บูเช็คเทียน ถึง หยางกุ้ยเฟย (2) ***

บูเช็คเทียน ถึง หยางกุ้ยเฟย (2) ***

พระมเหสีอุ้ยมีสัมพันธ์ทางชู้สาวกับพ่อสามีของเจ้าหญิงอันเล่อ หรืออู่ซานซือ และสร้างอำนาจทางการเมืองที่มีอิทธิพลต่อราชการบ้านเมือง

จนข้าราชการจำนวนมากพากันคัดค้าน

แต่ผู้ที่คัดค้านอย่างแข็งขันจะถูกลอบทำร้ายสังหารถึงชีวิต อีกทั้งพยายามให้ถังจงจงปลดรัชทายาทหลี่เฉิงจวิ่น อันไม่ได้เกิดแต่พระมเหสีอุ้ย

หลี่เฉิงจวิ่นจึงใช้ทหารรักษาพระราชวังบุกสังหารอู่ซานซือพ่อลูก และพยายามสังหารพระมเหสีอุ้ย กับเจ้าหญิงอันเล่อแต่ไม่สำเร็จ หลี่เฉิงจวิ่นจึงถูกประหารชีวิต พระมเหสีอุ้ยถือโอกาสใส่ร้ายสมุหนายกว่ามีส่วนในเหตุการณ์นี้ และให้เนรเทศออกจากเมืองหลวง ตั้งแต่นั้นอำนาจทั้งปวงจึงอยู่ในมือพระมเหสีอุ้ยอย่างเบ็ดเสร็จ ถังจงจงเองก็ไม่สนพระทัยใดๆ มัวแต่ใช้ชีวิตอันฟุ้งเฟ้อและเรื่องไร้สาระอื่น ๆ 

บูเช็คเทียน ถึง หยางกุ้ยเฟย (2) ***

กล่าวกันว่า พระมเหสีอุ้ยกับเจ้าหญิงอันเล่อใช้ยาพิษใส่ขนมให้ถังจงจงเสวยทำให้เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 710 เนื่องจากพระมเหสีอุ้ยเริ่มคิดอยากจะเป็นพระจักพรรดินีเสียเอง แต่คำพูดนี้อาจจะไม่สมเหตุผลนักด้วยเหตุผล 4 ประการคือ

  1. หลี่หลงจี พระราชโอรสองค์ที่ 7 ของถังรุ่ยจง ซึ่งภายหลังเป็นถังเสวียนจง ร่วมกับเจ้าหญิงองค์โตไท่ผิงของถังจงจง ก่อการรัฐประหารภายหลังถังจงจงเสด็จสวรรคต 18 วัน และอ้างเอาเหตุผลนี้เพื่อแก้แค้นแทนถังจงจง
  2. 旧唐书 (อ่านว่าจิ้วถังซู) หรือตำนานราชวงศ์ถัง ไม่ได้กล่าวถึงการใช้ยาพิษปลงพระชนม์ถังจงจง ของเจ้าหญิงอันเล่อเลย
  3. พระมเหสีอุ้ย และเจ้าหญิงอันเล่อ ที่เสียชีวิตในการรัฐประหารภายหลังการเสด็จสวรรคตของถังจงจง ได้รับการฝังพระศพอย่างสมพระเกียรติตามสุสานที่ปรากฏแม้กระทั่งทุกวันนี้
  4. พระมเหสีอุ้ยกับเจ้าหญิงอันเล่อไม่มีความจำเป็นต้องปลงพระชนม์ถังจงจงด้วยสถานการณ์ยังไม่พร้อม การที่ถังจงจงทรงมีพระชนม์ชีพเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองคนมากกว่าในอันที่จะใช้เป็นที่พึ่งหรือหุ่นเชิดได้

หลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งบอกว่า ราชวงศ์ถังมีสมาชิกที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจกันตั้งแต่ถังเกาจู่ ถังไท่จง พระมเหสีฉางซุน และ ถังเกาจง ถังจงจงจึงมีโอกาสเสด็จสวรรคตด้วยสาเหตุเดียวกันนี้ค่อนข้างมาก

หลี่หลงจี ที่รัฐประหารได้อัญเชิญพระบิดา ถังรุ่ยจงซึ่งถูกลดตำแหน่งในขณะนั้นกลับมาเสวยพระราชสมบัติดังเดิม แต่สถานการณ์ยังคงเป็นไปด้วยความวุ่นวายจากการชิงอำนาจระหว่างหลี่หลงจี กับเจ้าหญิงไท่ผิง (เจ้าหญิงองค์โตของถังจงจง) 

ถังรุ่ยจงจึงจำเป็นต้องสละพระราชสมบัติให้หลี่หลงจีขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่า ถังเสวียนจง และสถาปนาตนเองเป็นพระบรมราชชนก เสด็จออกมหาสมาคมให้ข้าราชการถวายพระพรทุก 5 วัน และเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 716

บันทึกทางประวัติศาสตร์ยกย่องถังรุ่ยจงว่า ทรงเปี่ยมด้วยพระราชไมตรี โปรดการศึกษาเล่าเรียน และงานช่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอธิบายภาษาโบราณ ข้อความที่แกะสลักบนศิลาจารึก ที่เมืองซีอาน และสุสานของบูเชคเทียนพระราชมารดา ล้วนแต่เป็นลายมือของถังรุ่ยจงทั้งสิ้น 

แม้จะทรงพระปรีชา แต่ก็จำเป็นที่จะต้องประคองตัวเองและชีวิตให้รอดพ้นจากกระแสการต่อสู้ที่เชี่ยวกรากภายในราชวงศ์ ไม่ให้ต้องประสบกับเคราะห์กรรมที่ไม่ปรานีใคร อาจจะเป็นเพราะคำว่า 睿 (อ่านว่ารุ่ย) ที่แปลว่า “มองการณ์ไกล” ก็ได้

ถังเสวียนจงครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 712–756 ในครึ่งแรกของรัชสมัย พระองค์ใช้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถ เช่น เอี้ยวฉง และ ซ่งจิ่ง จัดระเบียบบ้านเมืองที่ยุ่งเหยิงให้เรียบร้อยจนกระทั่งอาจกล่าวได้ว่าเจริญรุ่งเรืองสูงสุดของราชวงศ์ถัง หรือที่เรียกว่า 开元盛世 (อ่านว่าไคเหวียนเซิ่งซื่อ) กล่าวกันว่า วัดพุทธที่สร้างในสมัยของพระองค์และชื่อว่า (ไคเหวียนซื่อ) มีถึงหลายร้อยแห่ง ปัจจุบันเหลือเพียง 6 แห่ง 

แต่ในครึ่งหลัง ทรงหลงใหลพระสนมหยางกุ้ยเฟย (หยาง เป็นแซ่ กุ้ยเฟย เป็นตำแหน่งของนางในระดับที่หนึ่งรองจากพระมเหสีเท่านั้น) ไม่สนพระทัยราชการบ้านเมือง รับฟังแต่ข้าราชการฉ้อฉล (กังฉิน) ตลอดจนถึงการใช้อันลู่ซันมากเกินไป กระทั่งนำไปสู่ความวุ่นวายที่เรียกว่าอันสื่อจือล่วน (安史之乱) เป็นเวลาถึง 8 ปี

ปี ค.ศ. 740 ถังเสวียนจง พระชนมายุ 56 พรรษา ทรงโปรดให้จัดขบวนข้าราชการบริพารอย่างอลังการ เพื่อเสด็จจากเมืองหลวงฉางอานไปยังบ่อน้ำร้อนที่หลูซาน และ ทรงมีพระบรมราชโองการให้สนมหยางวี่หวนของพระราชโอรสองค์ที่ 18 หลี่ชาง ออกบวช

ถังเสวียนจงก็เหมือนบรรพบุรุษ หรือถังเกาจงที่โปรดให้สตรีที่มีเจ้าของเป็นของพระญาติอยู่แล้ว และตนเองชื่นชอบออกบวช นัยว่าเพื่อเปลี่ยนเป็นชีวิตใหม่หลังจากนั้น สิ่งที่แตกต่างกันคือ ถังเกาจงต้องรอบูเชคเทียนถึง 4 ปี แต่ถังเสวียนจง รอไม่ได้แม้แต่ 4 เดือน ก็ทรงโปรดให้หยางวี่หวนสึกออกมาอยู่ด้วยกันที่พระราชวังที่บ่อน้ำร้อน

ความรักของถังเสวียนจงที่มีต่อหยางกุ้ยเฟยมากล้นขนาดที่ทั้งสองไม่ห่างกันเลยทั้งวัน ยังทรงเปรียบนางเป็น “บัวพันกลีบที่รู้ภาษา” หรือ “解语之花” ความสัมพันธ์กับหยางกุ้ยเฟยลึกซึ้งและมากมายถึงขนาดเผื่อแผ่ไปยังครอบครัวหยางทั้งหมด 

น้องชายหยางกั๋วจงได้รับแต่งตั้งเป็นสมุหนายก พี่สาวทุกคนได้เป็นท่านผู้หญิง พี่ชายคนอื่น ๆ ก็ได้รับตำแหน่ง ข้าราชการและเชื้อพระวงศ์ต่างเอาใจหยางกุ้ยเฟยเพื่อจะได้ความดีความชอบด้วย จนกระทั่งประชาชนทั่วไปมีคำพังเพยว่า “遂今天下父母心 不重生男重生女” แปลว่า “เดี๋ยวนี้พ่อแม่ทั่วทั้งหล้าไม่เน้นมีลูกชายแต่เน้นมีลูกสาว”

กล่าวกันว่า ถังเสวียนจงพยายามเอาใจหยางกุ้ยเฟยถึงขนาดจัดช่างตัดเย็บเสื้อผ้าอาภรณ์ไว้ให้นางถึงกว่า 700 คน และทรงโปรดให้สร้างเส้นทางหลายพันลี้เพื่อให้ม้าด่วนนำลิ้นจี่จากภาคใต้ของจีนมาให้นางได้ชื่นชม

เมื่อเกิดกบฏอันลู่ซัน กองทหาร 6 ทัพ ปฏิเสธการเคลื่อนพลด้วยการอ้างเหตุที่ว่า หยางกั๋วจงเป็นไส้ศึกให้แก่ชนเผ่าหู จนถังเสวียนจงไม่มีทางเลือกต้องโปรดให้ประหารทั้งหยางกั๋วจง และหยางกุ้ยเฟย อันเป็นการสิ้นสุดยุคแห่งหยางกุ้ยเฟยเป็นระยะเวลา 16 ปี

เมื่อประมวลจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ข้างต้นแล้ว บูเชคเทียนคงไม่ใช่ผู้ที่ขาดความรู้ความสามารถในการบริหารกิจการบ้านเมือง แต่เป็นความยึดถือในอำนาจจนถึงที่สุดต่างหากที่เป็นปัญหาจนลืมนึกถึงความรู้ความสามารถของผู้ที่จะสืบต่อราชวงศ์ถัง ดังจะเห็นได้จากการแต่งตั้งถังจงจงเป็นรัชทายาทแทนที่จะเป็นถังรุ่ยจง 

การครองราชย์ของถังเสวียนจงในครึ่งแรกก็เป็นไปอย่างดีจนกระทั่งเกิดหยางกุ้ยเฟย ใช่ นางอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่สาเหตุหลักก็คงอยู่ที่ถังเสวียนจงมากกว่า

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ดวงบ้านดวงเมืองเป็นปัจจัยสำคัญแห่งความรุ่งเรืองและเสื่อมถอยของประเทศ ตั้งแต่ตัวบุคคลเป็นสำคัญไปจนถึงสภาวะแวดล้อมเป็นองค์ประกอบ การขึ้นลงของราชวงศ์ถังก็ไม่แตกต่างไปจากการขึ้นลงของแต่ละครอบครัว ใช่ไหม

 

*** ชื่อเต็มเรื่อง:

บูเชคเทียนถึง หยางกุ้ยเฟย (2)

ศูนย์กลางแห่งความเสื่อมถอยของราชวงศ์ถัง