การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในปีใหม่

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในปีใหม่

ปัญหาหลักของการบริหารประการหนึ่งที่มักจะพบคือผู้บริหาร (หรือบุคคลทั่วๆ ไป) สามารถที่จะคิด ตั้งเป้าหมาย และวางแผนได้

แต่มักจะไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ตามแผนที่วางไว้ 

ยิ่งในปัจจุบันที่คนสามารถที่จะมีไอเดียใหม่ๆ ผุดขึ้นได้ตลอด ก็จะทำให้เรามักจะเกิดความตื่นเต้น กระตือรือร้น กับสิ่งใหม่ๆ ที่อยากจะทำ แต่สุดท้ายแล้วการปฏิบัติก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามความหวังหรือความตั้งใจที่มีไว้ 

ยิ่งพอเข้าใกล้ปีใหม่นี้ ก็เลยทำให้นึกถึงปัญหาที่คล้ายๆ กับที่เกิดในองค์กร (คิดได้ วางแผนได้ แต่ปฏิบัติไม่ได้) แต่มักจะเกิดขึ้นกับคนทั่วๆ ไป นั้นคือ เรื่องความมุ่งมั่นในวันปีใหม่ หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า New Year Resolution

ปีใหม่จะเหมือนกับเป็นหมุดของช่วงเวลาที่คนมักจะหวังว่าจะเริ่มต้นหรือเปลี่ยนแปลงในสิ่งต่างๆ ที่ดีขึ้นกับตัวเอง 

หลายท่านพอถึงปีใหม่ก็มักจะบอกว่า ปีหน้าจะเริ่มอะไรบ้าง ไม่ว่าจะลดน้ำหนัก ออกกำลังกายให้มากขึ้น บริหารเวลาดีขึ้น ตั้งใจเรียนหนังสือ ฯลฯ 

อย่างไรก็ดีมีงานวิจัยที่ออกมาอย่างต่อเนื่องจากหลายๆ แหล่งที่ชี้ให้เห็นตรงกันว่า ความหวังที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำให้เกิดขึ้นในโอกาสขึ้นปีใหม่นั้น มักไม่ประสบความสำเร็จ

สมมติว่าถ้าปีใหม่ที่จะถึงนี้ ท่านตั้งใจจะลดน้ำหนัก นักวิจัยพบว่าภายในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังเปิดจากปีใหม่มา ท่านมักจะสามารถทำได้ตามที่ตั้งใจไว้ (นั้นคือเริ่มเห็นความคืบหน้าในการลดน้ำหนัก) อย่างไรก็ดีพอเข้าเดือนก.พ. พฤติกรรมและความตั้งใจต่างๆ ที่มีมาตอนช่วงปีใหม่จะค่อยๆ เริ่มเลือนหายไป และพอถึงเดือนธ.ค. น้ำหนักของท่านก็กลับมายืนอยู่ ณ จุดเดิมเมื่อปีที่แล้ว และเผลอๆ อาจจะขึ้นไปจากเดิมด้วย 

สุดท้ายท่านก็จะเข้าสู่วัฎจักรเดิมๆ อีกในทุกๆ ปี

คำถามคือทำไมความหวัง ความตั้งใจ หรือ ความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งใหม่ๆ พัฒนาตนเอง ปรับปรุงตนเอง ในปีใหม่ถึงมักจะล้มเหลว (เหมือนกับทำไม วิสัยทัศน์ เป้าหมาย หรือ แผนขององค์กร ที่วางไว้ถึงมักไม่ประสบความสำเร็จ) 

นักจิตวิทยาเคยระบุไว้ว่า ความหวังต่างๆ ที่จะทำให้เกิดขึ้นในปีใหม่นั้นเปรียบเสมือนเป็นวัฒนธรรมของการผลัดวันประกันพรุ่ง (cultural procrasination) ที่อยากจะเปลี่ยนตัวเอง แต่ต้องเปลี่ยนในปีหน้า (ทำไมไม่เปลี่ยนเลย) อีกทั้งยังเป็นการตั้งความหวังที่ไม่อิงกับความจริง (false hope syndrome)

ต้องอย่าลืมว่า New Year Resolution มักจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารให้น้อยลง ออกกำลังกายให้มากขึ้น เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มสุรา เลิกเล่นไลน์ ฯลฯ  ซึ่งการเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นใช่ว่าอยู่ดีๆ จะเปลี่ยนได้

การเปลี่ยนพฤติกรรมจริงๆ แล้วคือการสร้างพฤติกรรมใหม่ขึ้นมา และจะต้องค่อยๆ ที่จะเรียนรู้ และเคยชินกับพฤติกรรมใหม่ๆ 

ดังนั้นเวลาเริ่มต้น อย่าเพิ่งไปตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินไป แต่การสร้างพฤติกรรมใหม่นั้นจะต้องเริ่มจากก้าวเล็กๆ ก่อน

เนื่องจากการเริ่มจากเล็กๆ จะทำให้คนมีแรงจูงใจที่จะสร้างพฤติกรรมใหม่ขึ้นมาง่ายกว่า อีกทั้งคนเองก็จะเกิดความเครียดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงน้อยด้วย เช่น ถ้าปีใหม่นี้ตั้งเป้าว่าจะไม่ทานอาหารมื้อเย็น โดยเปลี่ยนมาทานสลัดหรือผลไม้แทนนั้น จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เยอะแบบหักดิบ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสามารถนำความเครียดมาสู่คนได้

แต่ถ้าเริ่มจากเล็กๆ เช่น ท่านอาหารมื้อเย็นเหมือนเดิม แต่แทนที่จะตักข้าวเต็มจานอาจจะเริ่มจากตักข้าว 3/4 จาน จากนั้นค่อยเหลือ 1/2 จาน แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดความคุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และจะทำให้การเปลี่ยนแปลงมีโอกาสสำเร็จและยั่งยืนกว่า

หวังว่าทุกท่านคงจะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงที่หวังไว้ในปีใหม่ 2561 นี้ แล้วอย่าลืมว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นจะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปนะครับ