีนต้องการ ก็ยอมปล่อยให้ทัวร์กลับไป

นี่ก็เป็น “การทูตอันธพาล” รูปแบบหนึ่งที่เราต้องจับตาติดตามและวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง

ปีใหม่ที่กำลังมาถึงจะมีเรื่องราวที่ต้องเกาะติดกันอย่างใกล้ชิด พิจารณาด้วยข้อมูลรอบด้านและตั้งสติกันให้มั่นคงกันอีกมากมายทีเดียว