มุมมองผู้คุมกฎตลาดทุนโลกกับ ICO (1)

มุมมองผู้คุมกฎตลาดทุนโลกกับ ICO (1)

ทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) กำลังเข้ามามีส่วนในโลกธุรกิจด้านดิจิทัลมากขึ้นทุกวัน การหาแหล่งเงินทุนด้านการทำ ICO หรือ Initial Coin Offering

จึงเกิดขึ้นแทบจะทั่วโลก และคนไทยจำนวนมากก็ยังเข้าไปลงทุนใน ICO ได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต 

หากลองสำรวจมุมมองของผู้คุมกฎตลาดทุน หรือกลต.ในหลายๆ ประเทศ จะเห็นว่ามุมมองของผู้คุมกฎตลาดทุนต่อ ICO ของแต่ละประเทศยังแตกต่างกันไป 

แต่ก่อนจะไปดูมุมมองของผู้คุมกฎตลาดทุนในหลายๆ ประเทศ ผมขออธิบายให้ผู้อ่านทราบเป็นข้อมูลพื้นฐานของขั้นตอนของ ICO ก่อน จากนั้นบทความนี้จะลองดูมุมมองผู้คุมกฎในหลายประเทศรวมทั้งของไทยที่มีต่อ ICO และในตอนท้ายของบทความจะเป็นการวิเคราะห์การระดมเงินทุนด้วยการทำ ICO สำหรับธุรกิจในประเทศไทย (ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องทำ ICO ในประเทศไทยแต่อย่างใด)

ICO คืออะไร 

ICO คือวิธีการระดมเงินทุนประเภทหนึ่งนอกเหนือจากวิธีการระดมทุนในแบบเดิมๆ เช่น การทำ IPO, crowd funding, venture capital and angel capital เป็นต้น 

การเกิด ICO เป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน บทความนี้จะไม่อธิบายว่า บล็อกเชนคืออะไรเพราะค่อนข้างจะเป็นด้านเทคนิคคอมพิวเตอร์ที่เข้าใจยาก ท่านผู้อ่านอาจไปหาอ่านได้ไม่ยาก และก็เขียนไว้ตรงนี้ว่า อย่าสับสนระหว่างบล๊อกเชนกับ Bitcoin เพราะ Bitcoin ซึ่งเป็นเงินดิจิทัล ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการออกเงินดิจิทัลสกุลนี้

การออก Bitcoin ครั้งแรกเมื่อราวปี2009 นั้นก็อาจเรียกได้ว่าเป็นการทำ ICO เช่นกัน

ใครเกี่ยวกับ ICO บ้าง

ผู้เกี่ยวข้องหลักใน ICO มี คนออกเหรียญดิจิทัล (issuer of digital token) และนักลงทุนในธุรกรรมของ ICO (investor) ซึ่งก็คือนักลงทุนที่ต้องการลงทุนโดยการอ่าน หรือไม่อ่านเอกสารประกอบ ICO  ที่เรียกว่า White Paper แล้ว ที่ส่งเงินสกุลดิจิทัลเช่น Bitcoin หรือ Ether หรือยื่นประมูลแก่คนออกเหรียญดิจิทัล และเมื่อมีการเริ่ม ICO อย่างเป็นทางการ นักลงทุนก็จะได้รับเหรียญดิจิทัลจากคนออก เพื่อเป็นหลักฐานการมีส่วนรับประโยชน์ในทรัพย์สินหรือโครงการตามที่ระบุไว้ใน White Paper ส่วนคนออกก็สามารถนำเอาเงินสกุลดิจิตัล เช่น Bitcoin หรือ Ether ที่ได้รับจากนักลงทุนไปแลกเป็นเงินเหรียญสหรัฐหรือเงินสกุลปกติอื่นที่เรียกกันว่า Fiat Money

ธุรกรรมระหว่างคนออกเหรียญดิจิทัลและนักลงทุนนี้เอง ที่ทำให้ผู้คุมกฎในหลายๆ ประเทศเข้ามาดูแลเพราะเทคโนโลยีบล็อกเชนจะไม่มีใครที่เป็นผู้รับผิดชอบกลาง อีกทั้ง Server บล็อกเชนที่ ICO ใช้นั้นอาจตั้งอยู่ที่ใดในโลกก็ได้ และไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง

พูดง่ายๆ คือทุกอย่างเป็นโลกเสมือน ดังนั้น จะเห็นว่าการลงทุนผ่าน ICO นักลงทุนจึงมีความเสี่ยงสูง ผู้คุมกฎในหลายๆ ประเทศจึงต้องเข้ามาดูแล แต่ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงสูงแค่ไหน ตลาดการทำ ICO ทั่วโลกขณะนี้มีมูลค่าร่วม 1.3 พันล้านดอลลาร์ 

ยิ่งมูลค่าของ Bitcoin จำนวน 1 Bitcoin ทุกวันนี้ (เดือนธ.ค. 2017) ทะลุ 16,000.00 ดอลลาร์ไปแล้วทั้งๆ ที่ เมื่อช่วงเดือนก.พ.- เม.ย.2011 1 Bitcoin มีมูลค่าเพียง 100.00 ดอลลาร์เท่านั้น

ขั้นตอนการทำ ICO  เป็นอย่างไร 

โดยทั่วไป การทำ ICO นั้นแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ ดังนี้

  1. การทำ Pre-announcement  2. การเริ่มทำ ICO ( Launch) และ3. การสิ้นสุดการทำ ICO

ขั้นตอนที่หนึ่งคือการทำ Pre-announcement จะมีการจัดทำ และเผยแพร่เอกสารที่เรียกกันว่า White Paper ที่จะมีเนื้อหาสาระสำคัญในโครงการโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคนิคดิจิทัล มีการระบุถึงปัญหาปัจจุบันที่โครงการจะเข้าไปแก้ปัญหาเช่นปัญหาการโอนเงินระหว่างธนาคาร หรือปัญหาการเสียค่าธรรมเนียมธนาคารแพงของผู้บริโภค และถ้าทำสำเร็จโครงการที่ระบุใน ICO จะเข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างไร 

White Paper จึงพอเทียบเคียงได้กับหนังสือชี้ชวนตอนจะออกหุ้น นอกจากในขั้นตอนที่หนึ่งนี้จะมีการเผยแพร่ White Paper แล้ว ยังมีการทำและเผยแพร่แผนระยะเวลาการทำ ICO ( road map) และเงื่อนไขต่างๆ รวมทั้ง ความเสี่ยงของ ICO

ขั้นตอนก่อนการทำ Pre-announcement ตรงนี้ละครับที่ผู้คุมกฎในประเทศที่เข้มงวดกับ ICO จะเข้ามาดูแล เพราะหากการทำ ICO มีเนื้อหาที่ตีความได้ว่าเป็นการออกหลักทรัพย์ ( securities ) หรือการแผนการบริหารการลงทุน ( investment management scheme) ผู้คุมกฎในหลายประเทศจะถือเป็นการออกหลักทรัพย์ หรือการเสนอแผนการลงทุนต่อสาธารณะชน จึงต้องขอ และได้รับอนุญาตก่อนการทำ Pre-announcement 

ผู้คุมกฎหรือกลต.ในหลายประเทศเช่นสหรัฐ สิงคโปร์และอีกหลายประเทศจะออกมาในแนวนี้ 

แต่ที่สุดโต่ง คือ กลต.จีน ที่ห้ามการทำ ICO ในจีนหรือมาขายในจีนโดยเด็ดขาดเลย แต่วงการการเงินระหว่างประเทศมองว่าไม่ใช่จีนจะรังเกียจ ICO เพียงแต่กำลังหาทางออกเงินดิจิทัล หรือ digital currency ที่เป็นของจีนเอง จึงห้ามคนอื่นทำเอาไว้ก่อน

ขั้นตอนที่ 2 คือการเริ่มทำ ICO โดยมีการกำหนดระยะเวลาที่นักลงทุนจะส่งเงินดิจิทัลที่อาจเป็น Bitcoin มาให้คนออกเหรียญดิจิทัลของ ICO เพื่อเป็นการลงทุนของนักลงทุน ซึ่งโดยปกติขั้นตอนของ ICO จะเปิดให้ลงทุนเป็นระยะเวลาไม่นานมากอาจแค่ 5-7 อาทิตย์ และอาจแบ่งเป็นช่วงๆ โดยแต่ละช่วงราคาเงินดิจิทัลที่ต้องนำมาลงเพื่อได้เหรียญดิจิทัลของ ICO มักจะมีราคาที่ต่างกัน ซึ่งยิ่งนานจะยิ่งแพงขึ้น คงเพื่อจูงใจให้ลงทุนเร็วขึ้น 

ในขั้นตอนนี้คนออกสามารถเอาเงินดิจิทัลที่อาจเป็น Bitcoin ที่ได้รับจากนักลงทุนไปแลกเป็นเงินปกติได้

ขั้นตอนสุดท้ายคือการสิ้นสุดการทำ ICO โดยนักลงทุนที่สนใจจะโอนเงินดิจิทัลให้แก่คนออกเหรียญดิจิทัล จนครบจำนวนเหรียญดิจิทัลของ ICO และคนออกจะส่งเหรียญดิจิทัลของ ICO ให้กับนักลงทุน ถึงตอนนี้คนออกก็สามารถเอาเงินดิจิทัลที่อาจเป็น Bitcoin ที่ได้รับจากนักลงทุนไปแลกเป็นเงินปกติได้เช่นกัน

บทความตอนต่อไปจะกล่าวมุมมองของผู้คุมกฎตลาดทุนของแต่ละประเทศรวมทั้งไทยต่อ ICO ที่ยังแตกต่างกันออกไป

โดย... 

จุลพงศ์ อยู่เกษ

ประธานสำนักงานกฎหมายซิโก้ ลอว์ ประเทศไทย