ข้อพิพาทเขตแดนในอาเซียน ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก

ข้อพิพาทเขตแดนในอาเซียน ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก

ข้อพิพาทเขตแดนในอาเซียนมีมากกว่า 30 กรณี แต่มีเพียงไม่กี่กรณีที่ถูกนำเสนอจนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

อาทิ ข้อพิพาททะเลจีนใต้ กรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งถือเป็นกรณีใหญ่ และมีความสำคัญ 

ตามความเป็นจริงยังมีข้อพิพาทอื่นๆ อีกไม่น้อยที่ยังไม่ได้ถูกนำเสนอ และเป็นที่รู้จักมากนัก เช่น ข้อพิพาทเขตแดนระหว่างลาวกับกัมพูชา ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากมีเขตแดนจำนวนมากยังไม่ได้มีการปักปัน (un-demarcated border area) ให้ชัดเจน 

ล่าสุดเมื่อเดือนก.พ. 2560 รัฐบาลกัมพูชาดำเนินนโยบายตัดถนนรอบเขตแดนของประเทศ หลังจากได้รับเงินสนับสนุน และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากจีน ขณะที่รัฐบาลลาวมองว่า โครงการตัดถนนบางส่วนของกัมพูชารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ ที่ยังไม่ได้มีการปักปันระหว่าง 2 ประเทศ 

หน่วยงานรัฐในพื้นที่ของลาวจึงตัดสินใจส่งกองกำลังทหารเข้าไปเจรจา จนกระทั่งกัมพูชายอมยุติการก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าว

จากนั้นไม่นาน สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีลาว ได้ร่วมหารือพร้อมจัดทำหนังสือยื่นเสนอไปยังนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เพื่อขอให้ฝรั่งเศสส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดน และแผนที่สมัยอาณานิคมมาให้แก่กัมพูชาและลาว เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศต้องการที่จะปักปันเขตแดนทั้งหมดให้แล้วเสร็จ 

กัมพูชาเคยยื่นเรื่องเช่นนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อเกิดข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกับเวียดนามในปี 2558 ซึ่งทางฝรั่งเศสก็ส่งแผนที่สมัยอาณานิคมมาให้ โดยทางกัมพูชา และเวียดนามก็ดำเนินการปักปันเขตแดนตามแผนที่ดังกล่าว 

หลายฝ่ายมองว่าปัญหาเรื่องเขตแดนของกัมพูชา และเวียดนามน่าจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังคงมีกลุ่มทุนเวียดนามเข้ามาเช่าที่ดิน บริเวณคาบเกี่ยวพรมแดนของทั้ง 2 ประเทศเพื่อทำเกษตรกรรม ซึ่งยังคงเป็นประเด็นที่รัฐบาลกัมพูชาและเวียดนามต้องร่วมกันแก้ไขต่อไป

 โซฟาล เอีย ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างชาติหลังสงคราม แห่งวิทยาลัยออกซิเด็นทัล  สหรัฐ ได้วิเคราะห์ถึงความกระตือรือร้นในการเดินหน้าปักปันเขตแดนของกัมพูชากับลาว หรือกับเวียดนามว่า เป็นเพราะสมเด็จฮุน เซน ต้องการจะสร้างคะแนนนิยมให้กับตนเอง เนื่องจากกัมพูชาจะมีการจัดการเลือกตั้งในปี 2561

ด้าน เอียน เบียร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์การเมือง แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซินเมดิสัน สหรัฐ วิเคราะห์ว่า ข้อพิพาทระหว่างกัมพูชากับประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดขึ้นไม่ใช่ประเด็นใหม่ เนื่องจากเขตแดนของกัมพูชา และเพื่อนบ้านยังขาดความชัดเจนในหลายจุด และแม้จะเป็นกรณีข้อพิพาทในพื้นที่ขนาดเล็กในระดับท้องถิ่น แต่ก็วางใจไม่ได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วอาจกลายเป็นความขัดแย้งในระดับประเทศได้

อย่างไรก็ตาม เบียร์ดให้ข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ที่ข้อพิพาทระหว่างกัมพูชาและลาวว่า จะก้าวไปสู่ความขัดแย้งระดับประเทศนั้นอาจจะไม่สูงนัก เพราะนักการเมืองระดับสูงของทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

กลไกในการแก้ไขข้อพิพาทของอาเซียน รวมถึงประเด็นข้อพิพาทเขตแดน ระบุไว้อย่างชัดเจนในกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) โดยเฉพาะในหมวดที่ 8 เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทไว้ว่า “รัฐสมาชิกต้องพยายามระงับข้อพิพาทอย่างสันติให้ทันท่วงที ผ่านการสนทนา ปรึกษาหารือ หรือเจรจา รวมทั้งการใช้คนกลางที่น่าเชื่อถือเข้าประนีประนอมและไกล่เกลี่ย ตลอดจนสามารถจัดตั้งกลไกเพื่อระงับข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้น แต่หากไม่สามารถระงับข้อพิพาทได้ ก็สามารถเสนอข้อพิพาทดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) เพื่อให้ชาติสมาชิกร่วมกันตัดสิน”

แม้อาเซียนจะให้ความสำคัญต่อกลไกในการระงับข้อพิพาท แต่แนวทางดังกล่าวก็ไม่อาจใช้เป็นสูตรสำเร็จสำหรับแก้ไขข้อพิพาทในทุกกรณีได้ โดยเฉพาะข้อพิพาทเขตแดน ที่มักเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูง เกี่ยวพันกับอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนที่ชาติอาเซียน ล้วนมีความหวงแหนเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังนำไปสู่กระแสชาตินิยมที่มักจะปลุกขึ้นได้ง่ายในชาติอาเซียน ที่ส่วนใหญ่เพิ่งได้รับเอกราชไม่นานนัก จึงยังอยู่ในกระบวนการสร้างชาติด้วยชาตินิยมกันอยู่

ประเด็นเรื่องเขตแดนไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทในพื้นที่ขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก มักจะเกี่ยวข้องกับมิติทางประวัติศาสตร์ การเมืองภายใน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระแสชาตินิยมตลอดจนความเข้าใจของกลุ่มคนที่หลากหลาย 

ความพยายามที่จะปักปันเขตแดนให้ชัดเจน ด้วยการขีดเส้นเขตแดนโดยยึดตามแผนที่นั้น อาจไม่สามารถระงับข้อพิพาทได้เสมอไป เพราะ เขตแดนในความเป็นจริง อาจเปลี่ยนแปลงไปแล้วจากสภาพธรรมชาติ และจากพลวัตของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่คร่อมพรมแดน 

แตกต่างจาก เขตแดนในแผนที่ที่ถูกเขียนขึ้นมานานแล้วในอดีต ซึ่งบ่อยครั้งเส้นเขตแดนดังกล่าวนี้ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

โดย... 

กุลระวี สุขีโมกข์ 

ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน” ฝ่าย 1 สกว.