จุดจบของมหาวิทยาลัย ในความหมายเดิม ๆ

จุดจบของมหาวิทยาลัย ในความหมายเดิม ๆ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาคนใหม่ นพ. อุดม คชินทร มีนโยบายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาที่น่าสนใจ 4 ประการ

ให้กับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

จุดจบของมหาวิทยาลัย ในความหมายเดิม ๆ

ข้อที่ผมเห็นว่าเป็นหัวใจของทิศทางใหม่คือ การยอมรับว่าบทบาทมหาวิทยาลัยในยุคดิจิทัลได้ถูก ป่วน หรือ disrupt อย่างรุนแรงจนต้องมากำหนดนิยามของคำว่าการเรียนระดับมหาวิทยาลัยกันใหม่

บางสำนักในโลกตะวันตกได้พูดถึง การสิ้นสุดของมหาวิทยาลัย อย่างที่เป็นชื่อปกหนังสือเล่มนี้ด้วยซ้ำไป

แปลว่าความจำเป็นที่จะต้องเข้าเรียนระดับปริญญาตรีแบบหลักสูตรเดิม ๆ คงจะไม่มีความหมายอีกต่อไปเพราะการ เรียนรู้ สามารถจะทำผ่านช่องทางดิจิทัลได้มากมาย

อีกทั้งคำว่า อาจารย์กับ ลูกศิษย์ก็กำลังจะถูกเปลี่ยนนิยามไปแล้วอย่างเหลือเชื่อ

ข่าวบอกว่าคุณหมออุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวภายหลังการมอบนโยบายให้แก่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในการประชุมสามัญ ทปอ. และสมาคม ทปอ. ครั้งที่ 6/2560 ว่า เนื่องจาก ทปอ.ถือเป็นหน่วยที่ใหญ่ของอุดมศึกษาไทยในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ จึงได้มอบนโยบาย 4 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้

1.มหาวิทยาลัยต้องช่วยตอบโจทย์พัฒนาประเทศ ตามยุทธศาสตร์ของชาติและไทยแลนด์ 4.0 ดูแลศักยภาพของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาหรือบุคลากรของมหาวิทยาลัย จัดการเรียนการสอนแบบเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะอนาคตคนเรียนอาจจะไม่ต้องเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยโดยตรง

2.มหาวิทยาลัยต้องเปิดหลักสูตรผู้สูงอายุ เพิ่มศักยภาพของผู้สูงอายุ ที่จะเพิ่มจากร้อยละ 25 ในปัจจุบัน 

ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยต้องปรับปรุงหลักสูตรให้มีความหลากหลายศาสตร์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนที่เป็นเด็กรุ่นใหม่

3.การวิจัย สามารถนำมาใช้ได้จริง มีองค์ความรู้ใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ซึ่งในฐานะ รมช.ศึกษาธิการ จะดำเนินการผลักดันของบวิจัยให้ได้ ร้อยละ 1 ของผลผลิตมวลรวมของประเทศในปีงบประมาณ 2562 เพราะขณะนี้แม้งบวิจัยก้อนใหญ่จะอยู่ที่มหาวิทยาลัย แต่ภาพรวมยังกระจัดกระจายและไม่เพียงพอ

ขณะเดียวกันต้องขอความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ สนับสนุนงานวิจัย และ

 4.มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องแลกเปลี่ยนบุคลากรร่วมกัน  ต้องมีการปรับตัว ปรับหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน โดยบูรณาการหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน เพราะการเรียนในอนาคตจะสอนให้เด็กเก่งศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง คณะใดคณะหนึ่ง อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ

รมช. ศึกษาฯบอกว่าการเรียนการสอนต้องทำให้เด็กมีความเก่งครอบคลุมในหลายศาสตร์ เช่น เรียนคณะนิติศาสตร์ ก็ต้องมีความรู้ด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เพื่อบูรณาการความรู้มาใช้ในการพัฒนาตนเองและประเทศชาติต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลง ในต่างประเทศมีหลายมหาวิทยาลัยกำลังปิดตัว มหาวิทยาลัยไทยก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศได้

ขณะเดียวกัน ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธาน ทปอ. ก็บอกว่าที่ประชุม ทปอ.ได้รับทราบนโยบายของ รมช.ศธ. ซึ่งตนก็เห็นว่าเป็นเรื่องดี 

นพ.อุดมย้ำว่ามหาวิทยาลัยต้องทลายกำแพง สร้างความร่วมมือ และ ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการบูรณาการหลักสูตรระหว่างคณะ เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ สามารถไปเรียนด้านบริหาร หรือคณะแพทยศาสตร์ สามารถมาเรียนวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดหลักสูตรที่ตอบโจทย์สังคมและตอบโจทย์โลก นอกจากนี้ รมช.ศธ.ยังรับปากจะผลักดันให้เกิดกระทรวงการอุดมศึกษา ก่อนการเลือกตั้งหรือภายในปี 2561 ซึ่ง ทปอ.พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานในทุกเรื่อง

คงไม่ต้องตอกย้ำว่าสถาบันการศึกษาของไทยไม่อาจจะดำเนินต่อไปแบบเดิมได้อีกต่อไปในเมื่อโลกดิจิทัลกำลังกดดันให้ทุกฝ่ายในสังคมต้องปรับตัวอย่างหนักหน่วงรุนแรง

คำว่า จุดจบของมหาวิทยาลัยมีความหมายอย่างไรจะได้ว่ากันในตอนต่อไป