ส่งต่อความสุข จากเวทีแข่งขัน SET เยาวชนดนตรี

ส่งต่อความสุข จากเวทีแข่งขัน SET เยาวชนดนตรี

ก่อนขึ้นปีใหม่ มีโอกาสได้สัมภาษณ์ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในโอกาสที่ท่านมาเป็นคณะกรรมการตัดสิน การประกวด SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย

และคณะดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้น ซึ่งท่านให้ความสำคัญกับกิจกรรมเยาวชนนี้มาก โดยท่านให้ความเห็นว่าการสนับสนุนกิจกรรมศิลปะ และดนตรีให้เยาวชนนั้นเป็นการทำความดี ที่อยากให้สังคมไทยได้หันมาทำความดีนี้เพิ่ม เพื่อช่วยกันพัฒนาศักยภาพให้คนของประเทศ เพราะงานศิลปะ และดนตรี เป็นวิชาชีวิต

“การทำความดีไม่ต้องขออนุญาต ต้องมาช่วยกันส่งเสริมเรื่องดนตรี ศิลปะมากๆ เพราะการที่คนมาสนใจเรื่องนี้มากๆเป็นการพัฒนาชีวิตด้วย ไม่ใช่มุ่งแต่เรื่องเรียนวิชาการหรือแข่งขันกัน ที่จะหาประโยชน์จากการเป็นอาชีพเท่านั้น จะได้ความสุขด้วยไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร แต่วิชาดนตรีจะทำให้เขามีความสุข ดังนั้นอยากจะให้เป็นค่านิยมใหม่ หรือรสนิยมใหม่ที่คนในสังคมควรหันสนใจเรื่องเหล่านี้ดนตรีเป็นสื่อสากลเป็นภาษาของความรู้สึก  วันนี้ได้ฟังดนตรี ที่ ไม่จำกัดประเภท ไม่ว่าจะเล่นดนตรีพื้นเมือง ดนตรีไทย หรือดนตรีสากล หรือเล่นอะไรก็ตาม ให้ออกมาเป็นเสียงธรรมชาติ ถือเป็นสากล ไม่จำเป็นต้องจำกัดเครื่องมือเพราะเป็นเรื่องของการให้ความรู้สึก และเด็กๆก็เล่นอย่างมีชีวิตชีวา วันประกวดรอบชิงชนะเลิศทั้งวันเป็นวันที่มีประสบการณ์ความสุขด้วยกัน ซึ่งอยากสื่อมวลชนขอให้ช่วยแพร่กระจายข่าวพวกนี้ไปเยอะๆทำให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ดีๆยังมีอยู่อีกเยอะ เพื่อให้เป็นค่านิยมใหม่ของสังคมไทย ให้ผู้คนสนใจได้ใส่ใจให้ลูกหลานได้มีประสบการณ์ทางด้านดนตรีด้านศิลปะ เพราะทำให้จิตใจมีความสุข ซึ่งเป็นวิชาชีวิต”

จากมุมมองที่อาจารย์เนาวรัตน์ ได้สะท้อน ผู้เขียนเห็นด้วยกับท่านมากๆ เพราะจากการได้พูดคุยกับเยาวชนในโครงการนี้ สัมผัสได้ถึงความสุข การมีทักษะชีวิต   คนที่แพ้การแข่งขันก็รับรู้ว่าตนเองมีข้อบกพร่องต้องพัฒนาต่อ พร้อมกลับไปฝึกฝน เล่นดนตรีต่อไปให้ตัวเองมีความเก่งขึ้น ขณะที่คนที่ชนะการแข่งขันถึงแม้จะมีความสุขดีใจ แต่ก็รู้ว่าจะต้องพัฒนาตนเองต่อไป เพราะความก้าวหน้าทางดนตรีจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการฝึกซ้อม

พูดถึงพัฒนาการของเยาวชนที่เกิดจากการเล่นดนตรี อยากเล่าถึงน้อง ด.ช.กิตติคุณ เจริญพันธ์สุทธิ  โรงเรียนอนุบาลปทุมธานี  เจ้าของรางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง ดนตรีระนาดเอก ซึ่งในวัยเพียง 10 ขวบไม่ทันได้ตั้งตัวรับมือกับพี่ๆสื่อมวลชนที่มาสัมภาษณ์ แต่น้องได้ใช้สติ สมาธิ ที่ได้จากการเรียนดนตรี ยืนตรง ตอบคำถามพี่ๆ ที่ป้อนคำถามให้น้องไม่ยั้ง  แม้จะตอบสั้นๆ แต่ก็หนักแน่น ขณะที่บางคำถามไม่อยากตอบ น้องก็ยิ้มน้อยๆ ส่งสัญญาณให้พี่ๆ รู้ว่าเปลี่ยนคำถามเถอะผมไม่อยากตอบ เมื่อถูกถามถึงความยากของดนตรีไทย น้องกิตติคุณ ก็ตอบสั้นๆ แต่โดนใจมาก“ดนตรีไทยไม่ยากครับถ้าเราเข้าใจมัน ” 

ขณะที่น้องที่โตขึ้นมาอีกนิด อย่างน้อง ภัทรจารีย์ วณิชย์วงศ์วานอายุ14 ปี ชั้นม.2 โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา ได้รับรางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง ในระดับมัธยมต้น  ด้วยการขับร้องเพลง The Girl in 14G ก็สามารถวิเคราะห์เหตุผลที่น่าจะทำให้ตนเองได้ชัยชนะจากการแข่งขันได้อย่างฉะฉาน “เวทีนี้ให้ประสบการณ์กับหนูมากทำให้เห็นว่าคนอื่นเก่งและมีจุดเด่นที่เราไม่มีมากแค่ไหน แล้วสามารถนำมาใช้กับตัวเองได้ ”

เช่นเดียวกับน้องปริยฉัตร สิทธิดำรงการ อายุ 17 ปี  ชั้นม.6 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ระดับมัธยมปลาย ด้วยการขับร้องเพลงโอเปร่าที่มองว่าการแสดงของเธอดีขึ้นเพราะได้นำข้อบกพร่องมาแก้ไขหมั่นซ้อมมีสมาธิกับตัวเองมากๆ

ส่วนในเยาวชนที่โตขึ้นมาในระดับอุดมศึกษา น้องกฤษฎา ชัยรัตนศักดิ์อายุ 20ปี ชั้นปี3 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับรางวัลเหรียญทองชนะเลิศ  พูดถึงการได้รับรางวัลว่า ทำให้รู้สึกก้าวไปอีกก้าว แต่ไม่ได้มองว่าพอประสบความสำเร็จแล้วจะทำให้หยุดการพัฒนาทุกครั้งที่มาประกวดทำให้ได้ประสบการณ์ดีๆกลับไปทุกครั้ง  อีกทั้งยังได้ลดความตื่นเต้น และลดความประมาทลง

จากความสุขจากภายในของน้องๆที่ถ่ายทอดออกมาเป็นดนตรีอันไพเราะ  และได้ส่งต่อให้ผู้ใหญ่ผ่านการแสดงที่ยอดเยี่ยมมากๆ  ทำให้ผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ผู้สนับสนุน กรรมการตัดสิน  สื่อมวลชน ครูดนตรี และพ่อแม่  ต่างมีความสุขใจ ที่ได้เห็น พวกเขามีพัฒนาการทางความคิด  พร้อมเติบโตเป็นความงดงามของสังคม ที่น่าส่งเสริม ดังที่อาจารย์เนาวรัตน์ ได้ให้ข้อสังเกตไว้อย่างแท้จริง

ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุขมากๆ และมีสุขภาพแข็งแรง ก้าวหน้า รุ่งเรืองตลอดปีและตลอดไป

Happy New Year 2018