คิดใหม่ต้อนรับปี2018 กับเกมส์ที่เปลี่ยน!

คิดใหม่ต้อนรับปี2018  กับเกมส์ที่เปลี่ยน!

เมื่อร้านหนังสือเชนใหญ่อย่างบอร์ดเดอร์ส (Borders) ปิดตัวลงในปี 2011 ทั้งที่เคยเปิดซูเปอร์สโตร์กว่า 500 แห่งในอเมริกาปี 2010

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเวลานั้นกล่าวกันว่า สาเหตุมาจากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ที่ชื่อว่า amazon.com ที่เป็นตัวการทำให้ร้านหนังสือชั้นนำต้องล้มละลายลง 

จน มาร์ค แอนเดอร์เซน (Marc Andreessen) ผู้ร่วมก่อตั้ง Netscape และ Mosaic และนักลงทุนด้านดิจิทัลผู้เฉียบคมได้กล่าวว่า “การที่ธุรกิจของอเมซอน ส่งผลให้บอร์ดเดอร์สต้องปิดตัวลง และพนักงานจำนวนมากไม่มีคุณสมบัติดีพอที่จะทำงานกับอเมซอน เป็นปัญหาใหญ่หนักหน่วง” แต่มาร์คไม่คิดว่าอเมซอนจะสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ลูกค้าคือผู้ที่ตัดสินใจในการจับจ่ายซื้อสินค้า และพอใจกับความสะดวกสบายและโปรโมชั่นที่ได้รับ อเมซอนเป็นเพียงผู้เล่นหน้าใหม่ที่นำเสนอธุรกิจและบริการที่ถูกใจลูกค้าได้มากกว่า จึงอาจกล่าวได้ว่าการปิดฉากลงของบุ๊คสโตร์ที่เคยรุ่งเรืองที่แท้แล้วเป็นดิสรัปชั่นที่รอเวลาเกิดขึ้นนั่นเอง

คิดใหม่เพื่อทรานส์ฟอร์ม

ทุกวันนี้ตัวอย่างดิสรัปชั่นในธุรกิจมีให้เห็นมากขึ้น องค์กรชั้นนำต่างตระหนักถึงกระแสดิจิทัลที่กำลังส่งผลต่อธุรกิจและการแข่งขัน ผลการสำรวจจาก The Conference Board ระบุว่าผู้บริหาร 9 ใน 10 คนคาดว่าองค์กรมีเวลาอีกเพียง 2-3ปี ที่จะขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นให้สำเร็จ ก่อนที่จะเริ่มเห็นว่าผลกระทบทางธุรกิจ โดย 59% ของผู้บริหารเชื่อว่าอาจกำลังพ่ายต่อคู่แข่งแล้ว

การคิดใหม่ (Rethinking) นับเป็นเคล็ดลับสำคัญในขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปในยุคดิจิทัล นับแต่ความคิดในการเข้าถึงลูกค้าและให้บริการที่เกินความพอใจด้วยนวัตกรรมดิจิทัล การใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า 

การพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการต่อลูกค้าและการรู้เท่าทันการแข่งขันและการสร้างพันธมิตรด้านเทคโนโลยีเพื่อพลิกโอกาสให้กับองค์กร ซึ่งความสำคัญคงเริ่มตั้งแต่แนวความคิดใหม่ของผลิตภัณฑ์และบริการที่องค์กรต้องกำหนดหรือเลือกและการผลักดันให้ความคิดนั้นเกิดขึ้นได้ผ่านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นที่มีบุคลากรเป็นผู้ขับเคลื่อน

บริษัทเลโก้ (Lego) เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของการเปลี่ยนองค์กรอายุกว่า 65 ปีให้สามารถขึ้นเป็นผู้นำของเล่นเด็กในยุคดิจิทัล จากก้อนเลโก้สี่เหลี่ยมไปเป็นเกมส์ยุคใหม่ (Toys-to-Life) วีดิโอเกมส์ แอพ หรือแม้แต่ภาพยนตร์ในปี 2014 ที่กวาดรายได้กว่า 468 ล้านดอลลาร์ด้วยต้นทุนการสร้างเพียง 60 ล้านดอลลาร์ โดย Jørgen Vig Knudstorp ซีอีโอคนเก่งของเลโก้ ซึ่งนอกจากจะสามารถลดต้นทุนและควบคุมการผลิตด้วยระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) แล้วยังได้จัดตั้งทีมงาน Future Lab เพื่อระดมสมองในการออกแบบ Play Experience ใหม่โดยใช้แนวคิดเชิง Design-Thinking ผสานกับนวัตกรรมดิจิทัลจนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มอย่าง Lego Games, Life of George และ Fusion และจัดตั้งหน่วยงาน Global Insights เพื่อสำรวจความต้องการและการใช้งานที่แท้จริงของลูกค้า โดยผู้บริหารเลโก้ยังคงให้ความสำคัญและผลักดันให้บุคลากรและองค์กรในการเดินหน้าขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นอย่างต่อเนื่อง

ก้าวใหม่ที่ท้าทาย

องค์กรกำลังเผชิญกับความท้าทายในการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นที่ต่างกัน นับจากข้อจำกัดด้านทรัพยากร การขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญ การขาดวิสัยทัศน์และการให้ความสำคัญ จนทำให้ทีมบริหารที่ผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น จำเป็นต้องลดความสำคัญของการทรานส์ฟอร์มองค์กรลง จนอาจเหลือเพียงงานในลักษณะโครงการหรือกิจกรรมเท่านั้น

วัฒนธรรมองค์กรนับที่เป็นอุปสรรคที่ท้าทายต่อการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นสู่ความสำเร็จ โดยองค์กรควรปลูกฝังวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความพร้อมในการพัฒนาและทดลองแนวคิดใหม่ที่ไม่ต้องกลัวความล้มเหลวหรือผิดพลาด แต่นำความผิดพลาดนั้นมาเป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงให้การคิดและทำงานครั้งใหม่ดีขึ้น และการลดอุปสรรคในการสื่อสารระหว่างทีมงานลงเพื่อเปิดโอกาสให้เรียนรู้และประสานงานระหว่างกันเองรวมทั้งกับพันธมิตรทางธุรกิจ อีกทั้งส่งเสริมให้บุคลากรในแต่ละส่วนงานเข้าใจถึงความคาดหวังและความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตรงใจลูกค้ามากที่สุด

การคิดใหม่และขั้นตอนในการนำดิจิทัลมาปรับใช้ในองค์กรจึงเป็นโจทย์ที่ผู้บริหารและบุคคลากรต้องร่วมกันคิดและผลักดัน เพื่อให้องค์กรกล้าคิดกล้าทดลองและปรับตัวได้เร็วราวกับกลุ่มขนาดเล็กอย่าง Startup ที่พร้อมรับมือกับคู่แข่งจากทุกสนาม

ต้อนรับปีใหม่ด้วยการคิดใหม่

ความคาดหวังของลูกค้า วิสัยทัศน์ บุคลากรและการลงทุนเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนองค์กรในการทรานส์ฟอร์มสู่เศรษฐกิจที่แข่งขันด้วยดิจิทัล ปี 2018 นับเป็นปีที่ท้าทายสำหรับองค์กรในการผลักดันการพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อให้พร้อมรับมือกับกระแสการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่ การคิดใหม่ควรเริ่มต้นจากผู้บริหารและบุคลากรภายในองค์กรที่มีความรู้และความชำนาญในสินค้าและบริการเป็นอย่างดี เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการปรับตัวและกระบวนการทำงานในการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาสร้างความสำเร็จให้กับองค์กรและบุคลากรอย่างยั่งยืน