ทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2561 สัญญาณดีที่ยังวางใจไม่ได้

ทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2561 สัญญาณดีที่ยังวางใจไม่ได้

ช่วงส่งท้ายปีเก่าเตรียมรับปีใหม่แบบนี้ เป็นเวลาของการมองไปข้างหน้า เรื่องหนึ่งที่ได้รับความสนใจกันมาก คือ ทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

ด้วยความที่เศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนด้วยการส่งออกถึงประมาณร้อยละ 70 ทิศทางของเศรษฐกิจโลก จึงเป็นตัวกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจไทยด้วย

 เรามาดูกันดีกว่าว่า หน่วยงานต่างๆ ของมองทิศทางเศรษฐกิจกันอย่างไร

ข้อมูลที่แสดงไว้ในตารางเป็นการสรุปการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

สำหรับตัวเลขของ Goldman Sachs และ Morgan Stanley นั้นจะมีทั้งตัวเลขที่ได้จากการวิเคราะห์ และตัวเลขที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ โดยภาพรวมแล้วจะเห็นได้ว่าทุกหน่วยงานมองอัตราการขยายตัวไว้ประมาณ 3.6%-4.0% สะท้อนให้เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 

ส่วนตัวเลขของธนาคารโลกที่อาจจะต่ำกว่าหน่วยงานอื่นไปสักหน่อย เป็นเพราะตัวเลขที่นำมาเสนอเป็นการประมาณการในช่วงกลางปีนี้ จึงไม่ได้สะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจโลกทั้งปี หากมีการประมาณการใหม่อีกรอบ ก็มีโอกาสสูงว่าจะมีการปรับตัวเลขขึ้นอีก

ทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2561 สัญญาณดีที่ยังวางใจไม่ได้

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น ด้วยความที่เราเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ย่อมส่งผลดีต่อประเทศไทยทั้งในด้านการส่งออก การท่องเที่ยว ตลอดจนถึง การลงทุน

เมื่อรวมกับมาตรการหลายอย่างที่รัฐบาลออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เลยทำให้หน่วยงานต่างๆ มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าก็คงไม่ขี้ริ้วขี้เหร่นัก อ้ตราการขยายตัวอยู่ในช่วง 3.5%-4.0% ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ปัจจัยสำคัญเป็นปัจจัยด้านการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะท่าทีของสหรัฐ ที่มีต่อประเทศต่างๆ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการเมือง 

สำหรับยุโรปซึ่งมีจุดเปลี่ยนทางการเมืองหลายอย่างในปีนี้ โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้นำประเทศ และทิศทางการเมืองในประเทศ ที่น่าจับตามองก็คือ การเลือกตั้งอิตาลีในเดือนพ.ค.ปีหน้า ซึ่งหากพรรคที่ใช้นโยบายประชานิยมได้รับชัยชนะ ส่งผลต่อทิศทางการเมืองของอิตาลี และประเทศอื่นในยุโรป ที่กำลังเจอกับปัญหาเศรษฐกิจเหมือนกัน 

สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อทิศทางนโยบายต่างประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของอียูได้ในระดับหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา อย่าง ไทยมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว

แม้วสัญญาณเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยจะเป็นบวก แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่ต้องรับมืออีกหลายอย่าง

ในภาคเกษตร ความเสี่ยงจากสภาพดินฟ้าอากาศ ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะภัยแล้งในช่วงปลายไตรมาสที่หนึ่ง ถึงกลางไตรมาสที่สอง รวมถึงอุทกภัยในช่วงปลายไตรมาสที่สองและสาม อาจส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ 

นอกจากนี้แล้ว ความเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตรที่ยังผูกชะตาชีวิตไว้กับตลาดโลก ก็ยังคงเป็นความเสี่ยงประจำทุกปี ทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคลดลง และอาจส่งผลต่อค่าครองชีพให้สูงขึ้นได้

ปัจจัยเสี่ยงด้านการเมือง ซึ่งแม้ว่าตอนนี้จะมีไม่มากนัก แต่หากมีการเลือกตั้งในปี 2561 หรือต้นปี 2562 จริง ช่วงปลายปีหน้า เราคงจะเห็นกิจกรรมการเมืองที่คึกคักขั้น หากความคึกคักนำไปสู่ความโกลาหล จนมีการเล่นกีฬาสีกันเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ ก็จะส่งผลต่อต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน นักท่องเที่ยว รวมถึงคนไทยด้วยกันเอง

นอกจากปัจจัยเสี่ยงข้างต้นแล้ว การผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการเติบโตและการกระจายรายได้อย่างยั่งยืน การพัฒนาศักยภาพของเอสเอ็มอีไทย การยกระดับคุณภาพของแรงงาน เพื่อให้พร้อมกับการไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 การยกระดับคุณภาพการศึกษา การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ทันตามกำหนดเวลา ก็ยังเป็นความท้าทายของภาครัฐที่จะต้องดำเนินงานให้สำเร็จเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด

ธุรกิจเอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่อยู่ในระบบ รวมถึงประชาชนที่อยู่ในภูมิภาค คงจะยังไม่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากนัก เพราะยังเป็นการฟื้นตัวที่กระจุกอยู่ในบางอุตสาหกรรมและบางพื้นที่ ซึ่งแม้จะเป็นไปตามลักษณะโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แต่การที่คนส่วนใหญ่มองตาปริบๆ ดูคนส่วนน้อยดีขึ้น ก็อาจรู้สึกน้อยอกน้อยใจจนกลายเป็นความเสี่ยงทางการเมืองได้เช่นกัน