ก้าวคนละก้าว : โครงการฝายทดน้ำไซยะบุรี

ก้าวคนละก้าว : โครงการฝายทดน้ำไซยะบุรี

ก้าวคนละก้าว : โครงการฝายทดน้ำไซยะบุรี

ส่งท้ายปีไก่2560  ต้อนรับปีจอ2561ที่กำลังจะมาถึงผมขอร่วมอินเทรนด์กับกระแสก้าวคนละก้าวของตูนด้วยคนนะครับ ซึ่งพนักงานบางจากฯก็ได้ช่วยกันบริจาคเงินตามกำลัง สำหรับก้าวคนละก้าวของผมที่เขียนในวันนี้เป็นก้าวที่ทำให้เกิดความก้าวหน้า ร่วมกันพัฒนาสิ่งใหม่ๆในโครงการขนาดใหญ่

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาผมมีโอกาสเดินทางไปหลวงพระบางและได้ไปดูงานที่ไซยะบุรี เป็นโครงการฝายทดน้ำบนลำน้ำโขงเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เมื่อสร้างเสร็จแล้วโครงการแห่งนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมสูงถึง  1,285   เมกะวัตต์  สามารถผลิตไฟฟ้าได้  7,400 ล้านหน่วยต่อปี  ใช้เงินลงทุนกว่า 135,000 ล้านบาท

ยังจำได้ว่าเมื่อสิบปีที่แล้วก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างโครงการแห่งนี้ มีหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นกันว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อาจทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ เช่น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำในแม่น้ำ อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางช่วง และแล้งในบางช่วง  กระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้ปลาที่อาศัยอยู่ในลำน้ำโขงไม่สามารถวางไข่ได้ตามปกติ รวมทั้งส่งผลต่อผู้ที่ใช้ลำน้ำโขงในการสัญจร มีการกีดขวางทางน้ำ ไม่สามารถเดินเรือได้ ที่ผ่านมาเมื่อมีการประกาศว่าจะสร้างเขื่อนก็มักจะได้รับการต่อต้านอยู่เสมอๆ

จากการที่ผมได้ไปศึกษาเยี่ยมชมโครงการนี้ทราบว่าผู้ได้รับสัมปทานมีการปรับปรุงรูปแบบของโครงการจากเขื่อนมาเป็นฝายทดน้ำ (Run-Off-River) แทน   ซึ่งในการผลิตไฟฟ้าตัวฝายจะทำหน้าที่ทดน้ำให้น้ำมีระดับสูงขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้มีความดันสูงพอที่จะปั่นไฟฟ้า  เมื่อปั่นไฟฟ้าเสร็จก็ปล่อยน้ำได้ทันทีในแต่ละวันสามารถปล่อยน้ำให้ไหลผ่านออกไปได้เท่าๆ กับน้ำที่ไหลเข้ามาไม่ต้องมีการกักเก็บน้ำไว้แบบเขื่อนและไม่ต้องสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ด้วย

นอกจากนี้ ในระหว่างก่อสร้างโครงการ ผู้ที่ได้รับสัมปทานยังได้มีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มช่องทางเดินเรือขนาดใหญ่ ให้ผู้ใช้ลำน้ำโขงสามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก  และลงทุนเพิ่มอีกกว่าพันล้านบาทเพื่อสร้างทางผ่านให้ปลา โดยออกแบบให้มีลักษณะใกล้เคียงกับสภาพตามธรรมชาติ เหมาะสมกับชนิดและขนาดของปลาในแม่น้ำโขงที่อาศัยในบริเวณโครงการ ทำให้ปลาสามารถว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ได้  เส้นทางน้ำของปลามีความลาดเอียงระดับน้ำจากท้ายฝายไปเหนือฝายสูงถึง50 เมตร หรือประมาณตึกสิบชั้นเลยทีเดียว

โครงการที่ไซยะบุรีแห่งนี้ได้มีการออกแบบติดตั้งเครื่องปั่นไฟฟ้าขนาดเล็กทั้งหมด 8 เครื่องเป็นเครื่องปั่นไฟฟ้ากำลังผลิตเครื่องละ 175 เมกะวัตต์  จำนวน 7  เครื่อง  และเครื่องปั่นไฟฟ้ากำลังผลิต 60 เมกะวัตต์อีก 1 เครื่อง  ทำให้โครงการสามารถผลิตไฟฟ้าได้แม้ในช่วงหน้าแล้งถ้ามีน้ำน้อยก็จะเดินเครื่องแค่ 1 หรือ 2 เครื่อง  ถ้าน้ำหลากก็จะเดินเครื่องทั้งหมด  โดยรวมแล้วโครงการไซยะบุรีมีความพร้อมในการผลิตกระแสไฟฟ้า (Available Factor) ถึง 64% ซึ่งสูงกว่าเขื่อนทั่วไปมาก

การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากฝาย ถือเป็นพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกประเภทหนึ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนให้เป็นพลังงานทางเลือกที่มีผลกระทบด้านต่างๆน้อยลงและโครงการนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผู้พัฒนาโครงการ ขณะนี้ NGO ก็ได้พยายามหาทางออกที่เป็นกลางในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า  โดยฝ่ายผู้พัฒนาโครงการได้ปรับรูปแบบโครงการและลงทุนเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนNGO ที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมก็ได้ร่วมกันศึกษาเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งต้องลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 20,000 ล้านบาท ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ได้ข้อสรุปตรงกลางที่ไม่มีความขัดแย้ง กลายเป็นเอกภาพของความขัดแย้งที่สามารถสร้างฝายทดน้ำขนาดใหญ่ได้สำเร็จ 

เรียกว่า "ก้าวคนละก้าว ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน"