อุดมศึกษายุคดิจิทัล ไม่ต้องมีมหาวิทยาลัย

อุดมศึกษายุคดิจิทัล ไม่ต้องมีมหาวิทยาลัย

วันนี้ คนไทยสามารถฟังเลคเชอร์ของอาจารย์ จากฮาร์วาร์ด, เอ็มไอที หรือสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ โดยไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนเมืองนอก

เมื่อไหร่นักเรียนที่เชียงรายหรือสตูลจะฟังเลคเชอร์ของอาจารย์มหาวิทยาลัยเก่งที่สุดของประเทศ โดยไม่ต้องสมัครเป็นนิสิตนักศึกษาจุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงแนวทางที่รัฐมนตรีช่วยศึกษาคนใหม่ นพ.อุดม คชินทร ให้มหาวิทยาลัยไทยปรับตัวให้ทันกับยุคดิจิทัลให้รับใช้สังคมแบบ เรียนรู้ตลอดชีวิต และ ทลายกำแพงระหว่างคณะและวิชาลงอย่างราบคาบ

นี่อาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น เพราะคำว่า เรียนรู้ ในยุค Internet of Things นั้นมีความหมายว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องเข้ามหาวิทยาลัยก็เป็นคนมีความรู้ทันโลกและทันความเปลี่ยนแปลงได้

คำว่า ล่มสลายของมหาวิทยาลัย กำลังจะเกิดขึ้น เหมือนกับแรงกระแทกที่เทคโนโลยีมีต่อวงการสื่อ ธนาคาร ขายปลีก  แพทย์, และทุกสาขาวิชาชีพ

ใครไม่ปรับไม่เปลี่ยนก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และแม้จะรู้ว่าจะต้องปรับต้องเปลี่ยน แต่หากไม่รู้ว่าปรับอย่างไร หรือปรับช้าไปก็จะกลายเป็นไดโนเสาร์ยุคศตวรรษที่ 21 ได้ง่าย ๆ

อุดมศึกษายุคดิจิทัล ไม่ต้องมีมหาวิทยาลัย

การเปิดกว้างให้ใครก็เรียนวิชาของมหาวิทยาลัยได้หรือที่เรียกว่า Massive Open Online Courses (MOOC) นั้นเริ่มจากมหาวิทยาลัยดัง ๆ ในสหรัฐฯ และได้เริ่มเกิดในประเทศไทยแล้ว

น่าเสียดายว่าเรื่อง MOOC ในไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย และยังขาดการส่งเสริมในทุกระดับให้ใช้ประโยชน์กันอย่างจริงจัง

ล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ เปิด โลกแห่งการเรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัด แก่ผู้ที่สนใจผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ CHULA MOOC เพื่อมอบเป็นของขวัญเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาฯ

CHULA MOOC ประกอบด้วยรายวิชาต่างๆ ให้เลือกเรียนทางออนไลน์ เริ่มลงทะเบียนเรียน 3 วิชาแรก ในวันที่ 8 ก.ย. – 15 ต.ค. 2560 ผู้ที่ผ่านการเรียนตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับ Certificate of Completion ผู้สนใจเรียนฟรีออนไลน์ได้ที่ mooc.chula.ac.

MOOC หมายถึงรูปแบบการนำเสนอการเรียนรู้หลักสูตรต่างๆ ทางออนไลน์ ที่เข้าถึงผู้เรียนจำนวนมากๆ ได้ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ โดยส่วนใหญ่เป็นการให้บริการฟรี

MOOC เป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการการศึกษาของโลก โดยการนำเทคโนโลยีและวิธีการเรียนการสอนสมัยใหม่มาผสมผสานกัน ทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ผ่านช่องทางออนไลน์ บัดนี้มีเครือข่ายครอบคลุมไปทั่วทุกมุมโลกแล้ว

สิ่งที่ MOOC มีนอกเหนือจากสื่อประกอบการเรียนแบบปกติ เช่น วีดิโอ หนังสือ และแบบฝึกหัดแล้ว ยังมีฟอรัม (Forum) ให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนสนทนาระหว่างนักเรียนด้วยกัน หรือกับผู้สอน และผู้ช่วยสอนได้อีกด้วย

กระแสของ MOOC เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และเริ่มได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในปี 2012 เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่งเช่น MiT, Harvard, Stanfordเป็นต้นร่วมเผยแพร่บทเรียนผ่านทาง MOOC กันเป็นทิวแถว

ของไทยเราเพิ่งเริ่มต้น ปี 2558 สวทช. โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ริเริ่มงานวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษาออนไลน์แบบเปิดเพื่อมหาชน MOOC เชื่อมต่อกับระบบคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด (Open Educational Resources หรือ OER) ภายใต้โครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกล เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เม.ย. 2558 ปัจจุบันเปิดให้บริการที่ http://mooc.learn.in.th และ http://oer.learn.in.th

เป้าหมายเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่รวบรวมคลังข้อมูลเอกสาร ภาพ และวีดิโอคลิป ภายใต้สัญญาอนุญาตแบบเปิด (Creative Commons) เปิดเผยให้ผู้สนใจนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอน หรือสร้างบทเรียนในรูปแบบ MOOC ที่ผู้เรียนจากทั่วสารทิศสามารถเข้ามาเรียนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ผมได้รับทราบว่าปัจจุบันมีข้อมูลOER มากกว่า 26,000 ชิ้น บทเรียน MOOC มากกว่า20 บทเรียนและเตรียมจะขยายขึ้นอีก

นอกจากนี้ระบบที่พัฒนาขึ้นยังจะถูกนำไปใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบ Thai MOOC โดยโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (Thai Cyber University หรือ TCU)สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำหรับเครือข่ายระดับอุดมศึกษา และสำหรับโครงการคลังความรู้ดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ของสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

คำถามก็คือว่า คนไทยสักกี่คนที่รับรู้ความเคลื่อนไหวนี้ และกี่คนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

ในยุคที่การ เรียนหนังสือ ทำได้ทุกเวลา ทุกสถานที่และถ้อยคำทักทาย คุณเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยไหน” อาจจะเป็นคำถามที่เชยสิ้นดีในวันข้างหน้า

เพราะจะคนย้อนถามว่า คุณยังไปมหาวิทยาลัยอยู่อีกหรือ