Technological Disruption: EV, AV, Taas (1)

Technological Disruption: EV, AV, Taas (1)

ผมได้เคยเขียนถึงเรื่องรถไฟฟ้า (EV) และรถขับเองได้ (AV) มาก่อนหน้าแล้ว และปัจจุบันก็มีความตื่นตัวกันมากขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับ EV

โดยคนที่ผมได้พบ และรู้จักมักจะถามว่า รถ EV จะมาเมื่อไร ควรจะซื้อรถใหม่ที่เป็นรถเครื่องเบนซิน/ดีเซล หรือรอซื้อรถ EV 

หลายคนยังแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ซึ่งผมเห็นควรว่า รถไฟฟ้านั้นจะกระทบกระเทือนอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยอย่างกว้างขวางได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศจีน มีความมุ่งมั่นที่จะเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม EV อย่างจริงจัง 

สำหรับข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีนที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปนั้น ผมเข้าใจว่าในส่วนของไทยได้เปิดโอกาสให้จีนสามารถส่งออก EV มายังประเทศไทยได้แบบปลอดภาษีศุลกากร ตามหลักการดังกล่าว แต่รัฐบาลจะพยายามสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ ทำให้จีนไม่สามารถนำ EV เข้าไทยได้มาก

แต่ความกังวลดังกล่าวนั้น อาจเป็นความกังวลที่ยังมองประเด็นของพัฒนาการทางเทคโนโลยีในมุมที่แคบเกินไป กล่าวคือหากผู้เชี่ยวชาญด้าน Disruptive Technology เช่น นาย Tony Seba แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ประเมินอนาคตได้ถูกต้องแล้ว พัฒนาการทางเทคโนโลยีจะสร้างความพลิกผัน (หรือ Disruption) ได้อย่างรุนแรง และกว้างขวางมากขึ้น มากกว่าการที่ประชาชนจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจากการซื้อรถยนต์เครื่องเบนซิน/ดีเซลไปสู่การซื้อรถ EV

Tony Seba ยกตัวอย่าง บริษัทโกดัก (Kodak) ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่ผลิตฟิล์มถ่ายรูปและฟิล์มถ่ายหนังซึ่งมียอดขายเท่ากับ 14,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2000 และทำกำไรได้1,400 ล้านดอลลาร์ เพราะทั่วโลกถ่ายรูป 80,000 ล้านรูป และล้าง/อัดรูป 100,000 ล้านรูป 

แต่เพียง 12 ปีให้หลังคือในปี 2012 ปรากฏว่า โกดักต้องล้มละลายลงไปเพราะระบบถ่ายรูปแบบดิจิทัล (digital photography) เข้ามาทดแทนฟิล์มอย่างรวดเร็วและฉับพลัน ทั้งๆ ที่ โกดัก เป็นบริษัทที่คิดค้น digital photography ได้เป็นบริษัทแรกๆ

ในทำนองเดียวกันบริษัทยักษ์ใหญ่อีกบริษัทหนึ่งคือ AT&T ได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาที่โด่งดังคือ McKinsey ประเมินในปี 1985 ว่าโทรศัพท์มือถือนั้นจะมีคนเอาไปใช้อย่างกว้างขวางเพียงใดในปี 2000 

Mckinsey วิเคราะห์อย่างละเอียดและสรุปว่าจะมีคนใช้โทรศัพท์มือถือไม่ถึง 1 ล้านราย แต่ปรากฏว่าในปี 2000 มีคนใช้โทรศัพท์มือถือมากถึง 109 ล้านราย ทำให้ AT&T เสียโอกาสในการทำธุรกิจมือถือ (และคนรุ่นใหม่หลายคนคงไม่ค่อยทราบว่า AT&Tนั้นเป็นเจ้าแม่ของโทรศัพท์ที่ใช้สายในสหรัฐ)

นาย Tony Seba ยกตัวอย่างโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในขณะนี้ ว่าเมื่อประมาณ 10 ปี(ก่อนหน้าที่บริษัท Apple เป็นผู้บุกเบิกในส่วนของโทรศัพท์มือถือประเภทนี้) ผู้บริหารระดับสูง และผู้รู้ด้านเทคโนโลยีหลายคนไม่เชื่อว่าสมาร์ทโฟนจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย 

เขายกตัวอย่างการประเมินในปี 2007 ของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ iPhone ซึ่งผมขอนำเสนอโดยไม่แปลเป็นไทยดังนี้

“There is no chance that the iPhone is going to get any significant market share. No chance”

Steve Ballmer, CEO Microsoft

 “The iPhone’s impact will be minimal. lt will only appeal to a few gadget freaks. Nokia and Motorola have nothing to worry about”

Bloomberg Analyst

ปัจจุบันเรากำลังเห็นพวก ”gadget freaks”  แย่งกันซื้อ iPhone X เป็นหลายล้านเครื่องทั่วโลกในปี 2017 สะท้อนให้เห็นว่าบางครั้งผู้เชี่ยวชาญนั้น สามารถผิดพลาดได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งต้องกลับมาตั้งตำถามว่าความผิดพลาดในการประเมินและคำนวณของผู้เชี่ยวชาญ และคร่ำหวอดในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร 

คำตอบส่วนสำคัญนั้นน่าจะมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ Technological Convergence หรือ การที่พัฒนาการของเทคโนโลยีบางประเภท พัฒนามาถึงจุดที่จะถูกนำไปใช้ร่วมกันได้อย่างคุ้มค่าทางการค้า พร้อมๆกัน 

เมื่อเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว ความนิยมและการแพร่ขยายของเทคโนโลยีหรือสินค้าดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น “S curve” กล่าวคือ ยอดขายจะไม่ได้ค่อยๆ ปรับตัวขึ้นเป็นเส้นตรงดังที่นักวิเคราะห์ มักจะคาดการณ์อนาคต แต่ยอดขายจะพุ่งขึ้นหลายสิบเท่าในระยะเวลาไม่กี่ปี 

นาย Seba วิเคราะห์ว่าจุดที่เกิด Technology Convergence สำหรับ iPhone ที่กลายเป็นเทคโนโลยีพลิกผัน (และทำให้ Nokia และ Motorola เข้าสู่ภาวะล้มละลายและยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในวันนี้) นั้นเป็นเพราะเทคโนโลยี 4 ประการที่พัฒนาตัวถึงจุดที่ทำให้ iPhone เกิดมาเป็นสินค้าใหม่ (smart phone) ที่มีศักยภาพสูงกว่า และราคาต่ำกว่าโทรศัพท์มือถือคู่แข่งอย่างเทียบกันไม่ได้คือ

1.เทคโนโลยีการเก็บข้อมูล (data storage) ซึ่งต้นทุนลดลง 50% ทุกๆ 18 เดือน

2.ความละเอียดของจอภาพ (digital imaging) ซึ่งต้นทุนพิกเซล ต่อดอลลาร์ลดลง 59% ต่อปี

3.ต้นทุนการส่งข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือลดลง 50% ทุกๆ 6 เดือน

4.จอโทรศัพท์ touchscreen แบตเตอรี่ ลิเธียม ไอออน ซึ่งราคาลดลงจนทำให้นำมาใช้กับโทรศัพท์ iPhone ได้ในราคาที่จับต้องได้โดยผู้บริโภค

คำถามต่อไปคือ กำลังเกิด Technological Convergence ที่จะทำให้ รถAV EV และ Transportation as a service (Taas) เกิดขึ้นภายใน 12 ปีข้างหน้า ดังที่นาย Tony Seba คาดการณ์หรือไม่