รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน 21 ธ.ค.60 ปลุกเมืองโคราชคึก

รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน 21 ธ.ค.60 ปลุกเมืองโคราชคึก

ดีเดย์ตอกเสาเข็มรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน 21 ธ.ค.60 ... คาดปลุกเมืองโคราชคึกคัก

ประธาน จิวจินดา

หัวหน้าส่วนวิจัยนโยบายรัฐและปัจจัยทางธุรกิจ

สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252 กิโลเมตร วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท สายแรกในประวัติศาสตร์ กำลังจะเริ่มปักหมุด ในวันที่ 21 ธันวาคม 2560 โดยได้รับการยืนยันจากกระทรวงคมนาคมแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเป็นประธานตอกเสาเข็มการก่อสร้าง ซึ่งถ้าหากการดำเนินงานไม่มีเหตุต้องสะดุด คาดว่ารถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะเปิดบริการได้ในปี 2564-2565

นับเป็นเวลา 3 ปี ที่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กลับมามีความชัดเจนขึ้น หลังจากที่เป็นโครงการที่ต้องเจรจากันถึง 22 รอบ นับตั้งแต่มีการลงนามเอ็มโอยู ไทย - จีน เมื่อเดือนธันวาคม  2557 ไม่ว่าจะเป็น 1) รูปแบบ จากที่เคยถูกกำหนดให้เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง ก่อนจะมาเป็น “ไฮสปีดเทรน” อีกครั้ง 2) เส้นทาง จากเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด วงเงิน 5.3 แสนล้านบาท ในปี 2557 มาเหลือเพียงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252 ก.ม.วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท 3) การลงทุน จากเดิมที่เป็นการลงทุนร่วมระหว่างไทยกับจีน ในสัดส่วนต่างๆ เช่น 40:60, 50:50, 60:40 สุดท้ายเป็นไทยลงทุนทั้งหมด 100% ส่วนจีนเป็นผู้ออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง และผู้วางระบบเทคโนโลยีขบวนรถให้กับไทย 4) ที่มาของแหล่งเงินทุน ว่าจะมาจากไหน แต่ภาพรวมคือใช้เงินกู้ในประเทศ

แบบการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมาตามรายงานของกระทรวงคมนาคม มี 4 ส่วน คือ ตอนที่ 1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ตอนที่ 2 จากปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กม. ตอนที่ 3 แก่งคอย-โคราช ระยะทาง 138.5 กม. และตอนที่ 4 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. ซึ่งเส้นทางดังกล่าวจะประกอบด้วย 6 สถานี ประกอบด้วยบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี ปากช่องและนครราชสีมา มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย ระยะแรกจะมีทั้งหมด 6 ขบวน วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถบรรจุคนได้ 600 คนต่อขบวนหรือ 5,300 คนต่อวัน การเดินทางช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา  ใช้ระยะเวลา 1 ชั่วโมง 17 นาที สำหรับค่าโดยสารเบื้องต้นกำหนดไว้ที่อัตรา 80 บาท + 1.8 บาทต่อกิโลเมตร เช่น กรุงเทพฯ – สระบุรี 278 บาท, กรุงเทพฯ – ปากช่อง 393 บาท, กรุงเทพฯ – นครราชสีมา 535 บาท เป็นต้น

โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมาถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟขนาดทางมาตรฐานช่วงกรุงเทพ-หนองคายที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนและจีนที่ปัจจุบันมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและมีมูลค่าการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวกับไทยสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ในระดับจังหวัด จะเป็นการเชื่อมโยงโอกาสการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯและปริมณฑลที่มีมูลค่าเกือบร้อยละ 50 ของ GDP ไปสู่จังหวัดในโครงข่ายในการพัฒนา ได้แก่ อยุธยา สระบุรี นครราชสีมาสำหรับการพัฒนาโครงข่ายในระยะแรก และนำไปสู่เขตจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย กลุ่มจังหวัดใกล้เคียงในระยะที่ 2 การที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นเมืองหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งเป็นแหล่งรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและแหล่งจ้างงานที่สำคัญของภาค จึงมีโครงการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น มอเตอร์เวย์ช่วงบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา 196 กม.รวมไปถึงแผนการก่อสร้างรถรางไฟฟ้าในเขตเมืองโคราช ทำให้ราคาที่ดินในจังหวัดนครราชสีมาบริเวณสถานีปากช่อง ถนนมิตรภาพก่อนขึ้นเขาใหญ่ในขณะนี้ปรับตัวขึ้นมาก

ประเมินว่า นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีความได้เปรียบด้านขนาด พื้นที่และจำนวนประชากร มีเขตประกอบการอุตสาหกรรมที่จะสามารถรองรับนักลงทุนได้อย่างเพียงพอและมีพื้นฐานอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมก่อสร้างที่สามารถจะพัฒนาและก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรม SMEs ที่พร้อมจะพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน สาขาอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อุตสาหกรรมโลหะ และวิศวกร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จึงคาดว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะมีส่วนช่วยปลุกเมืองโคราชให้คึกคักมากขึ้น