คนขวางโลก

คนขวางโลก

คนขวางโลก

นักลงทุนแบบ VI พันธุ์แท้นั้น  โดยธรรมชาติแล้วมักจะเป็น “คนขวางโลก”  เขามักจะเป็น  “เสียงส่วนน้อย”  และมักจะเป็นคนที่ “มีความคิดเป็นอิสระ”  ในเรื่องต่าง ๆ  ในชีวิตและ  แน่นอนก็คือ  การลงทุน  เขามักจะไม่ถูกใครชักจูงได้ง่าย ๆ  รวมถึงความคิดและความเชื่อของสังคมก็ไม่สามารถส่งอิทธิพลต่อเขาได้มากนักเพราะเขามักจะ “ตั้งคำถาม” และ “โต้เถียง” กับทุกสิ่งทุกอย่างรวมถึงสิ่งที่ดูเหมือนว่า  “เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป” ในคนส่วนใหญ่   จอห์น เนฟฟ์  นักลงทุน VI ชื่อดัง “รุ่นเก๋า” นั้นมีเรื่องเล่าว่า  “ทะเลาะแม้แต่กับเสาไฟฟ้า”  ส่วนเบน เกรแฮม  “บิดาแห่ง VI”  นั้น  ว่ากันว่าลูกน้องรวมถึงบัฟเฟตต์ จะเสนอหรือชักจูงให้ซื้อหุ้นแต่ละตัวนั้น  “ยากมาก”  เพราะเขาจะคิดแล้วคิดอีกว่าสิ่งที่พูดหรือสิ่งที่คนทั่วไปหรือจำนวนมากเชื่อนั้น  มันจริงไหม?  มีอะไรเป็นจุดอ่อนและหุ้นมีราคาสมเหตุผลไหม?  จิตวิทยาสังคมหรืออารมณ์นั้น  ไม่สามารถสร้างความลำเอียงกับเขาได้  บ่อยครั้งคนจึงมองพวกเขาว่าเป็นคนที่ “ขวางโลก”  คนที่ “ชอบสังคม” บางคนอาจจะมองว่าพวกเขา “เพี้ยน”  ด้วยซ้ำ

ผมเองยอมรับว่าตนเองก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น   แม้แต่ก่อนที่จะเป็น VI ยังไม่ได้เริ่มลงทุนและยังทำงานในสถาบันการเงินบางแห่ง  ผมชอบคิดและเสนอความเห็นในเรื่องต่าง ๆ  ที่อาจจะถูกมองว่า  “แปลก”  และลึก ๆ  แล้ว  “ไม่เข้าท่า”  รวมถึง  ไม่ “สามารถปฏิบัติได้”  ลับหลังผมเคยได้ยินว่ามีคนนินทาว่าเป็น  “คนเพี้ยน ๆ” ซึ่งผมก็ไม่ได้ติดใจหรือกังวลอะไร  ผมรู้ตัวว่าตนเองนั้นเป็นคนปกติที่รู้เรื่องราวต่าง ๆ  ดีกว่าคนที่พูดมากจนเขา “ตามไม่ทัน”  และเราไม่ควรไปคิดอะไรที่ไม่ดีกับเขา  ว่าที่จริงผมขอบคุณที่รู้ว่ามีคนคิดแบบนั้น  ในภายหลังผมก็พยายามไม่พูดอะไรมากเกินไปที่จะทำให้เกิดภาพพจน์แบบนั้น  เพราะมันจะทำให้เรา “ก้าวหน้าช้าลง”  เนื่องจากคนส่วนใหญ่รวมถึงเจ้านายนั้นมักไม่ชอบ  “คนเพี้ยน”  คนส่วนใหญ่ชอบคนที่ทำตามคนส่วนใหญ่แต่ทำให้ดีกว่า  และนั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาชีพพนักงานกินเงินเดือนในบริษัทใหญ่ของผมไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

ในความคิดของผมแล้ว  อาชีพหรืองานที่ “คนเพี้ยน” หรือ “คนขวางโลก” ที่มักเป็นเสียงส่วนน้อยถึงน้อยมากจะทำได้ดีก็คืองานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์สูง ๆ  เช่น  ศิลปิน  นักวิจัยและพัฒนา  คนทำงานแนว  “สตาร์ทอัพ”  และ “นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์”  โดยเฉพาะที่เป็น “VI” เพราะคนเหล่านี้ไม่ค่อยจำเป็นที่จะต้องให้ใครมาเห็นด้วยกับสิ่งที่ตนเองคิดและทำ  ความสำเร็จของพวกเขาขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง   ว่าที่จริงถ้ามีคนเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำตั้งแต่ทีแรก  สิ่งที่เขาคิดหรือทำก็มักจะไม่ค่อยมีค่าเท่าไร  ลองคิดดูว่าถ้าคุณซื้อหุ้นที่ทุกคนก็ชอบหรือพูดถึงอยู่แล้ว  กำไรที่ได้ก็คงจะน้อย  บ่อยครั้งกลับขาดทุนหรือเจ๊งได้  เหตุผลก็คือ  ราคามันอาจจะแพงเกินไป  หุ้นยิ่งดังยิ่งเป็นที่ยอมรับก็ยิ่งแพงมาก  ถ้าภายหลังเกิดผิดพลาดหรือสถานการณ์เปลี่ยน  ราคาก็อาจจะดิ่งลงเหว

ลองมาดูว่าคนขวางโลกอย่างผมคิดอย่างไรในเรื่องต่าง ๆ  ที่เกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ 

เรื่องแรกก็คือ  ระยะเวลาของการลงทุน  คนส่วนใหญ่คิดว่าการลงทุนโดยเฉพาะในหุ้นนั้น  ควรจะมองสั้น ๆ  กำไรพอสมควรแล้วก็ควรจะขาย  คนจำนวนมากถือหุ้นต่ำกว่าหนึ่งเดือน  บางคน  “แนว VI”   ก็มอง “ระยะกลาง”  อาจจะถือซัก 1- 2 ปี คิดว่าทำกำไรเป็นกอบเป็นกำแล้วก็ต้องขายแล้วไปซื้อตัวใหม่ที่อาจจะมีโอกาสในการโตเร็วกว่า  แต่ผมเองมองว่าการลงทุนในหุ้นนั้นมีแนวเดียวคือ “มองระยะยาว”  พยายามหาหุ้นที่จะถือได้ยาวที่สุด  ยิ่งยาวยิ่งดี  และอย่างน้อยต้องถือได้ไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีขึ้นไป  ผมคิดว่าการทำแบบนั้นคือการลดความเสี่ยงแทนที่จะเป็นความเสี่ยงอย่างที่คนส่วนใหญ่คิด  ผมเชื่อว่าความเข้มแข็งและผลประกอบการของบริษัทบวกกับความถูกแพงของราคาหุ้นคือสิ่งที่จะกำหนดผลตอบแทนในระยะยาว  ดังนั้น  ผมมองหาสามสิ่งนี้ในหุ้นทุกตัวและผมคิดว่าผมพอจะบอกและคาดการณ์ได้

เรื่องที่สองก็คือ  คนส่วนใหญ่นั้นลงทุนในหุ้นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งหรือ “ทรัพย์สินสุทธิ” ของตนเอง   “คนรวย” นั้นทรัพย์สินส่วนใหญ่อาจจะอยู่ที่ธุรกิจ  บางคนก็มีที่ดินมรดกที่ตกทอดมานาน  คนชั้นกลางจำนวนมากก็อาจจะมีบ้านที่พักอาศัยบวกกับเงินฝากธนาคารหรือตราสารหนี้  ในความรู้สึกของผม  คนส่วนใหญ่ที่มีหุ้นหรือเล่นหุ้นอาจจะมีหุ้นไม่เกิน 10% ของความมั่งคั่งโดยรวม  แต่สำหรับผมแล้ว  ผมมีหุ้นมากกว่า 90% เกือบตลอดเวลา  การมีเงินสดและทรัพย์สินอื่นมากกว่านั้นก็มักจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ  เพื่อรอโอกาสซื้อหุ้นเท่านั้น  ผมไม่กลัวความเสี่ยงในการลงทุนในหุ้นมากนัก  เพราะผมมักจะถือเฉพาะหุ้นที่  “มีความเสี่ยงต่ำ”  เช่น  เป็นหุ้นที่แข็งแกร่งและโดดเด่นมากและ/หรือเป็นหุ้นที่มีราคาถูกหรือถูกมาก  ว่าที่จริงผมเองรู้สึกว่าหุ้นของผมนั้นมีความเสี่ยงน้อยกว่าทรัพย์สินอย่างอื่น ๆ  อีกมาก  ดังนั้น  ผมจึงไม่เห็นความจำเป็นหรือประโยชน์ในการถือทรัพย์สินอื่นมากนัก

เรื่องที่สามคือ  ในขณะที่คนส่วนใหญ่ชอบซื้อขาย “หุ้นใหม่ ๆ”  รวมถึงหุ้นที่เพิ่งเข้าตลาดผ่านการทำ IPO มาไม่นาน  ผมเองกลับชอบหุ้นเก่าที่มีประวัติการดำเนินการมายาวนาน  ผมคิดว่าหุ้นเก่านั้นเราสามารถประเมินหรือวิเคราะห์ได้ง่ายกว่าหุ้นใหม่มาก   เพราะเราเห็นข้อมูลมายาวนานโดยเฉพาะในด้านของธุรกิจ  เรารู้จักวัฒนธรรมและการบริหารงานรวมทั้งตัวผู้บริหารสูงสุด  เรารู้ว่าบริษัทและผู้บริหารนั้นเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหนมีโอกาสที่เราจะ “ถูกโกง”  ได้แค่ไหน  จริงอยู่  การเป็นบริษัทเก่าและธุรกิจเก่านั้นอาจจะ “ไม่น่าตื่นเต้น”  ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นลงช้าเมื่อเทียบกับบริษัทรุ่นใหม่ ๆ  ที่  “เห็นหน้าเห็นหลัง”  ถ้าเราลงทุนหรือเล่นได้ถูกต้อง   แต่สำหรับผมแล้ว  ผมชอบอะไรที่ “ไปช้า ๆ  แต่ชัวร์” ซึ่งน้อยคนในตลาดหุ้นที่จะชอบ

เรื่องที่สี่คือคนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นนั้นชอบหุ้นที่  “โตเร็ว”  และ “มีสตอรี่”  ที่น่าตื่นเต้น  พวกเขาไม่สนใจเรื่องความถูกความแพงมากนัก  เขาคิดว่าถ้ารายได้เพิ่มและกำไรเพิ่มเดี๋ยวหุ้นก็วิ่ง  ยิ่งกำไรเพิ่มมากราคาก็วิ่ง  ต่อให้ PE เป็น 50 หรือ 100 เท่าหุ้นก็วิ่งขึ้นไปอยู่ดีถ้ากำไรงวดหน้าโตซัก 30% ขึ้นไป  แต่ผมเองนั้นกลับหลีกเลี่ยง “หุ้นที่ร้อนแรง”  ทุกตัว   ผมจะซื้อเฉพาะหุ้นที่ “เย็น” หุ้นที่ราคานิ่งหรือปรับตัวขึ้นช้า ๆ  และไม่มีสตอรี่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษแต่เป็นสตอรี่ของการเติบโตช้า ๆ  ที่เป็นมานานและก็ยังดำรงอยู่ต่อไปอาจจะอีกนาน  บริษัทไม่มีอะไร “ใหม่ ๆ”  ที่ร้อนแรงตลอดเวลา  เหตุผลก็เพราะว่าในความเห็นของผมแล้ว  หุ้นในตลาดไทยโดยเฉพาะในปัจจุบันนั้น  แทบจะไม่มีหุ้นที่ “โตเร็วในระยะยาว” อยู่จริง ๆ  หรือถ้ามีก็มีราคาค่อนข้างสูงมีค่า PE ถึง 30 เท่าขึ้นไปอยู่แล้ว

เรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดก็คือ  ปันผลตอบแทนที่จะได้รับจากหุ้น  นี่คือสิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดไม่ค่อยสนใจ  พวกเขาคิดว่ามันเป็นเงิน “เล็กน้อย”  รับไปแล้วราคาหุ้นตกลงมาวันเดียวปันผลก็หายหมดแล้ว  พวกเขาเน้นแต่ Capital Gain  หรือกำไรจากการขายหุ้น  แต่สำหรับคนที่ลงทุนระยะยาวแล้ว  ปันผลโดยเฉลี่ยนั้นเท่ากับผลตอบแทนเกือบครึ่งหนึ่งของการลงทุนทั้งหมด  ดังนั้น  ผมเองจึงสนใจปันผลมาก  และเนื่องจากผมนำปันผลกลับไปซื้อหุ้นต่อ  จำนวนหุ้นก็มากขึ้นทุกปีซึ่งก็มักจะส่งผลให้มูลค่าพอร์ตหุ้นโตขึ้นไม่ต่างอะไรกับการที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงบางส่วนของความคิดที่แตกต่างของผมกับความคิดหรือความเชื่อของคนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น  แน่นอนว่าไม่ใช่แตกต่างแล้วต้องสำเร็จ  แต่ต้องเป็นความแตกต่างที่ถูกต้อง  การตามกระแสหรือเชื่อตามคนส่วนใหญ่หรือสังคมในการใช้ชีวิตและเรื่องอื่น ๆ  นั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็จะทำให้คนเราประสบความสำเร็จอย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง  ว่าที่จริง  ถ้าเราต้องการประสบความสำเร็จแบบกลาง ๆ  หรือเป็นคนที่  “อยู่ในอยู่ค่าเฉลี่ย” เกาะกลุ่มอยู่ตรงกลาง ๆ  นั่นก็คือหนทางที่เราควรจะทำ  อย่างไรก็ตาม  ถ้าเราต้องการที่จะประสบความสำเร็จสูงโดยเฉพาะในด้านของการลงทุนแล้วละก็  การ “ขวางโลกหรือ “สวนกระแส” หรือ “คิดแบบอิสระ” น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า