“CEO Action” กับภารกิจลดความต่างสังคม

“CEO Action” กับภารกิจลดความต่างสังคม

สวัสดีค่ะ ฉบับนี้ดิฉันขอพูดถึงเรื่องของ “ความหลากหลาย” หรือ Diversity ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งของโลกเราที่มีมาอย่างยาวนาน

และไม่น่าเชื่อว่าจะส่งผลอันมีนัยยะสำคัญต่อการทำงานด้วย เพียงเพราะคนๆ นั้น “ต่าง” จากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างด้านเพศ อายุ เชื้อชาติ รสนิยมทางเพศความทุพพลภาพสถานะการติดเชื้อเอชไอวี สถานภาพสมรส การตั้งครรภ์และการลาคลอดบุตร ไปจนถึงด้านความคิดเห็นทางการเมืองและศาสนา เป็นต้นค่ะ

วันนี้จึงขอเล่าถึงกลุ่มบริษัทและสถาบันการศึกษาชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ที่ให้ความสำคัญและต้องการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังค่ะ นั่นก็คือกลุ่ม “CEO Action for Diversity & Inclusion” หรือเรียกสั้นๆ ว่ากลุ่ม CEO Action ที่เกิดจากการ “รวมกันเฉพาะกิจ” ของซีอีโอบริษัทเอกชนและผู้นำของมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ กว่า 330 แห่งเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เพื่อหารือกันถึงการแก้ปัญหาในระยะยาว เพื่อส่งเสริมการยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมกัน(Diversity and inclusion) ทั้งในโลกของการทำงานและสังคมโดยรวม

ซีอีโอและผู้นำที่มารวมตัวกันตั้งกลุ่ม CEO Action นั้นมาจากหลากหลายองค์กรชั้นนำในกว่า 85 ธุรกิจ และมีพนักงานรวมกันนับล้านคน ไม่ว่าจะเป็น Accenture, BCG, Deloitte US, The Executive Leadership Council, EY, General Atlantic, KPMG, New York Life, Procter & Gamble, PwC, HSBC, IKEA US, L’Oréal USA และ Moody’s ทางด้านมหาวิทยาลัย อาทิ University of San Francisco, Bentley University, Miami University of Ohio, Oregon State University และ University of Dayton เป็นต้นโดยในการพูดคุยของกลุ่ม CEO Action บรรดาซีอีโอทั้งหลายได้หารือกันถึงประเด็นความหลากหลาย (Diversity) ในสังคม อาทิ ความแตกต่างทางเพศและเชื้อชาติ และหามาตรการรองรับที่จะนำมาใช้ในระหว่างองค์กรสมาชิกด้วยกัน รวมถึงหาวิธีการวัดผลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้พนักงานและคนในสังคมมีชีวิตที่ดีขึ้น

ที่มาของโครงการดังกล่าว มาจากผลการศึกษาหลายชิ้นที่พบว่าผลการดำเนินงานที่ดีของธุรกิจนั้นมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับสภาพแวลล้อมขององค์กรและความหลากหลายของทีมงาน โดยจากการศึกษาจากมหาวิทยาลัย 7 แห่งในปี 2016 พบว่า แม้ว่าความแตกต่างหลากหลายของทีมงานจะนำมาสู่นวัตกรรม รวมถึงทำให้มีการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น และทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้น แต่กลับไม่ค่อยมีใครนำความแตกต่างนี้มาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่

โดยรายงานจาก Center for Talent Innovation ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยไม่แสวงกำไร ระบุว่า เมื่อพนักงานสามารถพูดคุยถึงเรื่องความแตกต่างหลากหลายได้อย่างเปิดเผยในที่ทำงาน อาทิ เรื่องเชื้อชาติ พวกเขาจะรู้สึกมีส่วนร่วมและรู้สึกว่าความคิดของพวกเขาได้รับการยอมรับมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากรายงานดังกล่าวพบอีกด้วยว่ามากกว่า 2 ใน 3 ของพนักงานมีความรู้สึกอึดอัดใจเมื่อต้องพูดถึงเรื่องเชื้อชาติ และอีก 29% รู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถพูดถึงประสบการณ์ความลำเอียงทางเชื้อชาติที่เคยพบเจอมาในที่ทำงานได้เลย

“การแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็น เพราะพนักงานของเรา บุคลากรในสถาบันของเรา ตลอดจนคนในชุมชนของเราจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญปัญหานี้ และยังดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พวกเราจึงต้องการสร้างความแตกต่างในทางบวกในด้านการยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมกันให้แก่องค์กรและชุมชนของเรา”ทิม ไรอัน” Senior Partner and U.S. Chairman จาก PwC ในฐานะประธานของกลุ่ม CEO Action กล่าว“ซีอีโอทั่วสหรัฐอเมริกาเข้าใจดีกว่านี่ไม่ใช่เรื่องของการแข่งขัน แต่เป็นประเด็นปัญหาทางสังคม”

ด้วยความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าว กลุ่ม CEO Action จึงมุ่งมั่นร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อให้ผลการดำเนินงานของบริษัดีและเติบโตขึ้น รวมถึงพนักงานมี Engagement กับองค์กรมากขึ้นโดยแต่ละบริษัทที่เข้าร่วม จะต้องดำเนินการในด้านต่างๆ เหล่านี้เพื่อลดปัญหาความแตกต่างและส่งเสริมให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งในองค์กรและในชุมชน ดังนี้

1.ส่งเสริมให้องค์กรของตนสามารถพูดคุยเกี่ยวกับความแตกต่างได้อย่างเปิดเผย โดยกระตุ้นให้พนักงานสบายใจที่จะบอกเล่าประสบการณ์ของตนให้เพื่อนร่วมงานรับฟัง และไม่มีความขัดแย้งต่อกัน ซึ่งเท่ากับองค์กรได้ส่งเสริมให้มีความไว้วางใจกัน เห็นอกเห็นใจกันและเปิดเผยต่อกัน ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น

2.ให้การศึกษาเรื่องการมีอคติโดยไม่รู้ตัว (Unconscious bias)โดยองค์กรจะต้องให้ความรู้เกี่ยวกับอคติแฝงที่มักมีกันโดยไม่รู้ตัวในที่ทำงาน (เช่น การเหยียดเพศ) โดยต้องตอบโจทย์ของวัฒนธรรมองค์กรของตนด้วย เพื่อเป็นการช่วยเหลือพนักงานให้ได้ตระหนักและมองเห็นจุดบอดที่ตนเองอาจมองข้ามไป เช่น การทำหลักสูตรอบรมในเรื่องดังกล่าว เป็นต้น

3.แบ่งปันประสบการณ์ทั้งด้านที่ดีและด้านที่แย่ องค์กรควรส่งเสริมให้มีการแย่งปันความสำเร็จและความท้าทายของการบริหารความแตกต่างภายในองค์กรร่วมกับองค์กรหรือหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการทำให้บริษัทเหล่านั้นต้องมีการวัดผลและความก้าวหน้ามาอัพเดตต่อสมาชิก อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จของโครงการและการวัดผลที่จับต้องได้

เคธี่เอนเกลเบิร์ท ซีอีโอจาก Deloitte USสมาชิก CEO Action อีกราย กล่าวว่า เราเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาความแตกต่างหลากหลายในที่ทำงาน และต้องการทำให้พนักงานทุกคนได้อยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมกัน และเห็นคุณค่าของกันและกัน ซึ่งการจะทำลายกำแพงเหล่านี้ เราต้องแสวงหาจุดร่วมและรแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อให้พนักงานมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงและแสดงศักยภาพที่มีออกมาเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด รวมถึงได้ใช้ชีวิตได้อย่างดีที่สุดด้วยเช่นกัน"

ในไทย แม้เราจะมีประเด็นความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติหรือสีผิวที่ไม่รุนแรงเท่าบ้านเขา แต่ก็ยังมีความแตกต่างหลากหลายในด้านอื่นๆ ที่ส่งผลต่อชีวิตและการทำงานของคนๆ นั้นอยู่ไม่น้อย การรวมตัวกันของกลุ่ม CEO Action จึงอาจทำให้เราได้ไอเดียดีๆ เพื่อเอามาใช้ในบ้านเราบ้างก็ได้นะคะ