4 ธุรกิจที่ต้องจับตาในปี 2018

4 ธุรกิจที่ต้องจับตาในปี 2018

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับคำถามเกี่ยวกับธุรกิจที่น่าจับตามองในปี 2018 ซึ่งผู้เขียนมองว่า ธุรกิจที่มีแนวโน้มจะเติบโตในปีหน้าและปีต่อๆ ไป

ได้แก่ กลุ่มธุรกิจหลักดังนี้

กลุ่มแรก ได้แก่ยานยนต์และชิ้นส่วน โดยในระดับโลก ความต้องการรถยนต์โดยเฉพาะรถยนต์นั่งจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องประมาณ 3% จากปีนี้ ทำให้ยอดขายรถยนต์นั่งทั้งโลกอยู่ที่ประมาณ 69 ล้านคัน ผลจากความต้องการของประเทศตลาดเกิดใหม่เป็นหลัก 

ในปีหน้านั้น จะเป็นปีแรกที่ความต้องการรถยนต์ SUVs (Sport Utility Vehicles) ที่จะมีสัดส่วนสูงกว่ารถยนต์อื่นๆ ทั้งหมด อันเป็นผลจากการเปลี่ยนรสนิยมของผู้บริโภค โดยหันมาต้องการรถที่ใหญ่ขึ้นและตอบสนองต่อรูปแบบชีวิตที่หลากหลาย

นอกจากนี้ อีก 2 ปัจจัยที่ทำให้ความต้องการรถยนต์ยังอยู่ในระดับสูงได้แก่ 1. กระแสการบริโภครถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มเพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบรถยนต์พลังไฟฟ้า 100% (Battery Electric Vehicle: EV) และรถยนต์ผสมไฟฟ้าและเครื่องยนต์สันดาป (Plug-in Hybrid: PHEV) 

เจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla มีแผนจะผลิต 500,000 คันในปีหน้า (โดยเฉพาะ Model 3 ที่จับกลุ่มคนชั้นกลาง) ขณะที่ผู้เล่นอื่นๆ อย่างนิสสัน (Leaf) และฮอนด้าก็จะลงมาเล่นในตลาดนี้อย่างเต็มตัว เช่นเดียวกับรถค่ายยุโรป เช่น Mercedes Benz และ BMW ที่ต่างผลักดันรถยนต์ PHEV ของค่ายตนเช่นกัน

  1. การขยายตัวของธุรกิจRide-Sharingเช่น Grab Uber และ Didi Chuxin ที่เป็นผู้ครองตลาด Ride-sharing ในจีนนั้น ต่างมีแผนผลักดันธุรกิจของตนในยุโรปและแอฟริกาเพิ่มขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจดังกล่าวจะขยายตัวในระดับ 10% ทั่วโลก ซึ่งทำให้ความต้องการในรถยนต์มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ในส่วนของภาวะตลาดรถยนต์ในไทย คาดว่าน่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปีนี้ ที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศอาจจะอยู่ประมาณ 8.3 แสนคัน ขยายตัว 8.0% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวของยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในระดับ 15-20% ต่อปี ขณะที่ในปีหน้านั้น คาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศอาจขยายตัวที่ประมาณ 6.0% โดยรถยนต์นั่งโต 7.7% กระบะโต 5.0% 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณายอดผลิตรถยนต์ในประเทศโดยรวมที่อยู่ถึงระดับ 2 ล้านคันต่อปีแล้วนั้น จะเห็นว่าความต้องการรถยนต์ในตลาดโลกที่ร้อนแรง ทำให้ผู้ผลิตไทยหันไปส่งออกมากกว่า (จากที่โดยปกติแล้ว สัดส่วนการส่งออกต่อยอดขายในประเทศจะประมาณ 50:50)

กลุ่มที่ 2 ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือต่างๆที่ผ่านมา ยอดขายของสินค้าในกลุ่มนี้เติบโตดีทั้งในประเทศเจริญแล้วและในประเทศตลาดเกิดใหม่ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การส่งออกสินค้าประเภทนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่ขยายตัวได้ดี 

ขณะที่ในปีหน้านั้น ภาพรวมของความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของทั่วโลกน่าจะยังแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในสหรัฐ ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4-5% และมีมูลค่าตลาดรวม 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ผลจาก 2 ปัจจัยหลัก

  1. การที่ธุรกิจต่างๆ ทั้งในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงธุรกิจต่างๆ หันมาทำธุรกิจผ่านมือถือและApplication ต่างๆ มากขึ้นส่งผลบวกต่อความต้องการโทรศัพท์มือถือ รวมถึงต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา Application ต่าง ๆ 

นอกจากนั้น การที่ข้อมูลต่าง ๆ ถูกเก็บบน Cloud มากขึ้น ทำให้ธุรกิจที่ให้บริการดังกล่าวมีความต้องการ Hard Disk เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลมากขึ้น

  1. ความต้องการของHardware ต่างๆ ที่จะมีมากขึ้น ทั้งในส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดตัวของ Window 10 และในส่วนของ Tablet ที่จะยังมีการขยายตัวสูง (ประมาณ 12% ทั้งโลก) โดยได้รับอานิสงส์จากความต้องการของภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่ให้พนักงานใช้ Tablet ในการทำงานและติดต่อสื่อสารมากขึ้น และระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์มือถือรุ่น 5G ที่จะมีการเปิดตัวในช่วงโอลิมปิคฤดูหนาวที่เกาหลีใต้ ที่ก้าวล้ำทันสมัยยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ จะทำให้ความต้องการชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเช่นกัน

กลุ่มที่ 3 ได้แก่ธุรกิจ E-Commerce ต่างๆ ที่ผ่านมา ธุรกิจ E-commerce ขยายตัวถึงกว่า 20% ทั่วโลก (ยอดขายรวมอยู่ที่เกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี) สวนทางกับธุรกิจค้าปลีกแบบมีหน้าร้าน (Brick and Mortar) ที่ขยายตัวต่ำ (2-3% ทั่วโลก) โดยธุรกิจดังกล่าวขยายตัวมากในจีนผ่านการทำธุรกรรมบนมือถือ (กว่า 3 ใน 4 ของธุรกรรม E-Commerce ทั้งหมด) และทำให้ยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba และ Tencent ขยายตัวต่อเนื่อง (ในปีหน้าคาดว่ายอดขายอาจขยายตัวถึง 50% ต่อปี)

ในส่วนของไทยนั้น ธุรกิจ E-commerce ขยายตัวต่อเนื่องจากการใช้ promptpay ที่แพร่หลายขึ้น ทั้งการจ่ายผ่าน QR Code ความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ และธุรกิจค้าปลีกที่จะหันมาทำธุรกิจ on-line มากขึ้น โดยสินค้าที่เกี่ยวข้องกับแม่ลูกอ่อน-รวมถึงอาหารจะขายดีมาก-ส่งผลลูกโซ่ให้ธุรกิจรับบริการส่งของสามารถทำได้ดี

กลุ่มสุดท้าย ได้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและเดินทางต่างๆ

ที่ผ่านมา การเดินทางท่องเที่ยวขยายตัวสูงขึ้นตามรายได้ของคนชั้นกลางในประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะชาวจีนที่ออกมาเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก และทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยได้รับอานิสงส์ด้วย ในระดับโลก คาดว่าการขยายตัวของจำนวนนักเดินทางโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 6% และมีส่วนทำให้ค่าเดินทางทางเครื่องบินเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4% และทำให้ความต้องการโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทาง (เช่น สนามบิน) เพิ่มขึ้น

ในส่วนของไทย คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 35 ล้านคน ขยายตัว 7% โดยเป็นนักท่องเที่ยวจีนถึงกว่า 9 ล้านคน ส่วนในปีหน้า คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในไทยอาจอยู่ที่ 37 ล้านคน ขยายตัว 6% ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

เหล่านี้คือธุรกิจที่น่าจับตามมองในปี 2018

........บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่