ยั่งยืนบนผันผวน

ยั่งยืนบนผันผวน

ยั่งยืนบนผันผวน

สวัสดีครับ

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ของกรุงศรี ได้พูดคุยกับเพื่อนสื่อมวลชนเกี่ยวกับแนวโน้มตลาดการเงินและทิศทางค่าเงินบาทของปี 2561 ในหัวข้อที่น่าสนใจมากคือ Sustainability Amid Volatilityซึ่งผมได้ร่วมรับฟังและอยากจะแชร์กับผู้อ่านทุกท่านครับ ว่าธุรกิจไทยจะเติบโตอย่างอย่างยั่งยืนได้อย่างไรท่ามกลางความผันผวนของปัจจัยทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

ค่าเงินบาทที่แตะระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 32 เดือนที่ 32.46 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นการแข็งค่าขึ้น 10% นับตั้งแต่ต้นปี และมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องในปีหน้าที่จะถึงนี้  สะท้อนให้เห็นถึง Volatility ที่อาจเกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญมาจากทั้งภาคต่างประเทศและภายในประเทศ สำหรับปัจจัยด้านต่างประเทศ แม้มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ยังมีความไม่แน่นอนด้านนโยบายการเงินของประเทศหลักๆ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นปัจจัยที่ตลาดจับตามอง โดยเฉพาะการเข้ารับตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ในเดือนกุมภาพันธ์ และการเปลี่ยนแปลงกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC)  ทำให้ตลาดไม่มั่นใจในทิศทางอัตราดอกเบี้ยว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วหรือปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนั้นความไม่ชัดเจนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์เช่นกัน

สำหรับในส่วนของยุโรป ปัจจัยทางการเมืองอาจกระทบทิศทางนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และยังไม่ชัดเจนว่าอีซีบีจะขยายมาตรการ QE หรือไม่ นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องจับตามองคือ การเจรจาของอังกฤษกับอียูในเรื่องการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit)  เมื่อหันมามองทางเอเชีย การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการ นโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นส่งผลให้ทิศทางนโยบายมีความไม่แน่นอน ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจและตลาดเงินจีนน่าจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาค รวมถึงค่าเงินบาทของไทย เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าสำคัญเกือบทุกชนิดของไทย ด้วยมูลค่ากว่า 12% ของการส่งออกรวมของไทยในปัจจุบัน

สำหรับปัจจัยในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคส่งออกที่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของการค้าโลก นักเศรษฐศาสตร์หลายแห่งได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ หลังจากตัวเลขจีดีพีขยายตัวจาก 3.8% ในไตรมาส 2 มาเป็น 4.3% ในไตรมาส 3 โดยยอดส่งออกเติบโตสูงถึง 12.5% แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดหุ้นทั้งรายย่อยและสถาบันมีความมั่นใจมากขึ้น นอกจากนั้น การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นอีกปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท หากเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเติบโตแข็งแกร่งและไทยมียอดส่งออกเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าไทยในระยะยาว มีความเป็นไปได้ที่เราจะเห็นค่าเงินบาทแข็งทะลุ 32 บาทต่อดอลล่าร์ ในปี 2561  

ท่ามกลาง Volatility ที่อาจเกิดจากปัจจัยที่กล่าวมา เรายังสามารถผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนสู่ Sustainability หากมีการเตรียมความพร้อมครับ

ในช่วงปลายปีนี้ เป็นเวลาที่ผู้ประกอบการกำลังสรุปแผนธุรกิจและเป้าหมายการดำเนินธุรกิจสำหรับปีใหม่ที่จะมาถึงผู้ประกอบการจึงควรพิจารณามาตรการป้องกันความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวน อาทิ การบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนผ่านเครื่องมือทางการเงินต่างๆ เช่น การ Hedging  รวมถึง การติดตามข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวทางการเงินอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ในปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่งก็มีการส่งรายงานผลวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและการเงินให้กับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ควรมีการติดตามข้อมูลหรือดัชนีชี้วัดที่สำคัญจากภาครัฐ องค์กรการค้า และอุตสาหกรรม เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน

รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้งครับ