จีดีพีไทยปี 2561 มีโอกาสเติบโต 4%

จีดีพีไทยปี 2561 มีโอกาสเติบโต 4%

จีดีพีไทยปี 2561 มีโอกาสเติบโต 4%

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและการเงินได้มีการประกาศตัวเลขดัชนีต่างๆ รวมถึงปัจจัยภายนอกประเทศอย่างข่าวการปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯนั้น ซึ่งในภาพรวมส่วนใหญ่จะเป็นบวกต่อเศรษฐกิจไทย โดยในวันนี้ทางฝ่ายวิเคราะห์ ASL จะมาสรุปและวิเคราะห์ ให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากขึ้นครับ

เริ่มต้นกันที่ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2561 รวมถึงเพิ่มการคาดการณ์ GDP ปี 2560 เป็นขยายตัวร้อยละ 3.9 จากที่คาดไว้ร้อยละ 3.8 และขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปี 2561 ซึ่งเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ชัดเจนขึ้นและสูงกว่าที่คาดการณ์กันไว้จากหลายฝ่าย โดยได้ปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่ค่อยๆปรับตัวขึ้น อัตราเงินฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลาย เป็นผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ทาง กนง. ยังให้ติดตามความเสี่ยงโดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ส่วนด้านความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. ยังคงแข็งค่า และคงมีความผันผวนอยู่

แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมปรับดีขึ้น แต่ความสามารถในการชำระหนี้ของบางภาคธุรกิจและ SMEs ยังคงด้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ด้อยลงในบางภาคธุรกิจ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางทำเล และมีแนวโน้มที่อุปทานของพื้นที่อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกจะเร่งตัวขึ้นจากโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (mixed-use) ในอนาคต

ช่วงที่ผ่านมา การก่อหนี้ของครัวเรือนโดยรวมมีแนวโน้มชะลอลงบ้าง แต่ภาคครัวเรือนยังมีความเปราะบางจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของภาคครัวเรือน ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจึงผลักดันการจัดตั้งโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน หรือคลินิกแก้หนี้ เพื่อป้องกันหนี้ภาคครัวเรือนกลายเป็นปัญหาที่จะกระทบกับเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว

            สำหรับการส่งออกที่ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทยนั้น โดยการส่งออกในเดือน พ.ย. ได้ขยายตัวสูงสุดในรอบปีที่ร้อยละ 13.4 เป็นมูลค่า 2.14 หมื่นล้านเหรียญ สรอ. ขยายตัวทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งขยายตัว 19.2% และ 13.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนตามลำดับ และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 2561 สะท้อนการขยายตัวที่เกิดขึ้นมาจาก Real sector ที่สำคัญ ส่วนด้านการนำเข้า มูลค่ารวม 1.97 หมื่นล้านเหรียญ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าทุน เป็นหลัก ซึ่งสะท้อนการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

โดยฝ่ายวิเคราะห์ ASL มองว่า GDP ปี 2560 นี้มีโอกาสเติบโตถึงร้อยละ 4.0 จากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ฟื้นตัว ซึ่งสะท้อนผ่านการส่งออกของไทยตั้งแต่ต้นปี ที่ขยายตัวกว่าร้อยละ 10.0 โดยข้อสมมติที่สำคัญคือการส่งออกในเดือน ธ.ค. นี้ ต้องมีมูลค่ามากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐฯ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ ที่มีการดำเนินงานไปถึงปี 2566

            ขณะที่ด้านปัจจัยบวกระยะสั้นที่ผ่านมาซึ่งส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกในด้าน Sentiment ทางบวก คือ กฏหมายปฎิรูปภาษีของ ปธน.ทรัมป์ ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 ที่จะถึงนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับขึ้นสร้างจุดสูงใหม่เป็นประวัติการณ์ และส่งผลดีต่อตลาดหุ้นทั่วโลกให้กลับขึ้นตามกัน รวมทั้ง SET Index ที่ปรับตัวขึ้นกว่า 4% ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ สำหรับประมาณการ SET ในปี 2561 โดยสมมติฐาน EPS เติมโตได้ดีกว่าประมาณการ GDP ข้างต้น โดยมี EPS Growth ที่ระดับ 5.5% และมีแนวโน้มการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย เราจึงได้ระดับดัชนีที่ควรจะเป็นในปี 2561 ที่ 1,848 จุด ณ Forward PE 19 เท่า 

หากจะวิเคราะห์ถึงช่วงผ่านมานโยบายการเงินที่สหรัฐฯ ใช้ผ่านมาตราการ QE นั้น ยังไม่ส่งผลให้เกิดการจ้างงานหรือเงินลงทุนเพิ่มใหม่ในสหรัฐอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก มีเพียงภาคบริการ (ทางการเงิน) ที่รับประโยชน์มาก ในขณะที่ข้อจำกัดการผ่อนคลายทางการเงินเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน โดยเป้าหมายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่ม และมีความเป็นไปได้มากที่จะลดขนาด QE โดยการขายคืนพันธบัตรและหุ้นกู้ในตลาดทุน จึงเป็นที่มาของแนวคิดมาตรการทางการคลัง และในที่สุดเป็นการออกกฎหมายปฎิรูปภาษี

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการปรับลดภาษีบุคคลธรรมดาและภาษีผู้ประกอบการฯเป็นแนวทางที่ดีและเหมาะสมต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมทั้งเกิดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน(หรือมองในแง่ของการลดต้นทุนการผลิต)ต่อประเทศคู่แข่ง ดึงดูดหรือจูงใจเงินลงทุนของผู้ประกอบการสหรัฐในต่างประเทศ ให้กลับมาลงทุนเพิ่มในสหรัฐ ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น หรือมีการแบ่งสรรปันส่วน (เงินส่วนลดภาษี) ให้กับค่าจ้างแรงงานในรูปแบบเพิ่มจำนวนชั่วโมงในการทำงาน

ผลกระทบระยะสั้น การขาดดุลทางการคลังจะเพิ่มขึ้น รายได้ของรัฐบาลปรับลดลง แต่หากเชื่อมั่นต่อทีมเศรษฐกิจของ ปธน.ทรัมป์ ที่ทำการศึกษาไว้ล่วงหน้าแล้ว การผลิต การบริโภคฯและการจ้างงานส่วนเพิ่ม จะทำให้รัฐบาล สรอ. สามารถจัดเก็บภาษีที่มากขึ้นในช่วงเวลาต่อมา ผลกระทบอาจจะไม่มากอย่างที่กังวลไว้

อย่างไรก็ตามยังมีข้อถกเถียงกันมากเกี่ยวกับผลกระทบสุทธิหรือประสิทธิผลของกฏหมายปฎิรูปภาษีของ ปธน.ทรัมป์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามรอดูกันต่อไปในระยะปานกลางถึงระยะยาว แต่ทางฝ่าย ASL Research เชื่อว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้การเติบโตทางเศรฐกิจมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง (ประมาณการ Q3/2560 เติบโต 3.2%, กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ) โดยเฉพาะในช่วงที่มาตรการทางเงินกำลังจะปรับเปลี่ยนเข้มงวดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ธนาคารกลางสหรัฐฯได้แถลงไว้ก่อนหน้านี้