มุมมองผู้คุมกฎตลาดทุนโลกกับ ICO(2)

มุมมองผู้คุมกฎตลาดทุนโลกกับ ICO(2)

ในบทความตอนที่1 ผมได้เขียนถึงขั้นตอนทำ ICO บทความตอนนี้ผมจะพาไปดูมุมมองผู้คุมกฎตลาดทุนในหลายประเทศที่มีต่อ ICO โดยเริ่มจากประเทศในเอเชียก่อน

สิงคโปร์ The Monetary Authority of Singapore หรือ MAS หรือแบ็งก์ชาติของสิงคโปร์นั่นเอง ได้ออกคำแนะนำชื่อ A Guide to the Digital Offerings เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2017 กำหนดให้ Digital token หรือเหรียญดิจิทัลที่มีลักษณะบางประการถือว่าจัดเป็นหลักทรัพย์ที่ก่อนจะขายหรือก่อนจะทำ ICO ต้องขออนุญาตตามกฎหมายหลักทรัพย์และฟิวเจอร์ของสิงคโปร์ก่อน 

ลักษณะบางประการดังกล่าวคือเป็นเหรียญดิจิทัลที่แสดงสิทธิในหุ้นของบริษัท หรือหุ้นกู้ ( debenture) หรือหน่วยลงทุนรวม ( collective investment scheme) หากนอกเหนือจากนี้ไม่ต้องขออนุญาต 

แต่โจทก์ที่ยากคือจะพิจารณาอย่างไรว่าเหรียญดิจิทัลที่จะออกนั้นเป็นการแสดงสิทธิในหุ้นของบริษัท หรือหุ้นกู้ ( debenture) หรือหน่วยลงทุนรวม ( collective investment scheme)หรือไม่ เพียงใด ดังนั้นจุดสำคัญคือการกำหนดใน White Paper ในการทำ ICO นั่นเองว่าได้เขียนอธิบายสิทธิของเหรียญดิจิทัลไว้เช่นใด

ฮ่องกง  The Securities and Futures Commission ของฮ่องกงได้ออกคำแถลงการณ์เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2017 ว่า การออก Digital token หรือเหรียญดิจิทัลในการทำ ICO นั้น จะถือเป็นการออกหลักทรัพย์ที่ต้องขออนุญาตก่อนตามกฎหมายหลักทรัพย์และฟิวเจอร์ของฮ่องกงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและสภาพแวดล้อมของการทำ ICO  

ฮ่องกงเองมีมุมมองคล้ายสิงคโปร์กล่าวคือหากเหรียญดิจิทัลในการทำ ICO เป็นการก่อให้เกิดสิทธิในหุ้นในบริษัทหรือหนี้หรือความรับผิดเหมือนหุ้นกู้หรือมีผลประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนในรูปแบบหน่วยลงทุนรวม ( collective investment scheme) การทำ ICO จะถือเป็นการออกหลักทรัพย์ที่ต้องขออนุญาตกับ The Securities and Futures Commission ก่อน

มาเลเซีย  The Securities Commission ของมาเลเซียมีเพียงการออกแถลงการณ์เตือนประชาชนที่เข้าซื้อเงินดิจิทัลใน ICO ว่าการทำ ICO นั้น ผู้ทำอาจจะไม่อยู่ในประเทศมาเลเซียและไม่สามารถตรวจสอบได้ การทำ ICO อาจไม่มีการถูกควบคุมโดยหน่วยงานรัฐ และการเข้าซื้อเงินดิจิทัลใน ICO อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างจำกัด 

อย่างไรก็ตามผู้ว่าแบงก์ชาติมาเลเซียได้กล่าวในเดือนต.ค.ที่ผ่านมาว่ามาเลเซียจะออกกฎหมายชัดเจนในเรื่องนี้ในปลายปีนี้

ฟิลิปปินส์  The Securities and Exchange Commission ของฟิลิปปินส์ผ่านทางเลขาธิการได้แถลงในเดือนพ.ย. ที่ผ่านมาว่า ทางกลต.ของฟิลิปปินส์ยอมรับในการเติบโตของเงินดิจิทัล และการที่จะออกเงินดิจิทัลในการทำ ICO จะต้องขออนุญาตก่อนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะสิทธิที่เงินดิจิทัลได้ก่อขึ้น คือ สิทธินั้นผูกกับหุ้นในบริษัท หุ้นกู้หรือหน่วยลงทุนรวมตามกฎหมายหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์หรือไม่ และถ้าเป็นการทำ ICO ก็ต้องขออนุญาตจากกลต.ของฟิลิปปินส์ก่อน ถ้าไม่เป็น ก็ไม่ต้องขออนุญาต

ทั้งสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซียและฟิลิปปินส์จัดอยู่ในประเทศที่ไม่ห้ามการทำ ICO แต่ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานก่อนหากเงินดิจิทัลที่ออกมีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายของแต่ละประเทศ

เกาหลีใต้ The Financial Services Commission ของเกาหลีใต้ประกาศเมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมาห้ามการออกเงินดิจิทัลโดยทาง ICO และยังกำชับว่าใครก็ตามรวมทั้งสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับ ICO จะได้รับโทษ “อย่างรุนแรง” สำหรับสาเหตุสำคัญที่ถูกยกขึ้นอ้างคือการออกเงินเสมือนต้องมีการควบคุมและตรวจสอบอย่างมากซึ่งยังไม่มีกฎหมายรองรับ

จีน  หน่วยงานควบคุมทางการเงินหลายหน่วยงานของจีนได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2017 เพื่อห้ามการทำ ICO ในประเทศจีนอย่างเด็ดขาด เพราะหน่วยงานจีนถือว่าการทำ ICO เป็นการออกเงินเสมือนหรือ virtual currencies ที่ไม่มีหลักเกณฑ์การควบคุม

หน่วยงานจีนยังห้ามการทำ ICO ว่าให้หยุดในทันที และให้คืนเงินแก่นักลงทุนที่ลงเงินไปแล้ว ห้ามไม่ให้สถาบันการเงินเข้าเกี่ยวข้องกับการทำ ICO

ในเอเชีย เกาหลีใต้ และ จีน จึงห้ามการทำ ICO อย่างเด็ดขาด โดยไม่ได้ดูเนื้อหาของเงินดิจิทัลที่ออกมาว่า มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ที่ต้องขออนุญาตในการออกตามกฎหมายหลักทรัพย์ในประเทศตนหรือไม่ 

คำถามที่น่าคิดคือทำไม เกาหลีใต้ และจีนซึ่งถือว่ามีความก้าวหน้าในเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับโลกจึงห้ามในลักษณะเด็ดขาด 

ในเกาหลีใต้ผมไม่ทราบ แต่ในจีนนั้นพอทราบว่าทางการจีนเองกำลังซุ่มออกเงินดิจิทัลเป็นของตัวเอง ดังนั้นที่ทำได้ตอนนี้คือห้ามคนอื่นทำไปก่อน

ข้อน่าคิดของการทำ ICO คือไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ Server ตั้งอยู่ที่ใดของโลกก็ไม่รู้ เพราะใช้เท็คโนโลยีบล็อกเชน อีกทั้งอินเทอร์เน็ตก็ทะลุทะลวงไปทั่วโลก 

ทำไมหน่วยงานแต่ละประเทศจึงคิดว่าจะห้ามหรือตรวจสอบ ICO ตามกฎหมายของตนได้

ผมเคยถามคำถามนี้กับเจ้าหน้าที่ของออสเตรเลีย ก็ได้คำตอบเพียงแค่ว่า “น่าคิด” และที่มักทำในตอนนี้คือในการทำ ICO จะมีข้อจำกัดการขายไว้เช่นการทำ ICO นี้ ไม่ขายให้ประชาชนที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศจีน และเกาหลีใต้เป็นต้น

ออสเตรเลีย หน่วยงานชื่อ The Australian Securities and Investment Commission ของออสเตรเลียได้ออกแถลงการณ์มีเนื้อหาคล้ายของสิงคโปร์คือการออกเงินดิจิทัลด้วยการทำ ICO จะต้องขออนุญาตหรือไม่ขึ้นอยู่กับลักษณะของเงินดิจิทัลว่าจะถือเป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายหลักทรัพย์ของออสเตรเลียหรือไม่ คือ ถ้าเป็นก็ต้องขอ ถ้าไม่เป็นก็ไม่ต้องขออนุญาต ดังนั้นการจะเป็นหลักทรัพย์หรือไม่ก็ต้องไปอ่านเนื้อหาของสิทธิของเงินดิจิทัลที่เขียนไว้ใน White Paper

สหรัฐอเมริกา  เดิมทีเดียวหน่วยงานในสหรัฐค่อนข้างจะไม่เข้มงวดการทำ ICO นักจนกระทั่งมีการออกเงินดิจิทัล และการทำ ICO กันมากขึ้น 

เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานชื่อ The US Securities and Exchange Commission ได้ขยายความความหมายของเงินดิจิทัลอย่างกว้าง ทำให้เงินดิจิทัลกลายเป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายหลักทรัพย์ และเมื่อเป็นหลักทรัพย์แล้ว ก็จะก่อภาระทางกฎหมายอย่างมากให้กับผู้ถือครอง ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐ ในการทำรายงานหรือลงทะเบียนตามกฎหมายหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในสหรัฐอเมริกาว่ากฎหมายหลักทรัพย์มีความซับซ้อนและโทษรุนแรงมาก

อังกฤษ  หน่วยงานของอังกฤษคือ The Financial Conduct Authority ได้ออกแถลงการณ์คล้ายกับหน่วยงานของออสเตรเลียและของสิงคโปร์คือ ต้องดูสิทธิที่ผูกกับเงินดิจิทัลในการทำ ICO 

หากเป็นหลักทรัพย์ ก็ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานก่อนจะทำ ICO โดยหน่วยงานอังกฤษเขียนอธิบายว่า ถ้าสิทธิในเงินดิจิทัลผูกกับหุ้นในบริษัทหรือหลักทรัพย์ประเภทอื่น หรือหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ หรือตราสารแสดงเงินฝากหรือสิทธิที่จะเรียกร้องในเงินหรือดอกเบี้ยหรือทรัพย์สิน ถือว่าเงินดิจิทัลนั้นเป็นหลักทรัพย์ ที่ต้องขออนุญาตก่อนทำ ICO

หากถูกตีความว่าการทำ ICO ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานในประเทศนั้นก่อนแต่ไม่ขออนุญาต ทุกประเทศล้วนกำหนดโทษรุนแรงเหมือนกันทุกประเทศโดยจะมีโทษทั้งปรับและจำคุกด้วย

บทความตอนต่อไปจะเขียนถึง ICO ในประเทศไทยและหากบริษัทในประเทศไทยจะไปหาแหล่งระดมทุนโดยทำ ICO ในต่างประเทศบ้างจะได้หรือไม่

 

โดย... 

จุลพงศ์ อยู่เกษ

ประธานสำนักงานซิโก้ ลอว์ ประเทศไทย