ศิลปะของการพูดให้น้อย

ศิลปะของการพูดให้น้อย

ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมว่าในหลายๆ สถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นในการประชุม การนำเสนอ หรือ การแสดงความคิดเห็นในโอกาสต่างๆ

จะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่มีแนวโน้มที่จะพูดมาก หรือ พูดนาน หรือ พูดได้เรื่อยๆ หรือ พูดวนไปวนมา หรือ พูดจากเรื่องหนึ่งแล้วก็แตกไปเรื่องอื่นๆ ต่อไปได้เรื่อยๆ คนกลุ่มนี้ถ้าให้เวลาในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ 20 นาที จะไม่เคยนำเสนอจบภายในเวลา 

แต่จะสามารถลากยาวได้นานกว่าเวลาที่ให้ หรือประเด็นที่สามารถพูดให้เข้าใจ และจบได้ภายในเวลา 2 นาที ก็สามารถใช้เวลาอธิบายได้ถึง 10 นาที หรือ จะพูดอยู่เพียงแค่ประเด็นเดียว แต่ก็พูดในประเด็นดังกล่าววกไปวนมาอยู่ 4-5 รอบ

ในอดีตมองคนเหล่านี้อย่างชื่นชมว่า มีทักษะในการพูดสูงส่ง สามารถพูดเรื่อยๆ ได้อย่างไม่จบสิ้น แต่ในช่วงหลังดูเหมือนจะพบเจอคนที่มีลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ (ในองค์กรทุกประเภท) และพอมาในยุคที่ความเร็วและเวลาเป็นสิ่งที่มีค่า ก็กลับพบว่าบุคคลเหล่านี้กลับทำให้เราเสียเวลาอันมีค่าโดยใช่เหตุ

ก่อนหน้านี้เข้าใจว่าการพูดมากเกินความจำเป็นนั้น อาจจะเป็นเรื่องปกติที่ปฏิบัติกันทั่วไป จนกระทั่งมาเห็นบทความใน Wall Street Journal เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่จั่วหัวบทความว่าTalkaholics sink partnerships, presentations, and careers เลยทำให้พบว่า การพูดมากเกินความจำเป็นนั้นเป็นสิ่งที่พบเห็นทั่วไป และกลายเป็นสิ่งที่ผลเสียต่อการทำงานได้

บทความใน WSJ ระบุไว้ว่า ผู้บริหารที่พูดมาก มักจะแสดงให้เห็นถึงการเตรียมตัวที่ไม่ดี มีความมั่นใจมากเกินไป หรือ มั่นใจน้อยเกินไป  

ในปัจจุบันผู้บริหารที่พูดมาก จะมีความเสี่ยงต่อความก้าวหน้า หรือความสำเร็จในการทำงานมากกว่าในอดีตเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เนื่องจากธุรกิจเน้นความรวดเร็ว และ ความอดทนต่อคำพูดที่ยืดยาว (และไม่ได้ประโยชน์) นั้นลดน้อยลงทุกที ยิ่งในยุคที่สมาธิในการทำงานของคนสั้นลงทุกขณะ (เพราะการเข้ามาของสื่อดิจิทัลต่างๆ) ผู้บริหารจะต้องพูดให้ตรงประเด็นโดยเร็ว

ในยุคของ Startups ที่คนรุ่นใหม่ต่างคุ้นเคยกับ Elevator pitch หรือ 7 minute pitch ที่ผู้ประกอบการยุคใหม่จะต้องสามารถนำเสนอแนวคิดทางธุรกิจของตนเองให้เป็นที่เข้าใจ และยอมรับของผู้อื่นภายในเวลาที่จำกัด จะพบว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะสามารถพูดได้สั้น กระชับ และตรงประเด็นมากขึ้น

แต่ที่น่าเป็นห่วงกลับเป็นคนอีกรุ่น ที่ยังยึดติดกับการพูดนานๆ และพูดยาวๆ โดยคิดว่ายิ่งพูดได้นาน และยาวจะยิ่งมีความสำคัญ และทำให้คนสนใจเราได้มากขึ้น

ที่น่ากลัวเข้าไปอีกคือปัจจุบันสมาธิของเราได้หดสั้นลงไปกว่าปลาทองแล้ว

เมื่อปี 2015 มีงานวิจัยของ Microsoft ที่พบว่าตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา สมาธิของเราสั้นลงทุกขณะ ค่าเฉลี่ยในตัว attention span ของคนเราลดลงจาก 12 วินาที เหลือเพียงแค่8 วินาที 

สาเหตุหลักๆ ก็มาจาก เทคโนโลยี และสื่อดิจิทัลต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย แต่ขณะเดียวกันงานวิจัยดังกล่าวกลับชี้ให้เห็นว่าความสามารถของเราในการทำงานหลายๆ อย่างพร้อมๆ กันกลับเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง Microsoft สรุปว่ามาจากสมองของเราสามารถที่จะพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

ตัวอย่างที่ชัดเจนของสมาธิที่สั้นลงของเราคือ ในหลายสถานการณ์ที่มีการนำเสนอหรือแสดงความคิดเห็น จะพบว่าในช่วงแรกๆ ผู้ฟังจะตั้งใจฟัง แต่พอเวลาผ่านไป ผู้ฟังจะเริ่มก้มลงเล่นโทรศัพท์กันมากขึ้น จากที่เคยนั่งฟังอย่างตั้งใจก็หันมาให้ความสนใจกับโทรศัพท์ของตนเองมากขึ้น

จากบทความใน WSJ ระบุไว้เลยว่าการพูดมากเกินความจำเป็นส่งผลต่อความก้าวหน้าในการทำงานได้เลย  

การจะพูดให้สั้น กระชับ ชัดเจน และตรงประเด็น นั้น ถือว่าเป็นศิลปะที่ฝึกฝนและพัฒนาได้ แต่ต้องเริ่มต้นจากการยอมรับในตัวเองก่อนว่าพฤติกรรมและนิสัยในการพูดของตนเองเป็นอย่างไร จากนั้นค่อยๆ มีสติและเตรียมตัวทุกครั้งเวลาจะพูด