วัดความสำเร็จของ ปธน. ทรัมป์ กับ 1 ปี ในตำแหน่ง

วัดความสำเร็จของ ปธน. ทรัมป์ กับ 1 ปี ในตำแหน่ง

วัดความสำเร็จของ ปธน. ทรัมป์ กับ 1 ปี ในตำแหน่ง

ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีพาดหัวข่าวความวุ่นวายทั้งสถานการณ์ตึงเครียดกับเกาหลีเหนือ การห้ามเข้าประเทศของชาติมุสลิม การประกาศจะยกเลิกข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนคณะทำงานในทำเนียบขาวอย่างต่อเนื่อง ดูผิวเผินผลกระทบต่อตลาดการเงินสหรัฐฯ ไม่น่าจะดีนัก เห็นได้จากการอ่อนค่าของดอลล่าร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นที่ขยันทะยานทำสถิติสูงสุดใหม่ นับตั้งแต่ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งปลายปี 2559 ซึ่ง ทรัมป์ มักจะให้เครดิตตัวเองอย่างเต็มที่จากตลาดหุ้นขาขึ้น กลบกระแสความยากลำบากทางการเมืองในการดำเนินนโยบายหลักๆ ตามที่เคยหาเสียง เช่น รื้อกฎหมายสาธารณสุขแทนที่โอบามาแคร์ และปฏิรูประบบภาษี เป็นต้น

นับตั้งแต่ ปธน. ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งถึงวันนี้ ดัชนี S&P500 พุ่งขึ้นแรงกว่า 28% ล่าสุดแตะที่ระดับ 2,690.16 จุด (ณ 18 ธันวาคม) หลังการประกาศร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับควบรวมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่คาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2561 นับเป็นก้าวสำคัญในการส่งมอบผลงานตามคำมั่นสัญญาของ ปธน. ทรัมป์ ที่จะลดอัตราภาษีนิติบุคคล นั่นหมายถึงกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะสูงขึ้น แต่...กว่าร่างกฎหมายภาษีใหม่จะเริ่มเป็นรูปร่างน่าจะใช้เวลาอีกกว่า 1 ปี นอกจากนี้ มาตรการที่จะออกมามีขนาดเล็กกว่าที่ ปธน. ทรัมป์ หาเสียงไว้อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ความต้องการที่จะลดอัตราภาษีนิติบุคคลจาก 35% เหลือ 15% ซึ่งทำให้เกิดการคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ จะโตขึ้นกว่า 7% ในปี 2561 สนับสนุนเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้น แต่สุดท้ายมาจบที่ 21% โชคดีที่ปฏิกิริยาเบื้องต้นของตลาดเป็นไปทางบวก เพราะตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกส่งสัญญาณฟื้นตัวและเติบโตต่อเนื่อง อุปสงค์โลกแข็งแกร่ง GDP ปี 2560 ในหลายๆ ประเทศออกมาดีกว่าคาด กล่าวโดยสรุปคือ ภาพรวมบรรยากาศเศรษฐกิจทั่วโลกและกิจกรรมธุรกิจที่สดใสคือเหตุผลหลักเบื้องหลังตลาดหุ้นขาขึ้น แม้ ปธน. ทรัมป์ จะพยายามให้เครดิตตัวเองก็ตาม

มาดูที่การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นตามกลุ่มธุรกิจกันบ้าง จะพบว่าหุ้น IT และ Health Care ปรับขึ้นกว่า 43% และ 25% ตามลำดับ เพราะตลาดคาดว่าจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการลดภาษีเงินโอนกลับ หรือ Repatriation Tax ของบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ที่สร้างรายได้จากธุรกิจที่ดำเนินงานอยู่ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ นโยบายชูโรงอื่นๆ ของ ปธน. ทรัมป์ ยังมีการเพิ่มค่าใช้จ่ายโครงสร้างพื้นฐานและการลดหย่อนกฎระเบียบภาคธนาคารและการเงินของสหรัฐฯ ที่รู้จักกันในชื่อ กฎหมาย Dodd-Frank ซึ่งส่งให้ราคาหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มการเงินการธนาคารปรับขึ้นภายหลังการเลือกตั้งกว่า 29% และ 43% ตามลำดับ

ด้วยระดับราคาของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นเร็วและแรง แต่ขนาดกำไร รวมไปถึงระดับการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นไม่แรงเท่า ทำให้มูลค่าพื้นฐาน (Valuation) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ สูงมาก พิจารณาจาก P/E Ratio หรืออัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้นพบว่าปัจจุบันดัชนี S&P500 ซื้อขายที่ระดับ P/E Ratio สูงถึง 18.8 เท่า มากกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ที่ 14.9 เท่า และเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี นอกจากนี้ Dividend Yield หรืออัตราส่วนเงินปันผลต่อราคาของดัชนี S&P500 อยู่ที่ 1.9% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ที่ 2.2% สะท้อนถึงระดับราคาที่ตึงตัวมาก ดังนั้น การที่ราคาหุ้นจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพคงต้องอาศัยพลังขับเคลื่อนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตของอัตรากำไรที่โดดเด่นในอนาคตเท่านั้น

โดยสรุป ผู้ลงทุนควรระมัดระวังกับการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้กฎหมายปฏิรูปภาษีจะบังคับใช้และคาดว่าจะช่วยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะการลดภาษีอาจส่งผลดีในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจาก

  • ปัจจุบัน บริษัทสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ จ่ายภาษีที่ประมาณ 25% เทียบกับอัตราภาษีสูงสุดที่ 35% แปลว่าภาษีที่ลดได้จริงอาจไม่มีนัยสำคัญต่อการเติบโตของกำไร
  • มาตรการลดภาษีเพิ่มความตึงเครียดด้านงบประมาณขาดดุลของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะถูกกดดันด้วยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นกว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 10 ปี ข้างหน้า
  • แม้ว่าการลดภาษีนิติบุคคลจะมีผลบังคับใช้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด แต่การลดภาษีบุคคลธรรมดาจะมีผลเพียง 8 ปี คือถึงปี 2568 เท่านั้น

 

การเคลื่อนไหวของตลาดทุนสหรัฐฯ ตั้งแต่ ปธน. ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง

วัดความสำเร็จของ ปธน. ทรัมป์ กับ 1 ปี ในตำแหน่ง